backup og meta

ผลกระทบของโรคหลอดเลือดสมอง ต่ออวัยวะต่างๆ ของร่างกาย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 17/05/2021

    ผลกระทบของโรคหลอดเลือดสมอง ต่ออวัยวะต่างๆ ของร่างกาย

    โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) จัดเป็นโรคร้ายแรงที่ควรได้รับการรักษาทันที เพราะโรคนี้สามารถทำให้เซลล์สมองถูกทำลายจนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ และหลังจากที่คุณรอดชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง ร่างกายจะฟื้นตัวได้เร็ว หรือช้า ก็ขึ้นอยู่กับบริเวณสมองที่กระทบกระเทือน รวมถึง ผลกระทบของโรคหลอดเลือดสมอง ต่ออวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ของแต่ละบุคคล ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้น ติดตามได้ในบทความนี้ของ Hello คุณหมอ ที่นำมาฝากทุกคนกันค่ะ

    ผลกระทบของโรคหลอดเลือดสมอง ต่ออวัยวะต่างๆ ในร่างกาย

    1. ระบบทางเดินหายใจ

    • กล้ามเนื้อบริเวณคอ ลิ้น และปาก ถ้ากล้ามเนื้อบริเวณคอ ลิ้น หรือปากไม่สามารถนำอาหารเข้าสู่หลอดอาหารได้ อาจทำให้อาหารและของเหลวหลุดเข้าไปทางเดินหายใจและปอดได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น การติดเชื้อ และปอดบวม (Pneumonia)
    • ปัญหาการกลืน ความเสียหายของสมองในบริเวณที่ควบคุมการกินและการกลืน สามารถทำให้คุณเกิดภาวะกลืนลำบาก (Dysphagia) ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้กลืนอาหารได้ยาก โดยถือเป็นอาการที่พบบ่อยที่จะเกิดขึ้นหลังการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง แต่อาการจะดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
    • ปัญหาการหายใจ ถ้าโรคหลอดเลือดสมองเกิดขึ้นบริเวณก้านสมอง ซึ่งควบคุมการหายใจ การเต้นของหัวใจ และอุณหภูมิร่างกาย สามารถทำให้มีปัญหาในการหายใจ ซึ่งการเกิดโรคหลอดเลือดสมองลักษณะนี้อาจนำไปสู่อาการโคม่าหรือเสียชีวิตได้

    2. ระบบประสาท

    • ระบบประสาททำงานไม่แม่นยำ ระบบประสาทสร้างขึ้นมาจากสมอง เส้นประสาทไขสันหลัง และเครือข่ายเส้นประสาททั่วร่างกาย โดยระบบประสาทจะส่งสัญญาณไปมาระหว่างร่างกายกับสมอง แต่เมื่อสมองถูกทำลายจะทำให้รับสัญญาณได้ไม่แม่นยำ
    • การรับรู้เปลี่ยนแปลงไป การรับรู้ที่เปลี่ยนแปลงไป อาจทำให้สมองไม่เข้าใจความรู้สึกบางอย่าง เช่น ความรู้สึกอบอุ่น ความรู้สึกหนาว และบางครั้งคุณอาจรู้สึกเจ็บกว่าปกติ หรือรู้สึกเจ็บเวลาทำกิจกรรมบางอย่าง
    • มีปัญหาการมองเห็น หากเกิดความเสียหายบริเวณสมองที่สื่อสารกับดวงตา อาจทำให้คุณมีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น เช่น สูญเสียการมองเห็น หรือมองเห็นแค่ข้างเดียว รวมถึงมีปัญหาในการเคลื่อนไหวดวงตา
    • ภาวะปลายเท้าตก (Foot drop) เป็นอาการที่พบบ่อย ผู้ที่เป็นภาวะนี้จะกระดกปลายเท้าไม่ขึ้น ยกเท้าไม่พ้นพื้น เดินลากเท้า หรือต้องงอเข่าเพื่อยกเท้าให้สูงขึ้นเวลาเดิน โดยภาวะปลายเท้าตกสามารถดีขึ้นได้ด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพ หรือการใช้อุปกรณ์เสริมเพื่อพยุงเท้าก็อาจช่วยได้

    3. ความเสียหายต่อสมอง

    • ความเสียหายต่อสมองส่วนหน้า อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสติปัญญา การเคลื่อนไหว ตรรกะ ลักษณะนิสัย และระบบความคิด ถ้าสมองบริเวณนี้ได้รับผลกระทบอาจทำให้คุณวางแผนการต่างๆ ได้ยากขึ้น
    • ความเสียหายต่อสมองซีกขวา สามารถทำให้มีปัญหาด้านความจำ และสมาธิ โดยอาจมีปัญหาในการจดจำใบหน้าหรือวัตถุ นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรม เช่น หุนหันพลันแล่น ประพฤติตัวไม่เหมาะสม ภาวะซึมเศร้า
    • ความเสียหายต่อสมองซีกซ้าย อาจทำให้มีปัญหาด้านการพูด และความเข้าใจภาษา รวมถึงปัญหาด้านความทรงจำ การใช้เหตุผล การจัดการ การคิดวิเคราะห์ และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

    4. ระบบกล้ามเนื้อ

    โรคหลอดเลือดสมองสามารถส่งผลกระทบต่อกล้ามเนื้อ หากการส่งสัญญาณระหว่างสมองกับกล้ามเนื้อผิดปกติ อาจทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลต่อการรับน้ำหนักของร่างกาย และทำให้ร่างกายและการเคลื่อนไหว

    5. ระบบย่อยอาหาร

    ช่วงฟื้นฟูร่างกายหลังการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง อาจส่งผลต่อระบบย่อยอาหาร โดยผลข้างเคียงที่พบบ่อยจากการกินยาบางชนิด ก็คือ อาการท้องผูก และหากดื่มน้ำไม่เพียงพอ หรือไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกายด้วย ก็จะยิ่งทำให้อาการหนักขึ้น

    นอกจากนี้โรคหลอดเลือดสมองอาจส่งผลต่อการควบคุมการทำงานของลำไส้ ซึ่งเป็นอาการที่พบบ่อยในช่วงแรกของการฟื้นฟูร่างกาย แต่อาการจะดีขึ้นในภายหลัง

    6. ระบบทางเดินปัสสาวะ

    โรคหลอดเลือดสมองอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อการส่งสัญญาณระหว่างสมองกับกล้ามเนื้อที่ควบคุมกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งอาจส่งผลให้คุณเข้าห้องน้ำบ่อย ปัสสาวะขณะนอนหลับ หรือปัสสาวะเล็ดขณะไอและหัวเราะ แต่อย่างไรก็ตามอาการจะดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

    7. ระบบสืบพันธุ์

    โรคหลอดเลือดสมองไม่ส่งผลต่อการทำงานของระบบสืบพันธุ์โดยตรง แต่ปัจจัยอื่น เช่น ภาวะซึมเศร้า การกินยาบางชนิด หรือภาวะเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ เช่น อัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนแรง ก็อาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเพศ ดังนั้นคุณควรปรึกษาแพทย์ เพื่อหาหนทางในการแก้ปัญหาเรื่องทางเพศ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 17/05/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา