พ่อแม่บางคนอาจจะคิดว่าถ้าลูกเป็นอัจฉริยะ ก็ไม่จำเป็นต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะยังไงพวกเขาก็เก่งอยู่แล้ว แต่จริงๆ แล้วเด็กที่มีพรสวรรค์เหล่านี้ ยังต้องได้รับคำแนะนำ การชี้ทาง และการฝึกฝนอยู่อีกมาก ถึงจะสามารถแสดงออกถึงความสามารถออกมาได้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ เด็กอัจฉริยะยังอาจต้องได้รับการดูแลด้านการเรียนรู้เป็นพิเศษ เพราะหากปล่อยให้เด็กเรียนในโรงเรียนตามปกติ เด็กอัจฉริยะเหล่านี้มักจะก้าวหน้าไปไกลกว่าเพื่อนในวันเดียวกัน และเรียนรู้เนื้อหาต่าง ๆ ไปก่อนล่วงหน้า จนทำให้เกิดความเบื่อหน่ายในการเรียนรู้ได้ ความเบื่อหน่ายเหล่านี้อาจนำไปสู่การไม่ประสบความสำเร็จในอนาคตได้
ความเชื่อที่ 2 เด็กที่เป็นอัจฉริยะจะมีผลการเรียนสูงเสมอ
หลายคนมักจะยึดติดกับภาพลักษณ์ที่ว่า เด็กอัจฉริยะ คือเด็กที่เรียนเก่ง มีความรู้เยอะ ได้คะแนนสูง แต่จริง ๆ แล้วความอัจฉริยะนั้นมีอยู่หลากหลายด้านแตกต่างกันไป เด็กบางคนอาจจะเชี่ยวชาญทางด้านอื่น ที่ไม่สามารถวัดได้ด้วยความรู้ทางวิชาการเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ในขณะเดียวกัน เด็กอัจฉริยะที่เชี่ยวชาญทางด้านวิชาการ หากไม่ได้รับการดูแลและจัดการกับบทเรียนให้เหมาะสม อาจจะทำให้เด็กไม่สนใจที่เรียน ปรับตัวได้ช้า และส่งผลต่อผลการเรียนได้ในที่สุด
ความเชื่อที่ 3 เด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้ ไม่สามารถเป็นอัจฉริยะได้
หลายคนอาจจะเข้าใจว่า เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ เป็นเด็กพิการทางสมอง ไม่สามารถจัดให้เข้ามาอยู่ในกลุ่มเด็กอัจฉริยะได้ ความจริงแล้ว มีเด็กอัจฉริยะหลายคนที่มีปัญหาทางด้านการเรียนรู้ หรือมีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ แต่มีความสามารถทางด้านใดด้านหนึ่งดีเด่นเป็นพิเศษ แต่ความสามารถเหล่านี้มักจะถูกปัญหาทางการเรียนรู้ปกปิดไว้ คุณพ่อคุณแม่ควรรู้จักสังเกตถึงศักยภาพของลูก และช่วยสนับสนุนให้ลูกได้แสดงความสามารถให้เหมาะสมกับพรสวรรค์ของตัวเอง
พ่อกับแม่จะช่วยสนับสนุนเด็กอัจฉริยะได้อย่างไร
เด็กอัจฉริยะแต่ละคนนั้นมีพรสวรรค์ การแสดงออก และความต้องการที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นทางด้านภาษา ความรู้ สมรรถภาพร่างกาย ดนตรี หรือความเป็นผู้นำ การจะช่วยให้เด็กเหล่านี้สามารถค้นพบสิ่งที่ตัวเองชอบและถนัดมากที่สุด คุณพ่อคุณแม่จะต้องให้เด็กได้มีโอกาสเปิดกว้างและทดลองกับสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ
สำหรับการสนับสนุนที่บ้าน
พ่อและแม่อาจจะพยายามคอยสังเกตความชอบและความต้องการของลูก ให้โอกาสลูกได้แสดงออก ช่วยลูกฝึกทักษะการเรียนรู้ต่าง ๆ และให้ลูกได้มีโอกาสทดลองสิ่งใหม่ ๆ ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นภาษา การประดิษฐ์ การทำอาหาร ฟังเพลง เต้น หรือการออกแบบ ให้เด็กได้ค้นพบ และคอยชี้แนะหากลูกทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือช่วยลูกแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด พ่อแม่ควรเปิดกว้าง ทำความเข้าใจและยอมรับฟังความเห็นของลูก
สำหรับการสนับสนุนที่โรงเรียน
หากลูกมีลักษณะของเด็กอัจฉริยะ พ่อแม่ควรทำความเข้าใจกับสิ่งที่ลูกสนใจและมีพรสวรรค์ ก่อนจะเลือกโรงเรียนที่เหมาะสมกับความสามารถของลูก เช่น หากลูกมีพรสวรรค์ทางด้านดนตรี ควรเลือกโรงเรียนที่โดดเด่นทางด้านการเรียนการสอนดนตรี หรืออาจจะหาครูสอนพิเศษมาช่วยพัฒนาความสามารถของลูก ในขณะเดียวกัน พ่อและแม่ควรจะพูดคุยกับทางโรงเรียน เพื่อทำความเข้าใจในการรับมือกับเด็กที่เป็นอัจฉริยะ และเพื่อให้มั่นใจว่าโรงเรียนจะสามารถให้การดูแลลูกได้อย่างเหมาะสม
แม้ว่าการให้เด็กอัจฉริยะเรียนรวมกับเด็กปกติอาจส่งผลกระทบความสามารถทางการเรียนรู้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะให้แยกเด็กอัจฉริยะไปอยู่คนเดียวเสียเลย เพราะเด็กเหล่านี้ยังต้องได้รับโอกาสในการเข้าสังคม และฝึกฝนการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เพื่อให้สามารถเติบโตมาและใช้ชีวิตได้ตามปกติในสังคม
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย