backup og meta

ไข้หวัดใหญ่ กี่วันหาย และการดูแลตัวเอง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 19/01/2023

    ไข้หวัดใหญ่ กี่วันหาย และการดูแลตัวเอง

    ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ มีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดาแต่รุนแรงกว่า หากถามว่า ไข้หวัดใหญ่ กี่วันหาย คำตอบคือประมาณ 7-14 วัน ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของแต่ละคน ทั้งนี้ ระหว่างที่ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ ควรดูแลตัวเองด้วยการดื่มน้ำและพักผ่อนมาก ๆ และรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการไข้ ไอ หรือปวดเมื่อยตามร่างกาย

    ไข้หวัดใหญ่ คืออะไร

    ไข้หวัดใหญ่ (Influenza หรือ Flu) เป็นโรคทางเดินหายใจชนิดหนึ่ง เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ซึ่งแพร่กระจายเมื่อผู้ป่วยไอ จาม หรือพูด และอาจติดอยู่ตามวัตถุต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น โทรศัพท์ แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ ลูกบิดประตู

    ไข้หวัดใหญ่พบได้ทั่วไปในอัตรา 1,000-2,000 คน ต่อประชากร 100,000 คน

    ทั้งนี้ ชนิดของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่พบบ่อย คือ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ C โดย 2 ชนิดแรกเป็นเชื้อที่จะแพร่กระจายตามฤดูกาล โดยเฉพาะในฤดูหนาว ส่วนชนิดที่ 3 นั้นพบไม่บ่อยเท่า 2 ชนิดแรก และเมื่อติดเชื้อแล้วมักมีอาการป่วยที่รุนแรงน้อยกว่าทั้ง 2 ชนิดด้วย

    ไข้หวัดใหญ่ ต่างกับไข้หวัดธรรมดาอย่างไร

    ทั้งไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดธรรมดา เป็นโรคระบบทางเดินหายใจเหมือนกัน เมื่อเป็นแล้วจะมีอาการใกล้เคียงกัน แต่อาการของไข้หวัดใหญ่จะรุนแรงกว่า

    นอกจากนี้ ทั้งสาเหตุของไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดธรรมดาเกิดจากเชื้อไวรัสคนละชนิดกัน โดยไข้หวัดใหญ่เกิดจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ ส่วนไข้หวัดธรรมดาเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหลาย ๆ ชนิด เช่น ไรโนไวรัส (Rhinovirus) พาราอินฟูเอนซ่า (Parainfluenza) โคโรนาไวรัส (Seasonal Coronavirus)

    ไข้หวัดใหญ่ มีอาการอย่างไร

    เมื่อเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ ร่างกายมักแสดงอาการภายใน 1-4 วันหลังจากการติดเชื้อโดยมีอาการดังนี้

  • ไข้ขึ้น
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว
  • หนาวสั่น เหงื่อออก
  • ปวดหัว
  • ไอแห้ง
  • หายใจลำบาก
  • เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
  • คัดจมูก น้ำมูกไหล
  • เจ็บคอ
  • ปวดตา
  • อาเจียนหรือท้องเสีย โดยอาการกลุ่มนี้จะพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่
  • นอกจากนี้ ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่บางราย อาจมีอาการในลักษณะรุนแรง ซึ่งจำเป็นต้องไปพบคุณหมอทันที ได้แก่

    • หายใจไม่ออก
    • เจ็บหน้าอก
    • มีไข้สูง
    • ชัก
    • วิงเวียนเป็นเวลานาน
    • ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ หรือไม่ปัสสาวะเลย
    • กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือเจ็บป่วยอย่างรุนแรง
    • สีของผิวหนัง เล็บ หรือริมฝีปาก เปลี่ยนไป เช่นซีดลงหรือเข้มขึ้น

    ภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่

    ภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่นั้นพบได้ไม่บ่อยแต่หากมีภาวะแทรกซ้อนมักก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพที่รุนแรงหรืออาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ดังนี้

    สำหรับผู้ที่เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนเมื่อเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่

    • ผู้ที่เป็นโรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมถึงโรคเรื้อรังอื่น ๆ เกี่ยวกับปอด
    • ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคเกี่ยวกับไต ตับ หัวใจ หรือการไหลเวียนของเลือด
    • ผู้ที่เป็นโรคที่ทำให้การไอหรือกลืนอาหารทำได้ลำบาก
    • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
    • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอกว่าปกติ
    • ผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือมีค่าดัชนีมวลกายเกิน 40
    • ผู้ที่อายุน้อยกว่า 5 ปี หรือมากกว่า 65 ปี
    • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์

    ไข้หวัดใหญ่ กี่วันหาย

    ปกติแล้ว เมื่อเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ ระบบภูมิคุ้มกันจะค่อย ๆ กำจัดเชื้อโรคในร่างกาย ทำให้ไข้หวัดใหญ่หายไปเองภายใน 7-14 วัน

    อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ อาการป่วยจะรุนแรงน้อยกว่าและหายเร็วกว่าผู้ที่ไม่ได้ฉีด

    เป็นไข้หวัดใหญ่ ดูแลตัวเองอย่างไร

    เมื่อเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ หากอาการไม่รุนแรงนักอาจเลือกดูแลตัวเองด้วยวิธีการต่อไปนี้

    • รับประทานยาแก้อักเสบ เช่น อะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) ไอบูโรเฟน (Ibuprofen) เพื่อบรรเทาอาการไข้และการปวดกล้ามเนื้อ
    • พักผ่อนร่างกายให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
    • ดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มอื่น ๆ ในปริมาณมาก เพื่อป้องกันการขาดน้ำ
    • รับประทานยาแก้ไอ เช่น เดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan) ซึ่งเหมาะสำหรับการไอแบบไม่มีเสมหะ
    • หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้อื่น และสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันเชื้อไข้หวัดใหญ่แพร่กระจาย โดยเฉพาะเวลาไอหรือจาม

    ไข้หวัดใหญ่ ป้องกันได้อย่างไร

    การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ทำได้หลายวิธี ดังนี้

    • รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกปี
    • ล้างมือให้สะอาด ก่อนสัมผัสกับอาหารหรือใบหน้า
    • หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่
    • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า จมูก ตา หรือปาก เพราะอาจทำให้ไวรัสเข้าไปในร่างกายได้
    • งดสูบบุหรี่ เพราะผู้ที่สูบบุหรี่มีแนวโน้มเป็นโรคไข้หวัดใหญ่มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 19/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา