backup og meta

วัยรุ่นแบ่งออกเป็นกี่ช่วง การเติบโตและพัฒนาการของวัยรุ่นที่ควรรู้

วัยรุ่นแบ่งออกเป็นกี่ช่วง การเติบโตและพัฒนาการของวัยรุ่นที่ควรรู้

วัยรุ่นเป็นช่วงเวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์และสังคม การทำความเข้าใจว่า วัยรุ่นแบ่งออกเป็นกี่ช่วง และวัยรุ่นในแต่ละช่วงวัยมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการอย่างไรบ้าง อาจช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลลูกวัยรุ่นได้อย่างเหมาะสม ซึ่งอาจช่วยให้ลูกเจริญเติบโตได้สมวัย มีสุขภาพกายใจและความเป็นอยู่ที่ดี

[embed-health-tool-vaccination-tool]

วัยรุ่น คืออะไร

วัยรุ่น คือ คนที่อยู่ในช่วงอายุ 10-21 ปี ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากเด็กไปเป็นผู้ใหญ่ คนวัยนี้มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญา และจิตใจ ส่วนใหญ่มักเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง สามารถมองสิ่งต่าง ๆ ได้ลึกซึ้งมากขึ้น เริ่มสนใจรูปลักษณ์ของตัวเองและพยายามมองหาอัตลักษณ์หรือลักษณะเฉพาะตัว มีอารมณ์เปลี่ยนแปลงได้ง่าย รู้สึกอยากมีอิสระจากครอบครัว เริ่มมีความสนใจเรื่องเพศมากขึ้น และมักต้องการการยอมรับจากกลุ่มเพื่อนและสังคมที่ตัวเองอยู่ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากอิทธิพลของฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไป

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่บางประการขณะเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นอาจทำให้ลูกรู้สึกสับสนและรับมือไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรให้เวลาในการปรับตัวและเข้าใจธรรมชาติการเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่น พร้อมทั้งมอบความรักและความเข้าใจให้กับลูกอยู่เสมอ เพื่อช่วยให้ลูกสามารถเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและผ่านพ้นวัยที่สับสนนี้ไปได้ด้วยดี

วัยรุ่นแบ่งออกเป็นกี่ช่วง

วัยรุ่น สามารถแบ่งได้เป็น 3 ช่วง ได้แก่ วัยรุ่นตอนต้น วัยรุ่นตอนกลาง และวัยรุ่นตอนปลาย

  • วัยรุ่นตอนต้น อายุ 10-13 ปี

ในช่วงนี้ วัยรุ่นจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว อาจเริ่มสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายได้อย่างชัดเจน เช่น สูงขึ้นแบบก้าวกระโดด เริ่มมีขนขึ้นตามแขน ขา และบริเวณอวัยวะเพศ ผู้หญิงอาจเริ่มมีหน้าอก ผู้ชายอาจเริ่มเสียงแตกหนุ่ม มีสิว

วัยรุ่นตอนต้นจึงจะเริ่มรู้สึกอ่อนไหวและกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง อาจรู้สึกไม่มั่นใจและมักเปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อนที่อยู่ในวัยเดียวกัน หากวัยรุ่นบางคนเติบโตได้เร็วหรือช้ากว่าเพื่อนคนอื่น ๆ เช่น เด็กผู้ชายบางคนสูงช้ากว่าเพื่อนคนอื่น ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากความเร็วในการเจริญเติบโตของแต่ละคนแตกต่างกัน

วัยรุ่นตอนต้นเริ่มมีความคิดความอ่านที่เป็นรูปธรรม มองสิ่งต่าง ๆ แบบขาวและดำ ไม่มีตรงกลาง และยังให้ความสำคัญกับตัวเองเป็นหลัก มักยึดติดอยู่กับความคิดของตัวเอง ทำให้บางครั้งหากมีความคิดเห็นไม่ตรงกับผู้อื่น อาจต่อต้านและแสดงออกอย่างก้าวร้าว นอกจากนี้ วัยรุ่นตอนต้นจะเริ่มต้องการความเป็นส่วนตัวมากขึ้นและอาจเริ่มถอยห่างจากครอบครัว จึงเป็นสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรเคารพความเป็นส่วนตัวและให้ระยะห่างที่เหมาะสมกับลูก

  • วัยรุ่นตอนกลาง อายุ 14-17 ปี

การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายในช่วงวัยรุ่นตอนต้นยังดำเนินต่อไปในช่วงวัยรุ่นตอนกลาง ระดับฮอร์โมนที่เพิ่มสูงขึ้นอาจทำให้วัยรุ่นบางคนมีสิว วัยรุ่นชายตอนกลางส่วนใหญ่จะมีการเจริญเติบโตที่ก้าวกระโดด เสียงค่อย ๆ ทุ้มต่ำลง และสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนวัยรุ่นหญิงตอนกลางจะมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพเกือบสมบูรณ์ ส่วนใหญ่จะมีประจำเดือนแล้ว

แม้สมองและความคิดจะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่วัยรุ่นตอนกลางก็ยังมีวิธีคิดที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ เนื่องจากสมองกลีบหน้าที่ทำหน้าที่ควบคุมการตัดสินใจที่ซับซ้อนและควบคุมอารมณ์ยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ส่วนใหญ่จะพัฒนาจนสมบูรณ์เมื่ออายุ 20 ปีขึ้นไป วัยรุ่นตอนกลางจึงอาจมองภาพรวมได้แล้ว แต่ยังไม่เข้าใจมากนัก มักใช้อารมณ์เป็นที่ตั้งและอาจยังตัดสินใจผิดพลาดอยู่ เนื่องจากยังคิดอะไรได้ไม่ถี่ถ้วนและยังตัดสินใจได้ไม่ดีพอ

วัยรุ่นตอนกลางอาจเริ่มสนใจเรื่องความรัก เริ่มมีความต้องการทางเพศและอาจเริ่มช่วยตัวเอง รู้จักตั้งคำถามและสำรวจอัตลักษณ์ของตัวเอง และมักสนใจว่าเพื่อนจะคิดยังไงกับตัวเอง ทั้งยังอาจเริ่มมีปากเสียงกับคนในครอบครัว เนื่องจากต้องการเป็นอิสระมากขึ้น และเริ่มใช้เวลากับเพื่อนมากกว่าครอบครัว

  • วัยรุ่นตอนปลาย อายุ 18-21 ปี

วัยรุ่นตอนปลายจะมีพัฒนาการทางกายภาพที่สมบูรณ์และเป็นช่วงที่ร่างกายเจริญเติบโตได้สูงสุดแล้ว ส่วนใหญ่จะสามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้มากขึ้น ตัดสินใจได้รอบคอบและถี่ถ้วนขึ้น มีความคิดเป็นของตัวเอง รู้ถึงคุณค่าและศักยภาพของตัวเองเป็นอย่างดี หลายคนเริ่มให้ความสำคัญกับอนาคตของตัวเอง มีความมั่นคงในเรื่องของความสัมพันธ์และมิตรภาพมากขึ้น บางคนอาจแยกตัวเองออกมาจากครอบครัวแล้วและพึ่งพิงครอบครัวน้อยลงทั้งทางกายภาพและทางจิตใจ วัยรุ่นตอนปลายเริ่มมองว่าตัวเองเท่าเทียมกับสมาชิกผู้ใหญ่คนอื่น ๆ ในครอบครัว ไม่ได้เป็นเด็กที่ต้องอยู่ในความดูแลของผู้ใหญ่เช่นที่ผ่านมา

การเจริญเติบโตและพัฒนาการของวัยรุ่น

การเจริญเติบโตและพัฒนาการของวัยรุ่นในแต่ละช่วง อาจแบ่งได้ดังนี้

พัฒนาการด้านร่างกาย

วัยรุ่นตอนต้น

  • เริ่มมีขนขึ้นตามร่างกาย แขน ขา ใต้วงแขน และอวัยวะเพศ
  • เริ่มมีสิวและกลิ่นตัว ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
  • ผู้หญิงมีเสียงแหลมเล็กลง หน้าอกขยายตัว สะโพกผายออก เอวคอดขึ้น และเริ่มมีประจำเดือน
  • ผู้ชายจะเริ่มเสียงแตกและค่อย ๆ ทุ้มลง มีหนวดขึ้นบนใบหน้า และอวัยวะเพศขยายใหญ่ขึ้น

วัยรุ่นตอนกลาง

  • ผู้หญิงส่วนใหญ่จะมีประจำเดือนแล้ว และเริ่มหยุดสูง
  • ผู้ชายส่วนใหญ่จะมีอวัยวะเพศที่มีขนาดและรูปร่างสมบูรณ์ตอนอายุประมาณ 17-18 ปี ส่วนสูงจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และหยุดสูงช้ากว่าผู้หญิงเมื่ออายุประมาณ 18 ปี

วัยรุ่นตอนปลาย

  • ร่างกายเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ ส่วนสูงมักไม่เพิ่มขึ้นแล้ว
  • อยู่ในวัยที่สามารถสืบพันธุ์ได้อย่างสมบูรณ์ (Sexual maturity)

พัฒนาการด้านอารมณ์และสังคม

วัยรุ่นตอนต้น

  • กังวลเกี่ยวกับรูปร่างหน้าตาและการแต่งตัวของตัวเองมากขึ้น
  • ให้ความสนใจกับตัวเองเป็นหลัก
  • อารมณ์แปรปรวนสูง หงุดหงิดง่าย
  • สนใจความเห็นของเพื่อนในวัยเดียวกัน
  • แสดงความรักต่อพ่อแม่น้อยลง อาจใช้อารมณ์หรือแสดงท่าทีรุนแรงกับที่บ้านมากขึ้น
  • มักเครียดเรื่องภาระที่ต้องความรับผิดชอบที่โรงเรียน

วัยรุ่นตอนกลาง

  • สนใจเรื่องเพศและความสัมพันธ์มากขึ้น
  • ขัดแย้งกับที่บ้านน้อยลง
  • แสดงออกว่าต้องการความเป็นส่วนตัวและเป็นอิสระจากที่บ้านมากขึ้น
  • รู้จักแสดงความใส่ใจและแบ่งปันมากขึ้น และสามารถพัฒนาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับคนรอบข้างได้ดีขึ้น
  • ใช้เวลากับพ่อแม่น้อยลง และใช้เวลากับเพื่อนมากขึ้น

วัยรุ่นตอนปลาย

  • แสดงความเห็นของตัวเองได้โดยที่ไม่ไหลตามความเห็นของคนอื่น
  • สามารถจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้ในลักษณะที่เหมาะสมขึ้น ก้าวร้าวน้อยลง
  • สามารถรับผิดชอบหน้าที่แบบผู้ใหญ่ได้แล้ว
  • ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์และมิตรภาพ
  • พูดคุยกับคนที่อายุมากกว่าได้สะดวกใจมากขึ้น
  • สนใจกับความเปลี่ยนแปลงของร่างกายตัวเองน้อยลง
  • ดูแลสุขอนามัยและดูแลตัวเองได้ดีขึ้น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Stages of Adolescence. https://www.healthychildren.org/English/ages-stages/teen/Pages/Stages-of-Adolescence.aspx. Accessed August 24, 2022

Adolescent health. https://www.who.int/health-topics/adolescent-health#tab=tab_1. Accessed August 24, 2022

Adolescent development. https://medlineplus.gov/ency/article/002003.htm. Accessed August 24, 2022

Young Teens (12-14 years of age). http://cdc.gov/ncbddd/childdevelopment/positiveparenting/adolescence.html. Accessed August 24, 2022

Teenagers (15-17 years of age). https://www.cdc.gov/ncbddd/childdevelopment/positiveparenting/adolescence2.html. Accessed August 24, 2022

Parenting children through puberty and adolescence. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/healthyliving/Parenting-children-through-puberty. Accessed August 24, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

19/06/2024

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

วัยรุ่น กับพัฒนาการทางจิตใจที่ควรให้ความสำคัญ

6 ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของวัยรุ่น


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 19/06/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา