backup og meta

เครื่องปั๊มนม เลือกอย่างไร ให้ได้ประสิทธิภาพและปลอดภัยที่สุด

เครื่องปั๊มนม เลือกอย่างไร ให้ได้ประสิทธิภาพและปลอดภัยที่สุด

เครื่องปั๊มนม เป็นตัวช่วยผ่อนแรงสำหรับคุณแม่ที่ต้องการให้ลูกน้อยดื่มนมแม่แต่อาจไม่มีเวลา เนื่องด้วยต้องไปทำงานนอกบ้าน มีน้ำนมน้อย รวมทั้งแม่ที่มีปัญหาลูกน้อยไม่ยอมดื่มนมจากเต้า เครื่องปั๊มนมจะช่วยให้คุณแม่ปั๊มนมเก็บไว้ล่วงหน้าได้ทั้งตอนที่อยู่บ้านหรืออยู่นอกบ้าน  ปัจจุบันนี้เครื่องปั๊มนมมีหลายประเภททั้งแบบปั๊มมือและแบบปั๊มด้วยระบบไฟฟ้า คุณแม่ควรศึกษาเกี่ยวกับเครื่องปั๊มนม เพื่อเลือกให้เหมาะสมกับลักษณะเต้า ความชอบ และความสะดวกในการใช้งาน

ประเภทของเครื่องปั๊มนม

เครื่องปั๊มนมนั้นมีให้เลือกหลากหลาย แต่หลักๆ แล้วเครื่องปั๊มนมมีอยู่ด้วยกัน 4 ประเภท ได้แก่

  1. เครื่องปั๊มนมแบบใช้มือ หรือเครื่องปั๊มนมแบบคันโยก ข้อดี คือ ไม่เปลืองไฟ คุณแม่สามารถพกพาไปใช้งานได้ทุกที่ แต่ข้อเสีย คือ อาจต้องใช้เวลาปั๊มนมนานกว่าเครื่องปั๊มนมประเภทอื่น และอาจรู้สึกเมื่อยมือ
  2. เครื่องปั๊มนมไฟฟ้าเดี่ยว หรือเครื่องปั๊มนมไฟฟ้าเต้าเดี่ยว เป็นเครื่องปั๊มนมแบบอัตโนมัติที่อาศัยพลังงานไฟฟ้าจากระบบไฟบ้าน หรือถ่านอัลคาไลน์ ใช้ปั๊มน้ำนมได้ทีละเต้า
  3. เครื่องปั๊มนมไฟฟ้าคู่ หรือเครื่องปั๊มนมไฟฟ้าเต้าคู่ เพียงแค่ใส่ถ่าน หรือเสียบปลั๊กก็สามารถทำงานได้เช่นเดียวกับเครื่องปั๊มนมไฟฟ้าเดี่ยว แต่ดีกว่าตรงที่สามารถ ปั๊มน้ำนม ได้พร้อมกันสองเต้า จึงประหยัดเวลากว่า
  4. เครื่องปั๊มนมสำหรับใช้ในโรงพยาบาล หรือเครื่องปั๊มนมเกรดโรงพยาบาล ตัวเครื่องจะมีขนาดใหญ่  มักใช้งานในหอเด็กอ่อนเพื่อกระตุ้นน้ำนมหลังคลอด หรืออาจใช้งานในหน่วยอภิบาลทารกแรกเกิดภาวะวิกฤต (Neonatal Intensive Care Unit หรือ NICU)

เทคนิคเลือกซื้อ เครื่องปั๊มนม

การเลือกซื้อเครื่องปั๊มนมสักเครื่องมาใช้งาน คุณแม่ควรดูตามลักษณะการใช้งาน และงบประมาณที่มี โดยอาจพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

  • หากคุณแม่ตัดสินใจลาคลอด หรือเลี้ยงลูกเองที่บ้านอยู่แล้ว และคิดว่าจะปั๊มน้ำนมแค่สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง แค่เครื่องปั๊มน้ำนมแบบใช้มือก็อาจเพียงพอแล้ว
  • เครื่องปั๊มนมแบบใช้มือต้องใช้เวลาปั๊มนมประมาณ 10-15 นาที หากคุณแม่ต้องทำงานนอกบ้าน อาจเลือกเป็นเครื่องปั๊มนมไฟฟ้า จะได้ประหยัดเวลา และหากเป็นเครื่องปั๊มนมไฟฟ้าคู่ ก็จะยิ่งร่นระยะเวลาในการปั๊มได้อีก
  • หากลูกน้อยคลอดก่อนกำหนด หรือต้องเข้ารับการดูแลพิเศษในหน่วยอภิบาลทารกแรกเกิดภาวะวิกฤต คุณแม่ก็อาจต้องใช้ เครื่องปั๊มนมของทางโรงพยาบาลไปก่อน แล้วค่อยไปเลือกซื้อเครื่องปั๊มนมใช้เองทีหลัง
  • เลือกเครื่องปั๊มให้เหมาะสมอย่างเดียวไม่พอ คุณแม่ควรเลือกขนาดของกรวยปั๊มนมให้เหมาะกับขนาดเต้านมและหัวนมด้วย

ใช้เครื่องปั๊มนมมือสอง หรือเครื่องปั๊มนมให้เช่าได้ไหม

เครื่องปั๊มนมหลายยี่ห้อ มีราคาค่อนข้างสูง ทำให้คุณแม่อาจลังเลที่จะซื้อเครื่องปั๊มนมใหม่ และคิดจะหาซื้อเครื่องปั๊มนมมือสองมาใช้ หรือใช้บริการเครื่องปั๊มนมให้เช่า แต่เครื่องปั๊มนมถือเป็นอุปกรณ์ส่วนตัวที่ต้องได้รับการดูแลรักษาและทำความสะอาดอย่างดี คุณแม่จึงไม่ควรใช้เครื่องปั๊มน้ำนมต่อจากคนอื่น แม้ว่าผู้ใช้ก่อนหน้าอาจเป็นญาติ พี่น้อง หรือเพื่อนสนิท เพราะผู้ใช้อาจไม่รู้ขั้นตอนในการทำความสะอาดเครื่องปั๊มน้ำนมอย่างถูกวิธี ไม่มีเวลาทำความสะอาดอย่างหมดจด หรือไม่รู้วิธีป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค ซึ่งอาจทำให้เครื่องปั๊มนมนั้นเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น ไวรัสตับอักเสบ หรือแม้แต่ไวรัสเอชไอวี เมื่อคุณแม่นำมาใช้ต่อ ก็อาจทำให้ทั้งคุณแม่และลูกน้อยที่คุณรักติดเชื้อโรคดังกล่าวได้

เครื่องปั๊มนมส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเครื่องปั๊มนมแบบปั๊มมือ และเครื่องปั๊มนมไฟฟ้า ทางผู้ผลิตมักจะระบุมาอยู่แล้วว่าให้ใช้เพียงคนเดียว หรือไม่ให้ใช้งานต่อจากผู้อื่น แต่อย่างไรก็ดี อาจมีบางหน่วยงาน เช่น โรงพยาบาล ที่มีเครื่องปั๊มนมไว้ให้คุณแม่เพิ่งคลอดที่ไม่ได้เตรียมเครื่องปั๊มนมมาเอง ได้ยืมใช้งานในระหว่างพักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาล ในกรณีนี้ คุณแม่ต้องปฏิบัติตามกฎการใช้งานที่ทางโรงพยาบาลระบุไว้อย่างเคร่งครัด แต่หลังจากนั้นแล้ว คุณแม่ควรซื้อเครื่องปั๊มนมใหม่ไว้ใช้ส่วนตัวเพื่อความปลอดภัยและสุขอนามัยที่ดี

เมื่อไหร่และใครที่ควรใช้เครื่องปั๊มนม

ใครบ้างที่ควรใช้ เครื่องปั๊มนม

เครื่องปั๊มนมนั้นเหมาะกับคุณแม่มือใหม่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นแม่ที่ตั้งใจจะให้ลูกดื่มนมแม่หรือนมผง เพราะเครื่องปั๊มนมนอกจากจะช่วยกระตุ้นน้ำนมแล้ว ยังช่วยปั๊มน้ำนมออกสำหรับคุณแม่ที่คัดเต้าอีกด้วย

  • คุณแม่ที่ทารกที่ดูดนมจากเต้าไม่เป็น หรือไม่ยอมดูดนมจากเต้า
  • คุณแม่ที่คลอดบุตรแล้วทารกแรกเกิดต้องแยกไปดูแลเป็นพิเศษ เช่น ทารกคลอดก่อนกำหนด
  • คุณแม่ที่ต้องทำงานประจำ หรือไม่ได้อยู่บ้านเลี้ยงลูกตลอด จึงไม่สามารถให้ลูกกินนมจากเต้าได้ ต้องให้ลูกดูดนมจากขวด
  • คุณแม่ที่น้ำนมน้อย ต้องการกระตุ้นน้ำนมด้วยเครื่องปั๊มน้ำนม

คุณแม่ควรใช้เครื่องปั๊มน้ำนมเมื่อไหร่ดี

คุณแม่อาจเริ่มใช้เครื่องปั๊มนมได้ตั้งแต่หลังคลอดลูกในทันที ตั้งแต่ช่วง 24-72 ชั่วโมงหลังคลอด โดยน้ำนมที่ผลิตออกมาจะเป็นน้ำนมเหลือง หรือที่เรียกว่า “หัวน้ำนม (Colostrum)” ซึ่งจะมีสีเหลืองและข้นกว่าน้ำนมปกติ ทำให้คุณแม่หลายคนอาจเกิดปัญหาปั๊มน้ำนมยาก หรือน้ำนมออกมาน้อยได้ แต่หลังจากนั้น น้ำนมมักจะออกมาเยอะขึ้น และปั๊มได้ง่ายขึ้น

วิธีทำความสะอาดเครื่องปั๊มน้ำนม

หากคุณแม่ทำความสะอาดเครื่องปั๊มนมไม่ดี ถึงแม้ว่าจะใช้คนเดียว ก็อาจเสี่ยงติดเชื้อโรคได้ คุณแม่ควรทำความสะอาดเครื่องปั๊มนมทุกครั้งหลังใช้งาน ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  • ล้างส่วนประกอบที่เลอะน้ำนมแม่ด้วยน้ำเย็นทันทีหลังใช้งานเสร็จ
  • แยกส่วนประกอบออกมาล้างด้วยน้ำอุ่นผสมน้ำยาล้างจาน
  • ล้างทำความสะอาดอีกครั้งด้วยน้ำอุ่น โดยเปิดให้น้ำไหลผ่าน 10-15 วินาที
  • ผึ่งให้แห้งบนกระดาษทิชชู่แผ่นหนา หรือชั้นวางจานที่แห้งสนิท

คุณแม่ควรล้างส่วนประกอบต่าง ๆ ของเครื่องปั๊มนมให้สะอาด แล้วต้มฆ่าเชื้อด้วย สำหรับตัวเครื่องปั๊มนม อาจใช้แอลกอฮอล์ 70-90% เช็ดทำความสะอาดบ้าง และหากสายปั๊มนมเปลี่ยนไป เช่น มีสีขุ่น หัก หรือมีลักษณะคล้ายขึ้นรา ให้ทิ้งแล้วเปลี่ยนเส้นใหม่ทันที

[embed-health-tool-vaccination-tool]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Choosing a Breast Pump. https://breastfeedingusa.org/content/article/choosing-breast-pump. Accessed November 9, 2021.

What to Know When Buying or Using a Breast Pump. https://www.fda.gov/ForConsumers/ConsumerUpdates/ucm335261.htm. Accessed November 9, 2021.

Best Breast Pumps for Breastfeeding Moms. https://www.whattoexpect.com/first-year/week-8/picking-a-pump.aspx. Accessed November 9, 2021.

Breast-feeding: Choosing a breast pump. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/infant-and-toddler-health/in-depth/breast-feeding/art-20046850. Accessed November 9, 2021.

Best breast pumps. https://www.babycenter.com/0_how-to-buy-a-breast-pump_429.bc. Accessed November 9, 2021.

เวอร์ชันปัจจุบัน

14/07/2023

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

สารพิษในนมแม่ มาจากไหน ส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพลูกน้อย

ดูแลทารก บนเครื่องบินอย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 14/07/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา