ซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine)

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรอาชานนท์ สมศักดิ์ · ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 01/11/2022

ซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine)

ซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) ใช้สำหรับการรักษาอาการคัดจมูก และอาการปวดหรืออักเสบจากการติดเชื้อ เช่น อาการหวัด ไข้ทั่วไป หรืออาการเจ็บป่วยจากโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ เช่น ไข้ ภูมิแพ้ หลอดลมอักเสบ

ข้อบ่งใช้

ยา ซูโดอีเฟดรีน ใช้สำหรับ

ยา ซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) ใช้สำหรับการรักษาอาการคัดจมูก และอาการปวดหรืออักเสบจากการติดเชื้อ เช่น อาการหวัด ไข้ทั่วไป หรืออาการเจ็บป่วยจากโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ เช่น ไข้ ภูมิแพ้ หลอดลมอักเสบ ยาซูโดอีเฟดรีนเป็นยาแก้คัดจมูก ออกฤทธิ์โดยการทำให้เส้นเลือดหดตัว เพื่อลดอาการบวมและอาการคัดจมูก

ยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันว่ายารักษาอาการไอและหวัดนั้นปลอดภัย หรือใช้ได้ผลกับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ดังนั้น ห้ามใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี เว้นแต่แพทย์สั่ง ไม่แนะนำให้ใช้ยาเม็ดหรือแคปซูลชนิดออกฤทธิ์นานกับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรสำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ยาอย่างปลอดภัย

ยานี้ไม่ได้ใช้รักษา หรือทำให้ระยะเวลาที่มีอาการหวัดสั้นลง และอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้ เพื่อลดความเสี่ยงสำหรับผลข้างเคียงที่รุนแรง ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้ยาอย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยานี้เพื่อทำให้เด็กง่วงนอน ห้ามใช้ยารักษาอาการไอและหวัดชนิดอื่นๆ ที่อาจมีส่วนผสมของยาแก้คัดจมูกตัวเดียวกันหรือคล้ายกัน (ดูที่ปฏิกิริยาของยา) โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับวิธีอื่นๆ ในการบรรเทาอาการไอและหวัด เช่น ดื่มน้ำให้เพียงพอ ใช้ยาพ่นจมูก ใช้หยอด หรือสเปรย์น้ำเกลือสำหรับล้างจมูก

การใช้อื่นๆ :

ส่วนนี้กล่าวถึงวิธีการใช้ยานี้ที่ไม่ได้ระบุไว้ในฉลากยาที่ได้รับการอนุมัติ แต่ผู้ดูแลสุขภาพของคุณอาจสั่งให้ใช้ยานี้สำหรับอาการที่ระบุไว้ในส่วนนี้ โปรดใช้ยาตามที่ได้รับคำแนะนำจากผู้ดูแลสุขภาพเท่านั้น

แพทย์อาจสั่งให้คุณใช้ยาซูโดอีเฟดรีนเพื่อบรรเทาอาการปวดและบวมภายในหู หรือช่วย “เปิด” ช่องหู เมื่อประสบกับภาวะความกดอากาศเปลี่ยนแปลง เช่น ในระหว่างโดยสารเครื่องบิน การดำน้ำ โปรดปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างระมัดระวัง

วิธีใช้ยา ซูโดเอฟีดรีน

หากคุณกำลังรักษาด้วยยานี้ สิ่งสำคัญคือ คุณต้องอ่านคำแนะนำการใช้ที่ระบุไว้ที่บรรจุภัณฑ์ของผู้ผลิตอย่างระมัดระวัง เพื่อจะได้ทราบว่า ต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเมื่อใด (ดูที่คำเตือน) และหากมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร หากแพทย์สั่งให้ใช้ยานี้ ให้ใช้ตามที่แพทย์สั่ง

รับประทานยานี้พร้อมอาหารหรือแยกต่างหากก็ได้ โดยปกติแล้วคือ รับประทานยาทุก 4-6 ชั่วโมง ตามที่ระบุไว้ในบรรจุภัณฑ์หรือตามที่แพทย์สั่ง ห้ามใช้ยาเกินกว่า 4 ครั้งต่อวัน ขนาดยาขึ้นอยู่กับอายุ อาการ และการตอบสนองต่อการรักษา ห้ามเพิ่มขนาดยา หรือใช้ยาเกินจำนวนครั้งที่แพทย์สั่ง และห้ามใช้ยาเกินกว่าที่แนะนำสำหรับอายุของคุณ

หากคุณใช้ยาเม็ดแบบเคี้ยว ต้องเคี้ยวยาให้ละเอียดแล้วค่อยกลืน หากใช้ยาชนิดน้ำ ให้ตวงยาอย่างระมัดระวังโดยใช้เครื่องมือ หรือถ้วยตวงเฉพาะ ห้ามตวงยาด้วยช้อนชาหรือช้อนโต๊ะ เพราะอาจได้ขนาดยาที่ไม่ถูกต้อง

ยาซูโดเอฟีดรีนมีหลากยี่ห้อ และหลายรูปแบบ ยาเม็ดควรรับประทานพร้อมดื่มน้ำในปริมาณมาก ให้ตรวจสอบที่บรรจุภัณฑ์สำหรับคำแนะนำเฉพาะในการใช้ยา และอ่านคำแนะนำเกี่ยวกับขนาดยาอย่างระมัดระวัง เนื่องจากปริมาณการใช้ยาอาจแตกต่างกันในแต่ละยี่ห้อ และห้ามใช้ยาเกินกว่าที่แนะนำ

คาเฟอีนสามารถเพิ่มอาการข้างเคียงของยานี้ได้ โปรดหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม รวมถึงช็อกโกแลตในปริมาณมาก และหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ซื้อมาใช้เอง ที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน

หลังใช้ยา 7 วัน หากอาการไม่ดีขึ้น อาการแย่ลง กลับมาเป็นซ้ำ หรือมีอาการไข้ ผื่นแดง หรือปวดศีรษะเรื้อรัง หรือคุณคิดว่าอาจมีอาการร้ายแรง โปรดเข้าพบคุณหมอทันที

การเก็บรักษายา ซูโดเอฟีดรีน

ยา ซูโดเอฟีดรีน ควรเก็บที่อุณหภูมิห้อง ให้พ้นแสงและความชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเสื่อมสภาพ ไม่ควรเก็บยานี้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง ยา ซูโดอีเฟดรีน บางยี่ห้ออาจมีวิธีเก็บรักษาแตกต่างกัน จึงควรอ่านคำแนะนำบนบรรจุภัณฑ์หรือสอบถามเภสัชกรเสมอ และโปรดเก็บยาให้พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเพื่อความปลอดภัย

ไม่ควรทิ้งซูโดอีเฟดรีนลงในชักโครก หรือเทยาลงในท่อระบายน้ำ เว้นแต่จะได้รับคำแนะนำให้ทำเช่นนั้น หากยาหมดอายุ หรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยา ควรกำจัดยาด้วยวิธีที่ถูกต้อง โดยสามารถสอบถามข้อมูลวิธีกำจัดยาที่ถูกต้องได้จากเภสัชกร

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ยาซูโดอีเฟดรีน

ในการตัดสินใจใช้ยาซูโดอีเฟดรีน ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับประโยชน์และความเสี่ยงในการใช้ยา โดยพิจารณาภาวะดังต่อไปนี้

อาการแพ้ยา

แจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณเคยมีอาการผิดปกติ หรืออาการแพ้ยานี้ หรือยาอื่นๆ รวมถึงหากเคยมีอาการแพ้ประเภทอื่นๆ เช่น แพ้อาหาร แพ้สีผสมอาหาร สารถนอมอาหาร สัตว์ สำหรับยาที่แพทย์ไม่ได้สั่ง ให้อ่านฉลากยาหรือส่วนประกอบที่ระบุในบรรจุภัณฑ์อย่างระมัดระวัง

โรคในเด็ก

ยาซูโดอีเฟดรีนอาจมีความเป็นไปได้ ที่จะก่อให้เกิดผลข้างเคียงในทารก โดยเฉพาะทารกเกิดใหม่ และทารกคลอดก่อนกำหนด ได้มากกว่าในเด็กโตกว่าและในผู้ใหญ่

ห้ามใช้ยาแก้ไอและหวัดที่ซื้อได้เองจากร้านขายยยา กับทารกหรือเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี การใช้ยาดังกล่าวกับเด็กอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรง หรืออาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

โรคในผู้สูงอายุ

ยังไม่มีข้อมูลจำเพาะที่เปรียบเทียบการใช้ยาซูโดอีเฟดรีนในผู้สูงอายุ กับผู้ป่วยในกลุ่มอายุอื่นๆ ดังนั้น จึงไม่ทราบว่ายาจะให้ผลเช่นเดียวกันกับในผู้ที่อายุน้อยกว่าหรือไม่ หรือยาก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรืออาการที่แตกต่างกันในผู้สูงอายุหรือไม่

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ เกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ ในช่วงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์ เพื่อประเมินประโยชน์และความเสี่ยงก่อนใช้ยานี้

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของการใช้ยาซูโดอีเฟดรีน

เข้ารับการรักษาในทันที หากคุณมีสัญญาณของอาการแพ้ ได้แก่ ลมพิษ หายใจติดขัด บวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือลำคอ

หยุดใช้ยาซูโดอีเฟดรีน และแจ้งแพทย์ทันที หากคุณมีอาการข้างเคียงที่รุนแรงใดๆ เหล่านี้

  • หัวใจเต้นเร็ว แรง และไม่เป็นจังหวะ
  • เวียนศีรษะรุนแรง หรือรู้สึกความวิตกกังวล
  • เป็นแผลหรือเลือดออกง่าย
  • อ่อนเพลียผิดปกติ มีไข้ หนาวสั่น ปวดเนื้อตัว มีอาการไข้
  • ความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรง ซึ่งสามารถสังเกตได้จากอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง มองเห็นไม่ชัด ได้ยินเสียงในหู กังวล งุนงง เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ มีอาการชัก

อาการข้างเคียงที่รุนแรงน้อยกว่า ได้แก่

  • เบื่ออาหาร
  • เหน็บชา หรือรอยแดงใต้ผิวหนัง
  • รู้สึกกระสับกระส่ายหรือตื่นเต้น (โดยเฉพาะในเด็ก)
  • นอนไม่หลับ
  • มีผื่นหรืออาการคันที่ผิวหนัง

ผลข้างเคียงที่กล่าวมาข้างต้น อาจไม่ได้เกิดกับทุกคน หรือบางคนอาจมีอาการอื่นนอกเหนือจากนี้ หากคุณมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยากับยาอื่นๆ

ยาซูโดอีเฟดรีนอาจเกิดอันตรกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น คุณควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรด้วยว่า คุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง สมุนไพร เป็นต้น และเพื่อความปลอดภัย คุณไม่ควรเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยาเองโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์

ไม่แนะนำให้ใช้ยาซูโดอีเฟดรีนกับยาอื่นๆ ดังต่อไปนี้ แพทย์อาจจะตัดสินใจไม่รักษาคุณด้วยยานี้ หรือเปลี่ยนยาบางตัวที่คุณกำลังใช้อยู่

  • ยาคลอกิลีน (Clorgyline)
  • ยาไดไฮโดรเออโกตามีน (Dihydroergotamine)
  • ยาฟูราโซลิโดน (Furazolidone)
  • ยาไอโพรนิอาซิด (Iproniazid)
  • ยาไอโซคาร์บอกซาซิด (Isocarboxazid)
  • ยาลิเนโซลิด (Linezolid)
  • ยาโมโคลเบไมด์ (Moclobemide)
  • ยานีอาลาไมด์ (Nialamide)
  • ยาพาร์กิลีน (Pargyline)
  • ยาเฟเนลซีน (Phenelzine)
  • ยาโพรคาร์บาซีน (Procarbazine)
  • ยาราซากิลีน (Rasagiline)
  • ยาเซเลกิลีน (Selegiline)
  • ยาโทล็อกซาโตน (Toloxatone)
  • ยาทรานิลไซโพรมีน (Tranylcypromine)

โดยปกติแล้ว ไม่แนะนำให้ใช้ยาซูโดอีเฟดรีนกับยาดังต่อไปนี้ แต่อาจจำเป็นในบางกรณี หากคุณได้รับใบสั่งยาทั้งคู่ร่วมกัน แพทย์อาจต้องเปลี่ยนขนาดยา หรือความถี่ในการใช้ยาตัวใดตัวหนึ่งหรือทั้งคู่

  • ยากัวนีทิดีน (Guanethidine)
  • ยาไอโอเบนเกวน ไอ-วัน-ทเวนตี้ทรี (Iobenguane I 123)
  • ยาเมทิลโดพา (Methyldopa)
  • ยามิโดดรีน (Midodrine)

ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์

ยาซูโดเอฟีดรีนอาจมีปฏิกิริยากับอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ

ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่นๆ

ยาซูโดเอฟีดรีนอาจส่งผลให้อาการโรคของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงสภาวะโรคของคุณก่อนใช้ยาเสมอ โดยเฉพาะ

  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2 การใช้ยาซูโดเอฟีดรีนอาจส่งผลให้เกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูง
  • ต่อมลูกหมากโต (Enlarged prostate)
  • โรคต้อหิน หรือมีความเสี่ยงในการเกิดโรคต้อหิน
  • โรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • ความดันโลหิตสูง การใช้ยาซูโดเอฟีดรีนอาจส่งผลให้อาการแย่ลง
  • ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน การใช้ยาซูโดเอฟีดรีนอาจส่งผลให้อาการแย่ลง

ขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง เพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

ขนาดยาซูโดเอฟีดรีนสำหรับผู้ใหญ่

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาอาการคัดจมูก

  • ยาชนิดออกฤทธิ์ทันที : 30 ถึง 60 มก. รับประทานทุก 4 ถึง 6 ชั่วโมง เท่าที่จำเป็น
  • ยาชนิดออกฤทธิ์นาน : 120 มก. รับประทานทุก 12 ชั่วโมง เท่าที่จำเป็น
  • ยาน้ำแขวนตะกอนออกฤทธิ์นาน : 45 ถึง 100 มก. รับประทานทุก 12 ชั่วโมง เท่าที่จำเป็น
  • ขนาดยาประจำวันสูงสุด : 240 มก./วัน

ขนาดยาซูโดเอฟีดรีนสำหรับเด็ก

ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาอาการคัดจมูก

อายุ 2 ปี ถึง 5 ปี

  • ยาชนิดออกฤทธิ์ทันที : 15 มก. ทุก 6 ชั่วโมง
  • ยาน้ำแขวนตะกอนออกฤทธิ์นาน : 12.5 ถึง 25 มก. รับประทานทุก 12 ชั่วโมง เท่าที่จำเป็น
  • ขนาดใช้ยาประจำวันสูงสุด : 60 มก./วัน
  • ขนาดยาทางเลือก : 1 มก./กก./ขนาดใช้ยา ทุก 6 ชั่วโมง โดยขนาดใช้ยาสูงสุด คือ 15 มก.

อายุ 6 ปี ถึง 12 ปี

  • ยาชนิดออกฤทธิ์ทันที : 30 มก. ทุก 6 ชั่วโมง
  • ยาน้ำแขวนตะกอนออกฤทธิ์นาน : 25 ถึง 50 มก. รับประทานทุก 12 ชั่วโมง เท่าที่จำเป็น
  • ขนาดใช้ยาประจำวันสูงสุด : 120 มก./วัน

อายุมากกว่า 12 ปี

  • ยาชนิดออกฤทธิ์ทันที : 30 ถึง 60 มก. รับประทานทุก 4 ถึง 6 ชั่วโมง เท่าที่จำเป็น
  • ยาชนิดออกฤทธิ์นาน : 120 มก. รับประทานทุก 12 ชั่วโมง เท่าที่จำเป็น
  • ยาน้ำแขวนตะกอนออกฤทธิ์นาน : 50 ถึง 100 มก. รับประทานทุก 12 ชั่วโมง เท่าที่จำเป็น
  • ขนาดใช้ยาประจำวันสูงสุด : 240 มก./วัน

รูปแบบของยา

ความแรงและรูปแบบของยามีดังนี้

  • แคปซูล 120 มก.
  • ยาน้ำ สำหรับรับประทาน 30 มก./5 มล.

กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด

หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉิน หรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที

กรณีลืมใช้ยา

หากคุณลืมใช้ยาควรรีบใช้ทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลาใช้ยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปใช้ยาตามตารางปกติได้เลย ไม่ควรเพิ่มปริมาณยา

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

เภสัชกรอาชานนท์ สมศักดิ์

ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 01/11/2022

โฆษณา
โฆษณา
โฆษณา
โฆษณา