การรักษาโรคซึมเศร้า
การรักษาโรคซึมเศร้า อาจทำได้ดังนี้
ยา
- กลุ่มยาต้านซึมเศร้าเอสเอสอาร์ไอ (Selective serotonin reuptake Inhibitors) เช่น ไซตาโลแพรม (Citalopram) เอสซิตาโลแพรม (Escitalopram) ฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) พาร็อกซีทีน (Paroxetine) เซอร์ทราลีน (Sertraline) และ ไวลาโซโดน (Vilazodone) เพื่อช่วยเพิ่มสารเซโรโทนินในสมอง และควบคุมอาการของซึมเศร้าให้อยู่ในสภาวะปกติ
- กลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ต่อสารสื่อประสาท เช่น เดสเวนลาฟาซีน (Desvenlafaxine) เวนลาฟาซีน (Venlafaxine) ดูล็อกซีทีน (Duloxetine) และ ลีโวมิลนาซิแพรน (Levomilnacipran) เพื่อช่วยปรับสมดุลของสารเคมีในสมอง ช่วยควบคุมอาการโรคซึมเศร้า ส่งผลให้นอนหลับง่ายและสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
- กลุ่มยากล่อมประสาท เช่นบูโพรพิออน (Bupropion) เมอร์เทซาปีน (Mirtazapine) เนฟาโซโดน (Nefazodone) ทราโซโดน (Trazodone) เพื่อช่วยรักษาโรคซึมเศร้า กระตุ้นการทำงานของสารเซโรโทนินที่ช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้า
- กลุ่มยาไตรไซคลิก (Tricyclic Antidepressants) เช่น อิมิพรามีน (Imipramine) นอร์ทริปไทลีน (Nortriptyline) อะมิทริปไทลีน (Amitriptyline) ด็อกเซปิน (Doxepin) ไทรมิพรามีน (Trimipramine) เดซิพรามีน (Desipramine) เพื่อช่วยปรับสมดุลของสารเคมีในสมอง ช่วยให้ผู้ป่วยมีเรี่ยวแรงขึ้น ช่วยบรรเทาอาการวิตกกังวลและลดความเครียด
- สารยับยั้งเอนไซม์โมโนเอมีน ออกซิเดส(Monoamine Oxidase Inhibitors) เพื่อช่วยยับยั้งเอนไซม์โมโนเอมีน ออกซิเดส ที่อาจทำลายสารสื่อประสาทในสมองอย่างเซโรโทนินจนนำไปสู่อาการซึมเศร้า อย่างไรก็ตาม ยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียงรุนแรง ในระหว่างที่ใช้ยาควรเข้าพบคุณหมอเพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
การบำบัดจิตใจ
เป็นการรักษาโรคซึมเศร้าด้วยการพูดคุยเพื่อปรับความคิดและพฤติกรรม ที่อาจช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับอาการซึมเศร้า ปรับพฤติกรรมการเข้าสังคมให้เป็นไปในเชิงบวก ส่งผลให้ใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและลดความเสี่ยงการมีความคิดกับตัวเองในเชิงลบ
การบำบัดด้วยกระแสไฟฟ้า (Electroconvulsive therapy)
เป็นการปล่อยกระแสไฟฟ้าไปยังสมอง ช่วยกระตุ้นสื่อประสาทเพื่อช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้า เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาต้านอาการซึมเศร้าและมีความเสี่ยงสูงที่จะฆ่าตัวตาย
การบำบัดด้วยการกระตุ้นคลื่นแม่เหล็ก (Tanscranial magnetic stimulation)
เป็นวิธีการรักษาโรคซึมเศร้าที่เหมาะกับผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา ส่งคลื่นแม่เหล็กเข้าไปกระตุ้นเซลล์ประสาทในสมอง เพื่อช่วยควบคุมอารมณ์และอาการซึมเศร้า
วิธีดูแลตัวเองและผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
วิธีดูแลตัวเองและผู้ป่วยโรคซึมเศร้า อาจทำได้ดังนี้
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด เช่น การใช้ยา การเข้ารับการบำบัดจิตใจ เข้าพบคุณหมอตามกำหนด
- หยุดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และใช้สารเสพติดเพราะอาจทำให้สารเคมีในสมองที่ส่งผลให้อาการซึมเศร้าแย่ลงและทำให้การรักษายากโรคซึมเศร้ายากขึ้น
- พูดคุยระบายความรู้สึกในใจโดยผู้คนรอบข้างควรรับฟัง ใส่ใจ และพูดปลอบโยนในเชิงบวกกับผู้ป่วย เนื่องจากผู้ที่เป็นซึมเศร้ามีอารมณ์อ่อนไหวค่อนข้างมาก หากคนรอบข้างขาดความเข้าใจอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้าแย่ลงได้
- ดูแลสุขภาพด้วยการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ควรผ่อนคลายความเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น นอนพักผ่อน ดูหนัง ฟังเพลง เพื่อช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้า นอกจากนี้ ผู้ดูแลอาจมีความเครียดสูงในระหว่างการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ดังนั้นการผ่อนคลายความเครียดจึงอาจเป็นวิธีช่วยเยี่ยวยาจิตใจและทำให้มีเรี่ยวแรง พร้อมดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้ดีขึ้น
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย