backup og meta

โรคกลัวรู (Trypophobia) ขนลุกแบบขำๆ หรืออันตรายที่ต้องระวัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 29/05/2020

    โรคกลัวรู (Trypophobia) ขนลุกแบบขำๆ หรืออันตรายที่ต้องระวัง

    หลายคนคงจะเคยเห็นภาพรูเล็กๆ ที่เรียงต่อกันหลายๆ รู ผ่านสายตากันมาบ้าง หลังจากเห็นภาพรูมากมายเหล่านั้นแล้ว คุณรู้สึกอย่างไร? รู้สึกขนลุกซู่ ขยะแขยง หรือรังเกียจหรือไม่? ถ้าหากคุณมีปฏิกิริยากับภาพรูเล็กๆ เหล่านั้น ไม่แน่ว่า คุณอาจจะกำลังเป็น โรคกลัวรู อยู่ก็เป็นได้ มาทำความรู้จักกับโรคกลัวรูให้มากขึ้นกับบทความนี้จาก Hello คุณหมอ กันค่ะ

    รู้จักกับ โรคกลัวรู (Trypophobia) 

    เชื่อว่าไม่ใช่แค่เพียงคุณที่กำลังอ่านบทความนี้แล้วรู้สึกว่าตนเองมีอาการหวาดกลัว ขนลุก ขยะแขยงทุกครั้งที่เห็นภาพรูเล็กๆ เช่น ภาพฝักบัว รังผึ้ง หรือภาพวงกลมเล็กๆ หลายๆ วงเรียงต่อกัน ยังมีอีกหลายคนที่มีอาการเช่นเดียวกันกับที่คุณกำลังเป็นอยู่ อาการนั้นเรียกว่า โรคกลัวรู หรือ Trypophobia โดยคำว่า “Trypophobia’ ได้เกิดขึ้นในสื่อเว็บไซต์ต่างๆ เมื่อปี 2005 ก่อนที่จะกลายมาเป็นกระแสไวรัลไปทั่วทั้งอินเทอร์เน็ตจนกระทั่งปัจจุบัน

    โรคกลัวรู คือ การที่บุคคลหนึ่งมีความรู้สึกรังเกียจและกลัวต่อรูเล็ก ๆ ที่เรียงติดกัน บุคคลนั้นจะรู้สึกอีดอัด ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ หากจะต้องจ้องมองไปยังรูหรือหลุมเล็ก ๆ ที่เรียงติดกันเหล่านั้น

    อย่างไรก็ตาม โรคกลัวรูก็ยังไม่ได้รับการระบุว่าเป็นความผิดปกติของโรค หรือความผิดปกติทางสุขภาพจิตแต่อย่างใด เนื่องจากข้อจำกัดในการวิจัย และข้อมูลที่ยังไม่เพียงพอ

    สมาคมจิตวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (American Psychological Association) หรือ APA ยังไม่มีการรับรองโรคกลัวรู หรือ Trypophobia ว่าเป็นความผิดปกติตามเกณฑ์คู่มือการวินิจฉัยโรคทางจิตเวชฉบับล่าสุดของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, 5th edition) หรือ DSM-5 ด้วยเหตุนี้ผู้เชี่ยวชาญจึงจัดว่าโรคกลัวรู เป็นเพียงความรู้สึกรังเกียจ ซึ่งเป็นความรังเกียจที่มากกว่าความกลัวโดยทั่วไป 

    สาเหตุของโรคกลัวรู

    ความรู้สึกกลัวรูนั้น มาจากการที่ได้รับแรงกระตุ้น ซึ่งโดยส่วนมากมักจะเป็นแรงกระตุ้นจากการที่ได้เห็นภาพรูเล็ก ๆ เช่น

    • ภาพฟองน้ำ
    • ภาพฟองสบู่
    • ภาพปะการัง
    • ภาพฟองน้ำทะเล
    • ภาพรวงผึ้ง
    • ภาพกระบวนการควบแน่นของน้ำ
    • ภาพฝักเมล็ดบัว
    • ภาพสตรอว์เบอร์รี่
    • ภาพเม็ดของผลทับทิม
    • ภาพฟองเล็กๆ ติดกัน
    • ภาพกลุ่มดวงตาของแมลง

    อาการของโรคกลัวรู

    หลังจากเห็นภาพดังที่กล่าวไปข้างต้น ผู้ที่เห็นภาพจะมีอาการดังต่อไปนี้

  • มีความรู้สึกรังเกียจ หรือรู้สึกกลัว
  • รู้สึกไม่สบายตัว
  • รู้สึกเหมือนมีอะไรคลานยุบยับอยู่ในผิว
  • ขนลุก
  • มีอาการคันผิวหนัง
  • เหงื่อออกมาก
  • ตื่นตระหนก
  • รับมือกับโรคกลัวรูอย่างไร

    เนื่องจากโรคกลัวรูยังไม่ถูกระบุว่าเป็นความผิดปกติในทางใด จึงยังไม่มีวิธีรักษาที่แท้จริงออกมาในขณะนี้ แต่จากการศึกษาบางชิ้นพบว่า มีการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าอย่างยาเซอร์ทราลีน (Sertraline) รวมถึงมีการใช้วิธีการบำบัดด้วยการพูดคุย หรือที่เรียกว่า Cognitive Behavioral Therapy หรือ CBT ซึ่งเป็นการบําบัดทางความคิดและพฤติกรรม โดยกระบวนการ CBT จะพยายามเปลี่ยนความคิดในแง่ลบอันเนื่องมาจากความกลัวและความเครียด

    เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

    ปัจจุบันโรคกลัวรู หรือ Trypophobia ยังไม่ถูกจัดไว้ในความผิดปกติใดๆ และยังคงถูกมองว่าเป็นเพียงความเกลียด กลัว ที่เหมือนกับเวลาที่เรากลัวเชื้อโรค เกลียดสัตว์เลื้อยคลาน หรือกลัวแมลงต่างๆ เท่านั้น หากคุณรู้สึกว่าคุณมีลักษณะอาการที่มีความผิดปกติที่รุนแรงมากกว่าที่ได้กล่าวไป ควรที่จะหาเวลาไปปรึกษากับแพทย์หรือจิตแพทย์

    หากคุณมีอาการ หรือมีปฏิกิริยากับภาพที่รูในรูปแบบต่างๆ ที่สามารถเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว ควรหลีกเลี่ยงการพบเห็นภาพเหล่านั้นให้มากที่สุด และควรแจ้งให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดทราบว่าสิ่งใดที่คุณไม่ปรารถนาจะพบเห็น หรือถ้าหากพบเจอภาพดังกล่าวบนหน้าฟีดของสื่อโซเชียลมีเดีย ควรกดลบ หรือกดรายงานปัญหาไปยังผู้พัฒนาแอปพลิเคชันนั้น

    อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนี้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเองก็ยังไม่พบวิธีใดที่จะนำมาใช้ในการทดสอบอาการของโรคกลัวรูได้ แต่แพทย์หรือนักจิตวิทยาจะสอบถามถึงลักษณะอาการและผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคุณ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 29/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา