backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

ฟันซี่แรก ของลูก และข้อควรรู้สำหรับคุณพ่อคุณแม่

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 08/03/2023

ฟันซี่แรก ของลูก และข้อควรรู้สำหรับคุณพ่อคุณแม่

ฟันซี่แรก ถือเป็นพัฒนาการทางกายที่สำคัญอย่างหนึ่งของเด็กทุกคน อย่างไรก็ตาม ฟันซี่แรก อาจทำให้เด็กรู้สึกไม่สบาย มีปัญหาสุขภาพ หรือมีพฤติกรรมแปลกไปจนคุณพ่อคุณแม่สังเกตได้ เช่น เหงือกบวม ร้องไห้ งอแง ดังนั้น การทราบข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลฟันซี่แรก วิธีแปรงฟัน รวมถึงวิธีบรรเทาอาการที่อาจเกิดขึ้น อาจช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ดูแลและรับมือกับอาการที่เกิดขึ้นลูกน้อยได้

ฟันซี่แรก ขึ้นเมื่อใด

โดยทั่วไปแล้ว ฟันซี่แรกของเด็กจะขึ้นในช่วงอายุประมาณ 6 เดือน แต่เด็กอาจเริ่มมีฟันขึ้นในช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่างอายุ 6-13 เดือนก็ได้ อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรกังวลมากเกินไป หากลูกอายุครบ 6 เดือนแล้วแต่ฟันซี่แรกยังไม่ขึ้น

ฟันซี่แรกที่ขึ้นมักจะเป็นฟันด้านหน้า โดยฟันล่างมักจะขึ้นก่อน แต่สำหรับเด็กบางคน ฟัน 2 ซี่บนอาจขึ้นมาก่อนพร้อม ๆ กัน จากนั้นฟันซี่อื่นจึงค่อย ๆ ขึ้นตามกันมาเป็นลำดับ เด็ก ๆ จะมีฟันน้ำนมครบทุกซี่ ภายในอายุ 3 ขวบ โดยทั่วไปแล้ว ลำดับการขึ้นของฟันในช่วงอายุต่าง ๆ ได้แก่

  • 6-12 เดือน ฟันหน้า
  • 9-12 เดือน ฟันด้านข้าง (ที่ติดกับฟันหน้าตรงกลาง)
  • 16-22 เดือน เขี้ยว
  • 13-19 เดือน ฟันกรามซี่แรก
  • 25-33 เดือน ฟันกรามซี่ที่สอง

สัญญาณที่บอกว่าลูกฟันขึ้น

เด็กแต่ละคนอาจมีอาการที่เป็นสัญญาณฟันขึ้นแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม อาการหรือสัญญาณที่พบได้บ่อย อาจมีดังนี้

  • เหงือกบวม
  • หงุดหงิด งอแงมากกว่าปกติ โดยเฉพาะเวลากลางคืน
  • ร้องไห้บ่อย
  • ตัวร้อน แต่อุณหภูมิร่างกายไม่ถึง 38 องศาเซลเซียส
  • ดึงหู ถูคาง หรือแก้ม
  • ลูกจะแทะหรืออยากเคี้ยวอะไรแข็ง ๆ
  • น้ำลายไหลเยอะผิดปกติ
  • พฤติกรรมการกินและการนอนเปลี่ยนแปลงไป
เวลาฟันขึ้นอาจทำให้ลูกเจ็บ แต่ไม่ถึงขั้นทำให้ป่วย ดังนั้น หากลูกมีอาการท้องเสีย อาเจียน ผื่นขึ้นตามตัว หรือมีไข้สูง ให้รีบพาไปพบคุณหมอ เพราะอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพอื่น ๆ

วิธีบรรเทาอาการปวดจาก ฟันซี่แรก

วิธีต่อไปนี้อาจช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อฟันขึ้นได้

  • ให้กัดแทะของเย็น ๆ

  • ความเย็นจะช่วยให้เด็กรู้สึกดีขึ้นหรือช่วยบรรเทาอาการปวดได้ โดยอาจลองใช้ผ้าสะอาด ชุบน้ำหมาด ๆ ใส่ในถุงพลาสติก แล้วนำไปแช่เย็น แต่ไม่ต้องเย็นจนแข็ง จากนั้นนำมาให้ลูกน้อยกัดแทะ หรืออาจให้เด็กกัดพลาสติกหรือยางกัดก็ได้ แต่ไม่ควรให้เด็กกัดแทะของที่เย็นจนเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองได้

    • นวดเหงือกเด็ก

    เริ่มจากคุณพ่อหรือคุณแม่ล้างมือให้สะอาด จากนั้นจุ่มนิ้วในน้ำเย็นเล็กน้อย แล้วนวดที่เหงือกของเด็ก ทั้งความเย็นและการนวดเบา ๆ อาจช่วยผ่อนคลายอาการปวดจากฟันขึ้นได้

    • ใช้ยาบรรเทาปวด

    การให้เด็กรับประทานยาแก้ปวด เช่น อะเซตามิโนเฟน ไอบูโพรเฟน ในปริมาณเล็กน้อยอาจช่วยบรรเทาอาการปวดเนื่องจากฟันซี่แรกขึ้นได้ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรใช้เจลหรือยาน้ำบรรเทาอาการปวดเวลาฟันขึ้นที่มีส่วนผสมของเบนโซเคน (Benzocaine) โดยเฉพาะในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงร้ายแรงได้ อย่างไรก็ตาม ก่อนให้ลูกใช้ยาควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง และควรใช้ยาตามคำแนะนำของคุณหมอและเภสัชกรอย่างเคร่งครัด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 08/03/2023

    ad iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    ad iconโฆษณา
    ad iconโฆษณา