backup og meta

ลาโมไตรจีน (Lamotrigine)

ลาโมไตรจีน (Lamotrigine) ใช้เป็นยาตัวเดียว หรือใช้ร่วมกับยาอื่น เพื่อป้องกันและควบคุมอาการชัก นอกจากนี้ยังอาจใช้เพื่อช่วยป้องกันอารมณ์แปรปรวนอย่างรุนแรงของโรคไบโพลาร์หรือโรคอารมณ์สองขั้ว (bipolar disorder) สำหรับผู้ใหญ่

[embed-health-tool-heart-rate]

ข้อบ่งใช้

ลาโมไตรจีน ใช้สำหรับ

ลาโมไตรจีน (Lamotrigine) ใช้เป็นยาตัวเดียว หรือใช้ร่วมกับยาอื่น เพื่อป้องกันและควบคุมอาการชัก นอกจากนี้ยังอาจใช้เพื่อช่วยป้องกันอารมณ์แปรปรวนอย่างรุนแรงของโรคไบโพลาร์หรือโรคอารมณ์สองขั้ว (bipolar disorder) สำหรับผู้ใหญ่

ลาโมไตรจีน เป็นยาในกลุ่มยากันชัก (anticonvulsant) หรือยาต้านชัก (antiepileptic) ทำงานโดยการฟื้นฟูความสมดุลของสารตามธรรมชาติภายในสมองบางชนิด

วิธีการใช้ยาลาโมไตรจีน

รับประทานยานี้พร้อมกับอาหาร หรือรับประทานแยกต่างหาก ตามที่แพทย์สั่ง กลืนยาทั้งเม็ด เนื่องจากหากเคี้ยวยาอาจทำให้มีรสขมได้

ควรทำตามแนวทางการใช้ยาจากแพทย์อย่างเคร่งครัด ควรเพิ่มขนาดยาอย่างช้าๆ อาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือเดือน จนกว่าจะได้รับขนาดยาที่เหมาะสมที่สุด และได้รับผลของยาอย่างเต็มที่ รับประทานยาเป็นประจำเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากยา เพื่อให้ง่ายต่อการจำควรรับประทานยาในเวลาเดียวกันทุกวัน

อย่าหยุดใช้ยาโดยไม่ปรึกษากับแพทย์ สภาวะบางอย่างอาจจะแย่ลงได้หากหยุดใช้ยากะทันหัน ควรค่อยๆ ลดขนาดยาลงมา นอกจากนี้หากหยุดใช้ยาแล้ว ไม่ควรกลับมาเริ่มใช้ยาใหม่ โดยไม่ปรึกษากับแพทย์

แจ้งให้แพทย์ทราบ หากอาการของคุณไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง

การเก็บรักษายาลาโมไตรจีน

ยาลาโมไตรจีนควรเก็บที่อุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงแสงหรือความชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเกิดความเสียหาย ไม่ควรเก็บยานี้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง ยาลาโมไตรจีนบางยี่ห้ออาจจะต้องเก็บรักษาแตกต่างกัน จึงควรตรวจสอบฉลากยาหรือสอบถามเภสัชกรเสมอ เพื่อความปลอดภัย โปรดเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไม่ควรทิ้งยาลาโมไตรจีนลงในชักโครก หรือเทยาลงในท่อระบายน้ำ เว้นเสียแต่จะได้รับคำแนะนำให้ทำ ควรกำจัดยาด้วยวิธีที่ถูกต้อง เมื่อยาหมดอายุ หรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้งาน โปรดสอบถามเภสัชกรเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการกำจัดยาที่ถูกต้อง

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ยาลาโมไตรจีน

ปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรถ้าหาก

  • คุณกำลังตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร เนื่องจากในช่วงที่คุณกำลังตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร ควรใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำเท่านั้น
  • หากคุณกำลังใช้ยาอื่นอยู่ รวมทั้งยาที่หาซื้อได้เอง เช่น สมุนไพรหรือยาทางเลือกอื่นๆ
  • หากคุณแพ้สารออกฤทธิ์หรือไม่ออกฤทธิ์ ของยาลาโมไตรจีนหรือยาอื่นๆ
  • หากคุณมีอาการป่วย มีความผิดปกติ หรือมีสภาวะทางการแพทย์อื่นๆ
  • หากคุณกำลังใช้ยาฮอร์โมนเพศหญิง เช่น การคุมกำเนิดแบบใช้ฮอร์โมน (ยาคุมกำเนิด แผ่นแปะคุมกำเนิด ห่วงคุมกำเนิด ฉีดยาคุมกำเนิด การฝังยาคุมกำเนิด หรือห่วงอนามัย) หรือฮอร์โมนทดแทนบำบัด (hormone replacement therapy) ปรึกษากับแพทย์ก่อนเริ่มใช้ยาหรือหยุดใช้ยาลาโมไตรจีน หากคุณกำลังใช้ยาฮอร์โมนเพศหญิง แจ้งให้แพทย์ทราบ หากมีอาการเลือดออก นอกเหนือช่วงที่คาดว่าจะมีประจำเดือน
  • หากคุณเป็นหรือเคยเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (Autoimmune disease) ซึ่งเป็นอาการที่ร่างกายทำลายอวัยวะภายในของตัวเอง ทำให้เกิดอาการบวมและสูญเสียการทำงาน อย่างเช่น โรคลูปัส ซึ่งเป็นอาการที่ร่างกายทำร้ายอวัยวะภายในต่างๆ ของตัวเองแล้วทำให้เกิดอาการต่างๆ โรคเลือด (blood disorder) โรคไต หรือโรคตับ
  • หากคุณกำลังจะรับการผ่าตัด รวมถึงการผ่าตัดทำฟัน แจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบ หากคุณกำลังใช้ยาลาโมไตรจีน

คุณควรทราบว่ายานี้อาจทำให้คุณรู้สึกง่วงซึม อย่าขับรถหรือใช้เครื่องจักร จนกว่าคุณจะทราบว่ายานี้ส่งผลต่อคุณอย่างไร

จำไว้ว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น สามารถเพิ่มอาการง่วงซึมที่เกิดจากยานี้ได้อีกด้วย

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อหาประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยานี้

ยาลาโมไตรจีนจัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์ หมวด C โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)

การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกามีดังนี้

  • A= ไม่มีความเสี่ยง
  • B= ไม่พบความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
  • C= อาจจะมีความเสี่ยง
  • D= มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
  • X= ห้ามใช้
  • N= ไม่ทราบแน่ชัด

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของการใช้ยาลาโมไตรจีน

แจ้งให้แพทย์ทราบหากผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไปนั้นไม่หายไปหรือรบกวนคุณ ได้แก่

  • หากมองเห็นไม่ชัดหรือมองเห็นภาพซ้อน
  • ท้องผูก
  • ท้องร่วง
  • วิงเวียน
  • ง่วงซึม
  • ปวดหัว
  • คลื่นไส้
  • ปวดประจำเดือน
  • น้ำมูกไหลหรือคัดจมูก
  • ท้องไส้ปั่นป่วนหรือปวดท้อง
  • เหนื่อยล้า
  • นอนไม่หลับ
  • อาเจียน
  • อ่อนแรง
  • น้ำหนักลด

รับการรักษาพยาบาลในทันที หากมีผลข้างเคียงที่รุนแรงเกิดขึ้น ได้แก่

  • อาการแพ้อย่างรุนแรง ได้แก่ ผดผื่น ลมพิษ หายใจติดขัด แน่นหน้าอก บวมที่ปาก ใบหน้า ริมฝีปาก หรือลิ้น เสียงแหบผิดปกติ
  • ประจำเดือนไม่มา หรือมีการเปลี่ยนแปลงของประจำเดือน
  • มีอาการปวดหรืออาการกดเจ็บที่น่อง
  • ปวดหน้าอก
  • ปัสสาวะสีเข้ม
  • การเคลื่อนไหวอย่างสอดประสานลดลง
  • ปัสสาวะลำบาก หรือมีอาการเจ็บขณะปัสสาวะ
  • หัวใจเต้นเร็วหรือผิดปกติ
  • เป็นไข้ หนาวสั่น หรือมีอาการเจ็บคอบ่อยๆ
  • มีอความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจหรืออารมณ์ใหม่ๆ หรือแย่ลง เช่น อาการวิตกกังวล ซึมเศร้า กระสับกระส่าย อารมณ์ฉุนเฉียว อาการแพนิคกำเริบ พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง
  • มีอาการชักใหม่ๆ หรือแย่ลง
  • อุจจาระสีซีด
  • ผิวมีรอยแดง แผลพุพอง บวม หรือลอก
  • มีอาการปวด หรือกดเจ็บที่กล้ามเนื้ออย่างรุนแรง
  • มีอาการวิงเวียนหรือปวดท้องอย่างรุนแรงหรือบ่อยครั้ง
  • หายใจไม่อิ่ม
  • มีแผลภายในปากหรือรอบดวงตา
  • มีความคิดหรือพยายามที่จะฆ่าตัวตาย
  • มีอาการบวมที่มือ ข้อเท้า หรือเท้า
  • ต่อมน้ำเหลืองโต
  • มีอาการสั่นเทา
  • มีรอยช้ำหรือเลือดออกที่ผิดปกติ
  • มีอาการอ่อนแรง หรือเหนื่อยล้าผิดปกติ
  • มีอาการคันหรือมีสารคัดหลั่งที่ช่องคลอด
  • การมองเห็นเปลี่ยนแปลง
  • ผิวหรือดวงตาเป็นสีเหลือง

ไม่ใช่ทุกคนจะเจอกับผลข้างเคียงเหล่านี้ และอาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าคุณมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยากับยาอื่น

ยาลาโมไตรจีนอาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น คุณควรจะบอกแพทย์หรือเภสัชกรของคุณว่า คุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง (ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง และสมุนไพรต่างๆ) เพื่อความปลอดภัย โปรดอย่าเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยา โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์

ยาที่อาจมีปฏิกิริยากับยานี้ได้แก่

  • คาร์บามาเซพีน (Carbamazepine) เนื่องจากอาจลดประสิทธิภาพของยาลาโมไตรจีน และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง เช่น อาการวิงเวียน มองเห็นภาพซ้อน มองเห็นไม่ชัด และการเคลื่อนไหวอย่างสอดประสานลดลง
  • วาลโปรเอท (Valproate) เช่น กรดวาลโปรอิก (valproic acid) หรือไดวาลโปรเอ็กซ์โซเดียม (divalproex sodium) เนื่องจากอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงของยาลาโมไตรจีน
  • โดฟีทิไลด์ (Dofetilide) เนื่องจากความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงของของยานี้อาจเพิ่มขึ้น เพราะยาลาโมไตรจีน
  • อะทาซานาเวียร์ (Atazanavir) /ริโทนาเวียร์ (ritonavir) เอสโตรเจน (estrogens) โลปินาเวียร์ (lopinavir) /ริโทนาเวียร์ ฟีโนบาร์บิทัล (phenobarbital) เฟนิโทอิน (phenytoin) ไพรมิโดน (primidone) ไรแฟมพิน (rifampin) หรือยาในกลุ่มซัคซินิไมด์ (succinimides) เช่นเมทซูซิไมด์ (methsuximide) เนื่องจากอาจลดประสิทธิภาพของยาลาโมไตรจีน
  • การคุมกำเนิดแบบใช้ฮอร์โมน (เช่น ยาคุมกำเนิด) เนื่องจากประสิทธิภาพของยาทั้งสองอาจลดลง

ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์

ยาลาโมไตรจีนอาจมีปฏิกิริยากับอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น

ยาลาโมไตรจีนอาจส่งผลให้อาการโรคของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงสภาวะโรคของคุณก่อนใช้ยาเสมอ

ขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง เพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

ขนาดยาลาโมไตรจีนสำหรับผู้ใหญ่

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อป้องกันอาการชัก

สำหรับเพิ่มในสูตรการรักษาด้วยยาต้านชักที่มีกรดวาลโปรอิก (Valproic Acid)

สัปดาห์ที่ 1 และ 2: 25 มก. วันเว้นวัน

สัปดาห์ที่ 3 และ 4: 25 มก. ทุกวัน

ขนาดยาปกติ: 100 ถึง 400 มก./วัน (แบ่งเป็น 1 หรือ 2 ครั้ง) เพื่อให้ได้ขนาดยาปกติ อาจต้องเพิ่มขนาดยา 25 ถึง 50 มก./วัน ทุกๆ 1 ถึง 2 สัปดาห์

ขนาดยาปกติสำหรับผู้ป่วย ที่เพิ่มยาลาโมไตรจีนลงไปในกรดวาลโปรอิก มักอยู่ในช่วง 100 ถึง 200 มก./วัน

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคอารมณ์สองขั้ว

เริ่มต้นการรักษาด้วยยาลาโมไตรจีนโดยขึ้นอยู่กับยาที่กำลังใช้ร่วมกัน

ขนาดยาลาโมไตรจีนสำหรับเด็ก

ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอาการชัก

สำหรับเพิ่มในสูตรการรักษาด้วยยาต้านชัก

เด็กอายุ 2 ถึง 12 ปี ยารูปแบบออกฤทธิ์ทันที (ควรใช้ยาเต็มเม็ดเท่านั้น)

เด็กอายุ 2 ถึง 6 ปี มักจะจำเป็นต้องใช้ยาขนาดปกติที่อยู่ในช่วงบนของขนาดยาที่แนะนำตามปกติ ผู้ป่วยที่น้ำหนักน้อยกว่า 30 กก. อาจจำเป็นต้องเพิ่มขนาดยาปกติมากถึง 50% เทียบกับผู้ป่วยที่น้ำหนักมากกว่า 30 กก. ปรับขนาดยาเพื่อให้ได้ผลทางการแพทย์

รูปแบบของยา

ความแรงและรูปแบบของยามีดังนี้

  • ยาเม็ดสำหรับรับประทาน: 25 มก. 100 มก. 150 มก. 200 มก.

กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด

หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉิน หรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที

กรณีลืมใช้ยา

หากคุณลืมรับประทานยาควรรีบรับประทานทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลารับประทานยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปรับประทานยาตามตารางปกติได้เลย ไม่ควรเพิ่มปริมาณยา

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Lamotrigine. www.drugs.com/cdi/lamotrigine.html. Accessed July 26, 2017

Lamotrigine. www.webmd.com/drugs/2/drug-4582-7217/lamotrigine-oral/lamotrigine-oral/details. Accessed July 26, 2017

Lamotrigine. www.medlineplus.gov/druginfo/meds/a695007.html. Accessed 14 August 2019.

Lamotrigine. www.drugbank.ca/drugs/DB00555. Accessed 14 August 2019.

เวอร์ชันปัจจุบัน

20/11/2023

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรวิสสุตา ชั้นประเสริฐ

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผู้ชาย อารมณ์แปรปรวน เกิดจากอะไร

เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย อารมณ์แปรปรวน ขนาดนี้ ทำยังไงดีล่ะ


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

เภสัชกรวิสสุตา ชั้นประเสริฐ

ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 20/11/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา