backup og meta

อาหารบำรุงสมองสำหรับเด็ก มีอะไรบ้าง

อาหารบำรุงสมองสำหรับเด็ก มีอะไรบ้าง

อาหารบำรุงสมอง คืออาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อการทำงานของประสาทและสมอง ซึ่งจะทำให้เด็ก ๆ ในวัยเรียนสามารถเรียนรู้ได้ดีขึ้น ความจำดีขึ้น แถมมีสมาธิดีขึ้นอีกด้วย คุณพ่อคุณแม่ควรเลือก อาหารบำรุงสมองสำหรับเด็ก ให้เหมาะสม เพื่อให้ส่งผลดีต่อโภชนาการและสุขภาพของเด็ก

อาหารบำรุงสมองสำหรับเด็ก ที่ควรจัดให้ลูกอย่าได้ขาด

1. ไข่

ไข่เป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี และในไข่แดงมีโคลีน (choline) ซึ่งเป็นสารอาหารที่จะช่วยพัฒนาความจำและการทำงานของสมอง นอกจากนี้สารอาหารในไข่ยังช่วยทำให้เด็กมีสมาธิด้วย

2. ปลา

ปลามีวิตามินดีและกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่จะช่วยป้องกันสมองจากการสูญเสียความจำ และความจำที่ลดลงตามอายุ ปลาที่อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน โดยปลาทูน่าถือเป็นแหล่งโปรตีนชั้นเยี่ยม แต่ในปลาทูน่าจะมีกรดไขมันโอเมก้า 3 น้อยกว่าในปลาแซลมอน เนื่องจากปลาแซลมอนอุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่มีทั้งกรดไขมันโอเมก้า 3 ชนิดดีเอชเอ (DHA) และอีพีเอ (EPA) ซึ่งกรดไขมันโอเมก้า 3 ทั้ง 2 ชนิดจำเป็นต่อการเจริญเติบโตและการทำงานของสมอง นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ให้ข้อมูลว่า ผู้ที่ได้รับกรดไขมันโอเมก้า 3 มีสติปัญญาที่เฉียบแหลม และสามารถทำแบบทดสอบทักษะทางด้านจิตใจได้ดีขึ้น

3. ผักหลากสี

ผักที่เต็มไปด้วยสีสัน เช่น มะเขือเทศ มันเทศ ฟักทอง แครอท ผักโขม เป็นอาหารที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ที่จะทำให้เซลล์สมองแข็งแรงและสุขภาพดี นอกจากนี้ผักใบเขียว เช่น ผักคะน้า ผักโขม ก็อุดมไปด้วยโฟเลตและวิตามินมากมาย โดยผักคะน้าจะมีสารต้านอนุมูลอิสระ และมีสารอาหารอื่นๆ ที่มีส่วนช่วยในการสร้างเซลล์สมองใหม่

4. นมและโยเกิร์ต

ผลิตภัณฑ์ทำมาจากนมวัว อย่างนมหรือโยเกิร์ต ต่างก็อุดมไปด้วยโปรตีนและวิตามินบี ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อสมอง สารสื่อประสาท และเอนไซม์ นอกจากนี้นมกับโยเกิร์ตยังมีโปรตีนและคาร์โบไฮเดรต ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานของสมอง อีกทั้ง โยเกิร์ตยังช่วยให้การส่งและรับข้อมูลของเซลล์สมองทำงานได้ดีขึ้น

5. เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน

เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว และเนื้อไก่ มีธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่จำเป็น เนื่องจากช่วยให้เด็กๆ มีพลังงานและมีสมาธิดีขึ้น

6. ถั่ว

ถั่วอุดมไปด้วยโปรตีน ไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย ทั้งยังมีวิตามินและแร่ธาตุ ซึ่งถั่วและเมล็ดพืช เช่น เมล็ดฟักทอง จะช่วยทำให้อารมณ์ดีขึ้นและช่วยในการทำงานของระบบประสาท การกินถั่วลิสงหรือเนยถั่วจะทำให้ได้รับวิตามินอี ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่จะช่วยป้องกันเยื่อหุ้มเซลล์ประสาท นอกจากถั่วลิสงหรือเนยถั่วแล้ว ถั่วชนิดอื่น เช่น ถั่วแดง ที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 ชนิดเอแอลเอ (ALA) ที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตและการทำงานของสมอง หรือวอลนัท และอัลมอนด์ ที่อุดมไปด้วยโปรตีนและกรดไขมันจำเป็น ที่จะช่วยพัฒนาทางด้านอารมณ์ และช่วยทำให้การทำงานของระบบประสาทดีขึ้นด้วย

7. ข้าวโอ๊ต

งานวิจัยพบว่าเด็กๆ ที่กินข้าวโอ๊ตสามารถจดจำภาระงานต่างๆ ที่โรงเรียนได้ดีกว่า เมื่อเทียบกับเด็กๆ ที่กินซีเรียลแบบมีน้ำตาลเป็นอาหารเช้า การกินข้าวโอ๊ตจึงมีประโยชน์ เนื่องจากข้าวโอ๊ตมีโปรตีนและไฟเบอร์ รวมถึงสารอาหารอื่นๆ ได้แก่ วิตามินอี วิตามินบี โพแทสเซียม และสังกะสี ซึ่งทำให้ร่างกายและสมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

8. ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่

ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ เช่น บลูเบอร์รี่ เชอร์รี่ แบล็คเบอร์รี่ มีสารต้านอนุมูลอิสระ ที่สามารถช่วยป้องกันความเสียหายที่เกิดจากอนุมูลอิสระต่อสมอง และช่วยรักษาความจำของเด็กๆ ได้ นอกจากนี้ ในผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ยังมีวิตามินซี ที่ดีต่อระบบภูมิคุ้มกันด้วย หากลูกๆ ชอบกินของหวาน คุณพ่อคุณแม่อาจเพิ่มผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ในเมนูของหวาน เพื่อให้เขาได้ประโยชน์สุขภาพเพิ่มขึ้น

[embed-health-tool-vaccination-tool]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Top 10 Brain Foods for Children. https://www.webmd.com/parenting/features/brain-foods-for-children#1. Accessed on October 12, 2018.

7 Brain Foods for Kids. https://www.webmd.com/add-adhd/childhood-adhd/features/brain-foods-kids#1. Accessed on October 12, 2018.

Top 10 Foods To Boost Your Kid’s Brain Power. https://www.momjunction.com/articles/foods-boost-kids-brain-power_0075739/#gref. Accessed on October 12, 2018.

เวอร์ชันปัจจุบัน

26/05/2022

เขียนโดย Sopista Kongchon

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ติดน้ำหวาน เป็นอันตรายอย่างไรต่อร่างกายของลูก

ประโยชน์ของวิตามินบี สำหรับเด็กมีอะไรบ้าง ทำไมจึงจำเป็นต่อร่างกาย


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 26/05/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา