ลูกท้องผูก เป็นปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่รู้สึกกังวลใจ เพราะบางครั้งไม่สามารถช่วยเหลือลูกน้อยได้ โดยส่วนใหญ่เด็กที่มีอาการท้องผูกมักขับถ่ายได้น้อยหรือมีอุจจาระแข็งและแห้ง โดยขับถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ และมีอาการปวดขณะขับถ่าย แต่อาจมีอาการอื่นที่คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตด้วยเช่นกัน
คำจำกัดความ
ลูกท้องผูก คืออะไร
ลูกท้องผูก (Constipation in children) เป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไป เด็กที่มีอาการท้องผูกมักขับถ่ายได้น้อยหรือมีอุจจาระแข็งและแห้ง
ลูกท้องผูก พบบ่อยเพียงใด
ท้องผูกพบได้ทั่วไปในเด็ก โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
อาการ
อาการลูกท้องผูก เป็นอย่างไร
อาการทั่วไป ได้แก่
- ขับถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์
- อุจจาระแข็ง แห้ง และถ่ายยาก
- อุจจาระมีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดใหญ่มาก
- มีอาการปวดขณะขับถ่าย
- ปวดท้อง
- มีร่องรอยอุจจาระเหลวหรือคล้ายดินเหนียว ในกางเกงชั้นในของเด็ก ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ว่า อุจจาระไหลย้อนกลับเข้าไปในทวารหนัก
- อุจจาระแข็งและมีรอยเลือดปน
อาจมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการบางประการที่ไม่ได้กล่าวถึงข้างต้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการ โปรดปรึกษาแพทย์
ควรไปพบหมอเมื่อใด
ควรปรึกษาแพทย์หากมีอาการท้องผูกมากกว่า 2 สัปดาห์ หรือเกิดขึ้นร่วมกับอาการดังต่อไปนี้
- อาการไข้
- อาเจียน
- เลือดปนในอุจจาระ
- ท้องบวม
- น้ำหนักลด
- มีบาดแผลบริเวณผิวหนังโดยรอบทวารหนัก
- ลำไส้ยื่นออกมาจากทวารหนัก
สาเหตุ
สาเหตุลูกท้องผูก
สาเหตุที่ลูกท้องผูกที่พบได้มากที่สุด คือ การที่อุจจาระเคลื่อนที่ผ่านทางทางเดินอาหารช้ากว่าปกติ ทำให้อุจจาระแข็งและแห้ง และยังมีปัจจัยอีกหลายประการที่ทำให้ลูกท้องผูก ซึ่งได้แก่
- การกลั้นอุจจาระ เด็กอาจไม่ยอมถ่ายอุจจาระเนื่องจากกลัวโถส้วมหรืออยากเล่นต่อ เด็กบางคนมักกลั้นอุจจาระเมื่ออยู่นอกบ้านเนื่องจากไม่สะดวกที่จะเข้าห้องน้ำสาธารณะ การขับถ่ายอุจจาระขนาดใหญ่และแข็งทำให้เด็กรู้สึกเจ็บ และยังอาจมักกลั้นอุจจาระไว้ เมื่อรู้สึกเจ็บเวลาขับถ่าย เด็กก็จะพยายามกลั้นอุจจาระไว้ เพราะไม่อยากเจ็บซ้ำอีก
- การฝึกการเข้าห้องน้ำ หากเด็กเพิ่งเริ่มฝึกการเข้าห้องน้ำ อาจจะยังขัดขืนและกลั้นอุจจาระไว้ หากเด็กรู้สึกว่าถูกบังคับให้เข้าห้องน้ำจะสร้างนิสัยการขับถ่ายที่ไม่ดีและจะเปลี่ยนแปลงได้ยาก
- การเปลี่ยนแปลงอาหารที่รับประทาน หากเด็กไม่รับประทานผักและผลไม้ที่มีกากใยและดื่มน้ำอย่างเพียงพอ ก็ทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ นอกจากนี้ การที่เด็กในวัยหนึ่งเปลี่ยนจากการกินอาหารเหลวทั้งหมดมาเป็นอาหารแข็ง ก็มีส่วนทำให้เกิดอาการท้องผูกได้เช่นกัน
- การเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวัน การเปลี่ยนแปลงใดๆ เกี่ยวกับกิจวัตรประจำวันของเด็ก เช่น การเดินทาง อากาศร้อน หรือความเครียด สามารถส่งผลต่อการขับถ่าย นอกจากนี้ เด็กยังอาจจะมีอาการท้องผูกเมื่อเริ่มไปโรงเรียน
- การใช้ยา ยาต้านอาการซึมเศร้าบางชนิดและยาอื่นๆ จำนวนมากสามารถทำให้เกิดอาการท้องผูกได้
- การแพ้นมวัว การแพ้นมวัวหรือการบริโภคผลิตภัณฑ์จากนม ในปริมาณมากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการท้องผูกได้
- ประวัติครอบครัว เด็กที่มีสมาชิกในครอบครัวมีอาการท้องผูกบ่อย มักมีโอกาสเกิดอาการท้องผูกได้มากขึ้น โดยอาจเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมหรือสิ่งแวดล้อม
- โรคประจำตัว อาการท้องผูกในเด็กบางคนบ่งชี้ถึงอวัยวะผิดรูป ความผิดปกติเกี่ยวกับระบบเผาผลาญ หรือระบบย่อยอาหาร หรือโรคประจำตัวอื่นๆ ซึ่งเป็นกรณีที่พบได้น้อย
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยง ลูกท้องผูก
ลูกท้องผูก มักเกิดขึ้นกับเด็กที่
- ไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวร่างกาย
- ไม่รับประทานกากใยอาหารอย่างเพียงพอ
- ดื่มน้ำไม่เพียงพอ
- ใช้ยาบางชนิด ซึ่งรวมทั้งยาต้านอาการซึมเศร้าบางชนิด
- มีโรคประจำตัวที่ส่งผลต่อทวารหนักหรือไส้ตรง
- มีประวัติครอบครัวมีอาการท้องผูก
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลที่นำเสนอในที่นี้ ไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ ให้ปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยอาการลูกท้องผูก
การวินิจฉัยอาการลูกท้องผูก มีวิธีการดังนี้
- ซักประวัติสุขภาพโดยละเอียด โดยแพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยในอดีตของเด็ก นอกจากนี้ แพทย์ยังจะสอบถามผู้ปกครองเกี่ยวกับอาหารและรูปแบบกิจกรรมทางร่างกายของเด็กด้วย
- ตรวจร่างกาย การตรวจร่างกายของลูกของคุณจำทำโดยการสอดนิ้วมือที่สวมถุงมือเข้าไปยังทวารหนักเพื่อตรวจหาความผิดปกติต่างๆ หรือตรวจอุจจาระที่อัดแน่นอยู่ อาจมีการตรวจอุจจาระที่พบในไส้ตรงเพื่อหาเลือดปนด้วย
การทดสอบที่ละเอียดมากขึ้นมักใช้ในกรณีที่มีอาการท้องผูกรุนแรงมากเท่านั้น หากจำเป็น การทดสอบเหล่านี้อาจได้แก่
- การเอ็กซเรย์ช่องท้อง ทำให้แพทย์เห็นว่ามีการอุดกั้นใดๆ ในช่องท้องของเด็กหรือไม่
- การตรวจวัดการทำงานของลำไส้ใหญ่และหูรูดทวารหนัก หรือการตรวจการเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่ ในการตรวจนี้ แพทย์จะใส่สายสวนขนาดเล็กเข้าไปในลำไส้ตรงเพื่อตรวจวัดการทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อหูรูดที่ใช้ในการขับถ่าย
- การสวนแป้งแบเรียม ในการตรวจนี้ จะมีการเคลือบเยื่อบุลำไส้ด้วยสีตรงข้ามกันเพื่อให้มองเห็นภาพของลำไส้ตรง ลำไส้ และบางส่วนของลำไส้เล็กได้อย่างชัดเจนในฟิล์มเอกซเรย์
- การตรวจตัวอย่างเนื้อเยื่อลำไส้ตรง ในการตรวจนี้ จะมีการนำตัวอย่างเนื้อเยื่อจำนวนเล็กน้อยจากเยื่อบุลำไส้ตรงมาตรวจเพื่อดูว่าเซลล์ประสาทปกติดีหรือไม่
- การศึกษาจากการเปลี่ยนแปลงหรือการศึกษาจากสารบ่งชี้ ในการตรวจนี้ จะให้เด็กกลืนแคปซูลที่มีสารบ่งชี้ซึ่งจะปรากฏให้เห็นบนฟิล์มเอ็กซเรย์ โดยแพทย์จะวิเคราะห์ว่าการเคลื่อนที่ของสารบ่งชี้ผ่านระบบทางเดินอาหารมีความผิดปกติหรือไม่อย่างไร
- การตรวจเลือด ในบางครั้ง อาจมีการตรวจเลือด เช่น การตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์
การรักษาอาการลูกท้องผูก
การรักษาขึ้นอยู่กับสถานการณ์นั้นๆ โดยแพทย์อาจแนะนำการรักษาดังต่อไปนี้
- การให้อาหารเสริมกากใยอาหาร หรือยาทำให้อุจจาระอ่อนนุ่ม หากการรับประทานอาหารปกติไม่ได้รับกากใยอาหารที่เพียงพอ อาหารเสริมกากใยอาหารที่มีวางจำหน่ายโดยทั่วไป เช่น เมทามูซิล (Metamucil) หรือไซทรูเซล (Citrucel) อาจช่วยได้ อย่างไรก็ตาม เด็กจำเป็นต้องดื่มน้ำอย่างน้อย 1 ลิตร ในแต่ละวันเพื่อให้อาหารเสริมดังกล่าวออกฤทธิ์ได้ดี ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับปริมาณอาหารเสริมที่เหมาะสมสำหรับอายุและน้ำหนักของเด็กด้วย
- ยาเหน็บทวารกลีเซอริน สามารถใช้เพื่อทำให้อุจจาระอ่อนนนุ่ม หากเด็กไม่สามารถกลืนยาเม็ดได้ โดยควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีที่เหมาะสมในการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
- ยาถ่ายหรือยาระบาย หากมีการสะสมของสิ่งหมักหมมทำให้เกิดการอุดตัน แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาถ่ายหรือยาระบายเพื่อช่วยกำจัดการอุดตัน ได้แก่ ยาโพลีเอทิลีนไกลคอล (polyethylene glycol) และน้ำมันแร่ชนิดต่างๆ
- ห้ามให้ยาถ่ายหรือยาระบาย โดยไม่ได้รับการยินยอมและคำแนะนำเกี่ยวกับขนาดการใช้ที่เหมาะสมจากแพทย์
- การใช้ยาระบายที่โรงพยาบาล ในบางครั้ง เด็กอาจมีอาการท้องผูกรุนแรงมาก จนจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อรับยาระบายที่ออกฤทธิ์แรงขึ้น ซึ่งจะช่วยกำจัดสิ่งตกค้างในลำไส้ได้ เรียกว่าการกำจัดอุจจาระ
การใช้การรักษาแบบทางเลือก
นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงอาหารและกิจวัตรประจำวันแล้ว ยังมีทางเลือกอื่นๆ ที่อาจช่วยบรรเทาอาการท้องผูกในเด็ก ได้แก่
- การนวดเบาๆ ที่ท้องเด็กจะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อต่างๆ ที่พยุงกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการขับถ่ายได้
- วิธีการรักษาทางการแพทย์แผนจีนดั้งเดิม โดยการสอดเข็มขนาดที่เหมาะสมเข้าไปในส่วนต่างๆ ของร่างกาย วิธีการรักษานี้อาจช่วยได้หากเด็กมีอาการปวดท้องที่เกิดจากอาการท้องผูก
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาเพื่อรับมือลูกท้องผูก
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการปฏิบัติตนขั้นพื้นฐานดังต่อไปนี้ อาจช่วยให้สามารถจัดการเมื่อลูกท้องได้
- อาหารที่มีกากใยสูง อาหารที่มีกากใยสูงสามารถช่วยให้ร่างกายของเด็กมีอุจจาระที่อ่อนนุ่มและเป็นก้อน การบริโภคกากใยอาหารที่แนะนำคือ 14 กรัมสำหรับทุกๆ 1,000 แคลอรี่ ในอาหารของเด็ก สำหรับเด็กเล็กนั้น หมายความว่าให้บริโภคกากใยอาหารประมาณ 20 กรัมต่อวัน สำหรับวัยรุ่นหญิงและผู้หญิงวัยสาว ให้บริโภคกากใยอาหาร 29 กรัมต่อวัน และสำหรับวัยรุ่นชายและผู้ชายวัยหนุ่ม ให้บริโภคกากใยอาหาร 38 กรัมต่อวัน ให้ลูกน้อยรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ถั่ว ธัญพืชเต็มเมล็ด ผัก และผลไม้ แต่ให้เริ่มอย่างช้าๆ โดยการเพิ่มกากใยอาหารจำนวนเพียงหลายกรัมต่อวันเป็นเวลาหลายสัปดาห์เพื่อลดปริมาณก๊าซและอาการท้องอืดที่สามารถเกิดขึ้นในผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับการบริโภคอาหารที่มีกากใยสูง
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ น้ำและของเหลวอื่นๆ จะช่วยให้อุจจาระอ่อนนุ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี ให้ระมัดระวังการให้นมปริมาณมากเกินไปแก่เด็กสำหรับเด็กบางรายนั้น การดื่มนมมากเกินไปทำให้เกิดอาการท้องผูก
- ใช้เวลาที่เหมาะสมเพื่อกระตุ้นการขับถ่าย กระตุ้นให้เด็กนั่งบนโถส้วมเป็นเวลา 5 ถึง 10 นาที ภายในเวลา 30 นาทีหลังอาหารในแต่ละมื้อ ควรให้ปฏิบัติเป็นกิจวัตรทุกวันแม้ระหว่างวันหยุดและวันหยุดพักผ่อน
- ให้ความช่วยเหลือ สร้างแรงจูงใจแก่เด็กในการฝึกขับถ่าย โดยอาจให้รางวัลเล็กๆ น้อยๆ แก่เด็กหลังจากที่ขับถ่ายเรียบร้อยแล้ว หรือระหว่างขับถ่าย เช่น สติกเกอร์ หนังสือ หรือเกม ที่ให้หลังจาก และไม่ควรลงโทษหรือตำหนิหากเด็กทำกางเกงชั้นในเลอะเทอะ
หากมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้นถึงวิธีการรักษาที่ดีที่สุด
[embed-health-tool-vaccination-tool]