backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

บ้างาน เสพติดการทำงาน เช็กด่วน! คุณกำลังมีอาการแบบนี้อยู่รึเปล่า

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 29/09/2020

บ้างาน เสพติดการทำงาน เช็กด่วน! คุณกำลังมีอาการแบบนี้อยู่รึเปล่า

งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข แต่ทำงานหนักมากไป อาจกลายเป็นคน บ้างาน หรือ เสพติดการทำงาน ได้ ซึ่งการเสพติดงานนั้น ส่งผลกระทบทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ในระยะยาวอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ แต่…เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรากำลังบ้างาน  วันนี้ Hello คุณหมอ มีสัญญาณของการบ้างานมาฝากค่ะ

บ้างาน คืออะไร

มีอยู่หลายคำจำกัดความทีเดียวที่ใช้เพื่ออธิบายถึงขอบเขตและความหมายของคำว่าบ้างาน หรือ เสพติดการทำงาน (Workaholic) ซึ่งก็มักจะหนีไม่พ้นคำอธิบายที่ว่า การบ้างาน คือสภาวะของบุคคลผู้ซึ่งหมกหมุ่นอยู่กับการทำงานตลอดเวลา ทุ่มเทแรงกายแรงใจอย่างหนักหน่วงในการทำงาน แม้จะเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์หรือวันหยุดยาว ก็ยังคงใช้เวลาจดจ่ออยู่กับภาระงาน จนเรียกได้ว่าเป็นการเสพติดงาน

อาการ เสพติดงาน นี้ ก็คล้ายกับอาการเสพติดชนิดอื่นๆ คือไม่สามารถที่จะหยุดได้จนกว่าจะประสบความสำเร็จหรือบรรลุผล เป้าหมายของผู้ที่ทุ่มเทในการทำงานอาจเป็นตำแหน่งที่สูงขึ้น เงินเดือนที่มากขึ้น โบนัสที่เพิ่มขึ้น หรือเพื่ออนาคตที่ดีขึ้น

ช่างฟังดูเป็นตัวอย่างของความตั้งใจทำงาน และสร้างแรงผลักดันในการบรรลุเป้าหมายเสียจริงๆ แต่ทว่า อาการเสพติดก็มักจะมีผลกระทบที่ไม่ต่างกันสักเท่าไรไม่ว่าจะเป็นการเสพติดการกินหวาน เสพติดยา หรือเสพติดงาน สิ่งที่จะเข้ามาหยุดอาการเสพติดเหล่านี้ได้ ก็คือปัญหาทางสุขภาพ เพราะเมื่อใดก็ตามที่ร่างกายเริ่มเจ็บป่วยหรือทรุดโทรมลง ผู้ที่ เสพติดการทำงาน ก็จะรู้สึกตัวได้ว่าถึงเวลาแล้วล่ะที่จะต้องหยุดหรือพักงานลงบ้าง

สัญญาณที่บอกว่ากำลัง บ้างาน

นักวิจัยภาควิชาจิตวิทยาสังคมศาสตร์ (The Department of Psychosocial Science) แห่งมหาวิทยาลัยเบอร์เกน (University of Bergen) ประเทศนอร์เวย์ ได้สร้างแบบสอบถามเพื่อสำรวจว่าคุณกำลังมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า เสพติดการทำงาน หรือไม่ ดังนี้

  • ต้องการที่จะเพิ่มเวลาในการทำงานให้มากขึ้นหรือไม่
  • เวลาที่ใช้ในการทำงานจริงๆ มากกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่
  • ทำงานตามคำสั่งเพื่อลดความรู้สึกผิด ลดความวิตกกังวล ลดความรู้สึกไร้ค่าในตัวเองหรือไม่
  • มีคนบอกให้เพลาๆ เรื่องงานลงบ้าง แต่คุณก็ไม่สนใจฟังหรือไม่
  • รู้สึกเครียดหากไม่ได้ทำงาน หรือมีคนมาสั่งห้ามไม่ให้ทำงานหรือไม่
  • ไม่มีเวลาไปทำงานอดิเรก พักผ่อนในวันหยุด หรือออกกำลังกาย เพราะใช้เวลาทั้งหมดไปกับการทำงานหรือไม่
  • มีอาการทางสุขภาพเนื่องจากการทำงานหนักหรือไม่

จากคำถามทั้ง 7 ข้อนี้ หากคุณตอบว่า “ใช่” “มีบ้าง” หรือ “ทุกครั้ง” ตั้งแต่ 4 ข้อขึ้นไปล่ะก็ นั่นเป็นสัญญาณว่าคุณเริ่มมีอาการ เสพติดการทำงาน เข้าแล้ว

หรือคุณอาจสังเกตตนเองว่ามีพฤติกรรมดังต่อไปนี้เป็นประจำหรือไม่ ถ้าหากใช่มากกว่า 4 ข้อขึ้นไปล่ะก็ ถือว่าคุณมีอาการ เสพติดการทำงาน แล้วเช่นกัน

  • ยังคงทำงานอยู่แม้ว่าจะเลยเวลาทำงานไปแล้วก็ตาม
  • นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอเพราะต้องใช้เวลาไปกับการทำงานให้เสร็จเรียบร้อย
  • หมกหมุ่นอยู่กับการสร้างความสำเร็จจากการทำงาน
  • กลัวว่างานจะล้มเหลวหรือไม่เป็นดังที่คาดหวัง
  • วิตกกังวลหากประสิทธิภาพในการทำงานของตนเองลดน้อยลง
  • มีปัญหาในเรื่องความสัมพันธ์กับชีวิตคู่ คนรัก เพื่อน ครอบครัว เพราะทำงาน
  • ใช้เรื่องงานเป็นเหตุผลในการไม่เข้าสังคมกับผู้อื่น
  • มีเวลาให้กับครอบครัว คนรัก เพื่อน น้อยลง

ผลกระทบต่อสุขภาพ

ความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการ เสพติดการทำงาน ที่มักจะพบได้บ่อยๆ ก็คือความเครียดสะสม ซึ่งเกิดจากจากการหมกหมุ่นและแก้ไขปัญหาในการทำงาน ระยะยาวอาจนำมาซึ่งภาวะซึมเศร้า ออฟฟิศซินโดรม การกดทับที่เส้นประสาทหรือหมอนรองกระดูกคอ เป็นต้น

นอกจากนี้ อาการเสพติดงานยังส่งผลให้มีการนอนหลับและพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ ซึ่งเมื่อสะสมไปนานๆ เข้า ก็เสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาหารทางสุขภาพเรื้อรังด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะความดันโลหิตสูง หรือบางรายที่มักจะสูบบุหรี่ในเวลาทำงาน ก็อาจมีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับโรคปอดหรือระบบทางเดินหายใจด้วยเช่นกัน

ทำอย่างไรเมื่อกลายเป็นคนบ้างาน

หากคุณเป็นคนที่ เสพติดการทำงาน และเริ่มที่จะสัมผัสถึงอาการทางสุขภาพที่เกิดขึ้นแล้ว นั่นแปลว่าถึงเวลาแล้วที่คุณจะต้องเริ่มปรับเปลี่ยนชีวิตการทำงานให้เข้าสู่รูปแบบชีวิตการทำงานที่สมดุล หรือ Work life balance ดังนี้

  • ปรับตารางการทำงานเสียใหม่ เพิ่มเวลาพักผ่อนเข้ามาในตารางงานบ้าง
  • ปรับเวลาการเข้านอนให้เหมาะสม เลิกเข้านอนดึกโดยไม่จำเป็น
  • หาเวลาพักให้กับตัวเอง ไปเที่ยว ไปดูหนัง หรือไปพักร้อนบ้าง
  • พยายามหลีกเลี่ยงการนำงานกลับมาทำที่บ้าน
  • ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้างบ้าง 
  • ปรับวิธีคิดในการทำงาน เน้นการทำงานที่ควบคู่ไปกับความสุข มากกว่าที่จะต้องเครียดอยู่ตลอดเวลา
  • เชื่อใจเพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมทีมในการทำงาน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องแบกรับงานมาทำเพียงคนเดียว
  • หากเป็นไปได้ พยายามเลือกทำงานกับบริษัทที่มีวัฒนธรรมองค์กรแบบ Work life balance เพื่อที่จะได้เปลี่ยนบรรยากาศในการทำงานให้ดูผ่อนคลายมากขึ้น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 29/09/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา