backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

ทารกแรกเกิด พัฒนาการ และเคล็ดลับการดูแล

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

ทารกแรกเกิด พัฒนาการ และเคล็ดลับการดูแล

ทารกแรกเกิด หมายถึงทารกที่อยู่ในช่วงอายุ 0-3 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่สมองของเด็กจะทำงานเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า คุณพ่อคุณแม่จึงควรเอาใจใส่ในการดูแลและการเพิ่มทักษะให้เหมาะสมกับช่วงวัยของทารก ทั้งพัฒนาการทางกายภาพ การเรียนรู้ การจดจำ อารมณ์

ลักษณะทารกแรกเกิด 

หลังลืมตาดูโลกได้ไม่นาน ทารกแรกเกิดอาจมีลักษณะทางกายภาพบางอย่างที่เปลี่ยนไป และมักจะกลับมาเป็นปกติได้ภายในไม่กี่วัน ลักษณะของทารกแรกเกิด มีดังนี้

  • ดวงตา ระหว่างการคลอดบุตรอาจมีแรงกดทับที่เปลือกตาและ ใบหน้าได้จากกลไกการคลอด ทำให้ทารกแรกเกิดอาจมีอาการตาบวมหรือใบหน้าบวมได้ชั่วคราว บางรายเส้นเลือดฝอยที่ตาขาวอาจแตก บางครั้งดวงตาของทารกแรกเกิดอาจแยกออกจากกัน หรือที่เรียกว่าอาการตาเหล่ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติในทารกแรกเกิดและจะหายไปได้เองภายใน 3 เดือน หากเกินกว่านี้ดวงตาทารกยังไม่กลับมาเป็นปกติควรแจ้งให้คุณหมอทราบอย่างทันท่วงที
  • ศีรษะ การบีบตัวของช่องคลอดมารดาอาจส่งผลให้กระดูกศีรษะทารกเคลื่อน ส่งผลให้ศีรษะเป็นรูปทรงกรวยและยาวขึ้น โดยเฉพาะหากคุณแม่ใช้เวลาคลอดนาน ทารกแรกเกิดส่วนใหญ่มีกระหม่อมของศีรษะที่ยังไม่สมานตัวกัน ซึ่งอาจใช้ระยะเวลา 1 ปีเศษ กว่ากระหม่อมหน้าของทารกจะสมานตัว (ส่วนกระหม่อมหลัง อาจคลำได้ขนาดเล็กๆ และมักปิดเมื่ออายุได้ 3-6 เดือน) ถูกห่อหุ้มด้วยเนื้อเยื่อที่แข็งแรง การปรับท่านอนของทารกอาจสามารถช่วยทำให้ศีรษะของทารกมนและกลมขึ้นได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ สำหรับทารกที่คลอดโดยนำแขนขาออกก่อน หรือกลุ่มทารกที่ได้รับการผ่าตัดคลอด ศีรษะทารกอาจมีรูปทรงกลมตั้งแต่กำเนิด
  • ขาและขา แขนและขาของทารกอาจโค้งงอหรือบวมได้เนื่องจากความแคบของช่องมดลูกระหว่างการคลอด แต่กระดูกแขนและขานั้นอาจยืดได้เองเมื่อเติบโตขึ้น
  • ผิว บริเวณศีรษะและใบหน้าของทารกแรกเกิดอาจมีจุดสีขาวเล็ก ๆ หรือที่เรียกว่าสิวข้าวสาร เนื่องจากต่อมเหงื่อและต่อมไขมันยังพัฒนาไม่เต็มที่ ส่งผลให้เกิดการอุดตัน ส่วนใหญ่สิวข้าวสารมักขึ้นบนผิวหนังบริเวณจมูก คาง แก้ม ลำตัว แขน ขา ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอันตราย และอาจหายไปได้เองภายในไม่กี่สัปดาห์ ช่วง 2-3 สัปดาห์แรกหลังคลอดทารกอาจมีอาการผิวลอก ผิวแห้ง ผิวตกสะเก็ดร่วมด้วย บางรายอาจมีผิวเป็นไขพอกทับบนชั้นผิวปกติ หรืออาจมีหนังศีรษะเป็นไขได้ แนะนำปรึกษาคุณหมอในส่วนการดูแลผิวหนังของทารกแต่ละราย
  • สายสะดือ ทารกแรกเกิดได้รับการตัดสายสะดือหลังคลอด ทำให้มีสายสะดือสีเขียวอมเหลืองเป็นตอสั้น ๆ อยู่ที่หน้าท้อง และจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ระหว่างที่รอสายสะดือแห้งและหลุดออก ควรทำความสะอาดและเช็ดให้แห้ง หลีกเลี่ยงการถูด้วยแอลกอฮอล์ (หากทารกอายุเกิน 2-3 สัปดาห์ สายสะดือยังไม่แห้งหลุดไป ควรพาทารกไปพบคุณหมอ)
  • เต้านมและอวัยวะเพศ ทารกแรกเกิดอาจมีอาการเต้านมและอวัยวะเพศบวม เป็นเวลาหลายสัปดาห์ เนื่องจากในระหว่างที่ทารกอยู่ในครรภ์อาจรับฮอร์โมนของมารดาเข้าสู่ร่างกาย
  • ปาน คือรอยสีแดงหรือสีชมพูที่ขึ้นอยู่บนผิวหนังโดยเฉพาะบริเวณเปลือกตา ด้านหลังคอ หน้าผาก ซึ่งอาจใช้เวลา 2-3 เดือน จึงค่อย ๆ เริ่มจางลง (หากขนาดใหญ่มาก หรือสีคล้ำดำ ควรปรึกษาคุณหมอ)

พัฒนาการทารกแรกเกิด

คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตการเปลี่ยนแปลงด้านพัฒนาการ ทารกแรกเกิด ได้จากพฤติกรรมที่เด็กแสดงออก ดังนี้

  • การเคลื่อนไหว 

ทารกแรกเกิดช่วง 3 เดือนแรก มีกระดูกคอยังไม่แข็งแรงทำให้อาจมีอาการคอตกเป็นบางครั้ง คุณพ่อคุณแม่ควรประคองศีรษะและลำคอทารกทุกครั้งที่อุ้มขึ้นในแนวตั้ง แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปศีรษะทารกจะแข็งแรงขึ้นและเริ่มตั้งศีรษะเองได้ อีกทั้งทารกจะมีการเตะขา ยืดแขนไปมา โดยเฉพาะช่วงเวลาที่เห็นของเล่น เพื่อแสดงถึงความอยากได้ อยากเล่น และอยากสัมผัส

  • การสื่อสาร

ทารกแรกเกิดที่อายุยังไม่ถึง 1 เดือนอาจไม่แสดงอาการหรือส่งเสียงใด ๆ แต่เมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วง 2 เดือน ทารกแรกเกิดจะเริ่มเปล่งเสียงร้อง หรือเสียงสั้น ๆ เพื่อพูดคุย

  • การได้ยิน 
  • ทารกจะไวต่อเสียง และเริ่มตอบสนองต่อเสียงที่ได้ยินด้วยการส่งยิ้ม หรือหันมองไปตามเสียงที่ได้ยินภายใน 1-2 เดือน (หากอายุประมาณ 2-3 เดือนแล้ว ยังไม่ตอบสนองต่อเสียงต่างๆเลย แนะนำปรึกษาคุณหมอ)

    • การมองเห็น 
    • ทารกมักจ้องใบหน้าของคุณพ่อคุณแม่ในระหว่างให้นม เมื่อทารกอายุได้ 1 เดือน จะเริ่มโฟกัสหรือสนใจสิ่งของที่มีสีสันลวดลายสะดุดตา เช่น สีขาวตัดกับสีดำ เมื่อทารกอายุได้ 2 เดือน การมองเห็นจะพัฒนามากขึ้น และสามารถมองตามวัตถุไปมาได้ เช่น จ้องมองไฟที่อยู่ห่างออกไป มองตามคนที่เดินไปมาได้

      เคล็ดลับการดูแลทารกแรกเกิด

      วิธีดูแลทารกแรกเกิด ที่คุณพ่อคุณแม่ทำได้ มีดังนี้

      • ล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสกับเด็ก เนื่องจากทารกยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย
      • เปลี่ยนผ้าอ้อมให้ทารกเป็นประจำ หลังจากการขับถ่าย เพื่อป้องกันความอับชื้นและการเกิดผื่นผ้าอ้อมที่สร้างความระคายเคืองให้แก่ผิวทารก
      • อุ้มทารกอย่างระมัดระวัง โดยการประคองใต้ศีรษะทารก และไม่ควรเขย่าทารก เพราะแรงสั่นสะเทือนอาจทำให้เลือดออกในสมองและถึงขั้นเสียชีวิตได้
      • อาบน้ำให้ทารกแรกเกิด ด้วยน้ำอุ่นกับฟองน้ำจนกว่าสายสะดือจะหลุด และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนกับผิวเด็ก (อาบน้ำวันละ 1-2 ครั้ง)
      • ทำความสะอาดสายสะดือ ด้วยแอลกอฮอล์ 70% และเช็ดสายสะดือให้แห้ง ควรทำวันละ 2 ครั้ง
      • ทำให้อุ้มทารกเรอหลังจากกินนม เพื่อป้องกันท้องอืด ด้วยการอุ้มทารกพาดบ่าพร้อมประคองศีรษะ และตบหลังทารกเบา ๆ เพื่อไล่อากาศออกจากช่องท้อง
      • ใช้คาร์ซีตสำหรับทารก หากจำเป็นต้องพาทารกออกไปข้างนอกด้วยยานพาหนะ โปรดติดตั้งคาร์ซีตสำหรับทารก และล็อคให้แน่นป้องกันอันตรายระหว่างเดินทาง (คาร์ซีตแบ่งตามอายุทารก แนะนำปรึกษาคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญก่อนซื้อ)
      • ควรพูดสื่อสารกับทารกบ่อยครั้ง หรืออาจเปิดเพลงให้ทารกฟัง เพื่อกระตุ้นพัฒนาการด้านการจดจำเสียง และกระตุ้นพัฒนาการทางสมอง
      • อุ้มทารกหรือกอดทารก เพื่อให้ทารกรู้สึกว่าปลอดภัยและได้รับความอบอุ่นและความรักจากคุณพ่อคุณแม่
      • คุณแม่ควรให้ทารกกินนมทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง เนื่องจากทารกมีระบบย่อยอาหารที่เล็ก อาจทำให้ย่อยง่ายและหิวบ่อย โดยคุณแม่สังเกตได้จากอาการร้องไห้ ทำเสียงดูด หรือดูดนิ้วตัวเอง สำหรับทารกที่กินนมจากเต้านมของคุณแม่ควรให้ทารกกินอย่างน้อย 10-15 นาที หากเป็นนมผงควรให้ทารกกินเพียง 60-90 มิลลิมิตรในแต่ละครั้ง ทั้งนี้ ควรปรึกษาคุณหมอ เพราะทารกบางรายอาจต้องการปริมาณน้ำนมมากกว่านี้
      • ควรจัดที่นอนให้ทารกอย่างเหมาะสม โดยไม่ควรห่อทารกมิดชิด หรือห่มผ้าหนาให้ทารกจนเกินไป เพราะอาจส่งผลให้ทารกหายใจไม่สะดวกเสี่ยงต่อการเสียชีวิตกะทันหัน และอาจมีไข่ได้ ทั้งนี้ คำนึงถึงอุณหภูมิห้องเป็นส่วนประกอบด้วย อีกทั้งควรให้ทารกนอนพักผ่อนให้มาก ๆ ซึ่งปกติแล้วทารกต้องการพักผ่อนมากกว่า 16 ชั่วโมงต่อวัน 

      ปัญหาสุขภาพในเด็กทารกแรกเกิดที่ควรระวัง

      ปัญหาสุขภาพของทารกแรกเกิดส่วนใหญ่ คือ มีไข้ ไม่สบาย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมอุปกรณ์การวัดไข้ให้พร้อมเพื่อเช็กสุขภาพของทารก โดยสามารถวัดได้บริเวณรักแร้ ช่องปาก หน้าผาก และทวารหนัก หากทารกแรกเกิดมีไข้ขึ้นสูงกว่า 37.2-38 องศาเซลเซียส พร้อมกับมีอาการหายใจเร็ว หายใจมีเสียง อาเจียน มีเลือดออกจากสายสะดือ ร้องไห้บ่อยครั้ง ไม่รับประทานนม ไม่ปัสสาวะเกิน 8 ชั่วโมง ไม่ถ่ายอุจจาระเป็นเวลา 72 ชั่วโมงหรือมีอาการท้องเสีย ควรพาไปพบคุณหมอโดยเร็ว เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของเด็กทารกแรกเกิด

      หมายเหตุ

      Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



      ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

      แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ

      พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


      เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

      ad iconโฆษณา

      คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

      ad iconโฆษณา
      ad iconโฆษณา