backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

ขาชาข้างเดียว เกิดจากอะไร และวิธีการรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 27/02/2024

ขาชาข้างเดียว เกิดจากอะไร และวิธีการรักษา

ผู้ที่มีอาการชาอาจมีความสงสัยว่า ขาชาข้างเดียว เกิดจากอะไร และมีวิธีรักษาหรือวิธีป้องกันอย่างไร โดยทั่วไปอาการขาชาข้างเดียวเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติของสมองและระบบประสาท เนื่องจากความเสียหาย การกระทบกระเทือน หรือเส้นประสาทถูกกดทับ การรักษาอย่างเหมาะสมและการดูแลสุขภาพตัวเองอยู่เสมออาจเป็นวิธีที่จะช่วยป้องกันอาการขาชาข้างเดียวได้

ขาชาข้างเดียว เกิดจากอะไร

อาการขาชาข้างเดียวอาจเกิดจากความเสียหาย การกระทบกระเทือน หรือเส้นประสาทถูกกดทับ รวมถึงสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้

  • ภาวะทางสมองและระบบประสาท เช่น โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ภาวะสมองขาดเลือดชั่วขณะ (Transient Ischemic Attack หรือ TIA) ไขสันหลังอักเสบ (Transverse Myelitis) ปลายประสาทอักเสบ (Peripheral Neuropathy) เนื้องอกประสาทหู (Acoustic Neuroma) โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง เนื้องอกในสมอง (Brain Tumor) หมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท (Herniated Disc)
  • โรคเรื้อรังบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน เส้นเลือดตีบ กลุ่มอาการโจเกรน (Sjogren’s Syndrome) โรคเรเนาด์ (Raynaud Disease) พอร์ไฟเรีย (Porphyria) โรคแฟเบร (Fabry Disease)
  • การบาดเจ็บ เช่น โรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome) การบาดเจ็บจากหิมะกัด (Frostbite) การบาดเจ็บของเส้นประสาทแขน (Brachial Plexus Injury) หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน
  • โรคติดเชื้อ เช่น โรคเรื้อน โรคงูสวัด โรคซิฟิลิส
  • ผลข้างเคียงจากยาหรือสารเคมี เช่น ยาเคมีบำบัด ยาต้านเอชไอวี เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • สาเหตุอื่น ๆ เช่น สัมผัสโลหะหนัก หลอดเลือดอักเสบ ขาดวิตามินบี 12

สาเหตุที่กล่าวมานี้อาจทำลายเส้นประสาทที่ไวต่อความรู้สึก ซึ่งมักส่งผลต่อเส้นประสาทที่อยู่นอกสมองและไขสันหลัง เช่น เส้นที่ไปยังเท้า แขน ขา มือ จนทำให้เกิดอาการชาในที่สุด

อาการขาชาข้างเดียวที่ควรพบคุณหมอ

อาการขาชาข้างเดียวเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ จึงอาจมีอาการอื่น ๆ ที่แตกต่างกันร่วมด้วย ซึ่งอาการขาชาข้างเดียวอาจไม่เป็นอันตราย แต่ในบางกรณีก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน และหากมีอาการต่อไปนี้เกิดขึ้นร่วมกับอาการขาชาข้างเดียวควรเข้าพบคุณหมอ

  • ขาชาข้างเดียวเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน
  • ปวดศีรษะรุนแรงอย่างกะทันหัน
  • อาการชาเกิดขึ้นที่บริเวณอื่นด้วย
  • อ่อนแรง หรือเป็นอัมพาต
  • สับสน มึนงง วิงเวียนศีรษะ
  • พูดลำบาก
  • อาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมีอาการแย่ลงเรื่อย ๆ

วิธีรักษาอาการขาชาข้างเดียว

การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการและความรุนแรงของอาการ ซึ่งหากอาการขาชาข้างเดียวเกิดขึ้นจากภาวะทางสมองและระบบประสาท คุณหมออาจแนะนำวิธีการรักษา ดังนี้

การรักษาด้วยยา

  • ยาแก้ปวด เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด
  • ยาต้านอาการชัก เช่น กาบาเพนติน (Gabapentin) พรีกาบาลิน (Pregabalin) เพื่อบรรเทาอาการปวดเส้นประสาท
  • ยารักษาเฉพาะที่ เช่น แคปไซซิน (Capsaicin) ช่วยบรรเทาอาการปลายประสาทอักเสบ ลิโดเคน (Lidocaine) ช่วยบรรเทาอาการปวด
  • ยากล่อมประสาท เช่น ยาต้านเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic Antidepressants) เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด

การบำบัดรักษา

  • การกระตุ้นเส้นประสาทด้วยไฟฟ้าผ่านผิวหนัง ด้วยการส่งกระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ เป็นเวลา 30 นาทีทุกวัน เป็นเวลาประมาณ 1 เดือน
  • กายภาพบำบัด ใช้รักษาสำหรับผู้ที่มีกล้ามเนื้ออ่อนแรง การทำกายภาพบำบัดอาจช่วยให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น
  • การผ่าตัด ใช้สำหรับรักษาสำหรับผู้ป่วยโรคระบบประสาทที่เกิดจากการกดทับเส้นประสาท เช่น การกดทับจากเนื้องอก

การป้องกันอาการขาชาข้างเดียว

การป้องกันอาการขาชาข้างเดียวอาจทำได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจทำให้เสี่ยงเกิดความผิดปกติของสมองและระบบประสาท เช่น การสัมผัสสารเคมีที่เป็นพิษ การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป นอกจากนี้ โดยการสร้างนิสัยที่ดีด้วยการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน อาจช่วยส่งเสริมสุขภาพเส้นประสาทได้ รวมถึงควรเข้ารับการรักษาโรคบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ที่อาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของสมองและระบบประสาท

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 27/02/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา