โรคจิตเภท (Schizophrenia) เป็นอาการที่พบได้ทั่วไป โดยเกิดขึ้นได้อัตราหนึ่งในร้อยของบุคคลทั่วไป และสามารถเป็นได้ตั้งแต่วัยรุ่น ขั้นแรกของโรคจะเรียกว่าระยะแสดงอาการ (Prodromal phase) ในระยะนี้ การนอนหลับ อารมณ์ความรู้สึก แรงจูงใจ การสื่อสารและความสามารถในการคิด จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด
อาการของ โรคจิตเภท เป็นอย่างไร
โรคจิตเภทจะทำให้ผู้ป่วยมีความคิด ความรู้สึก และการกระทำที่ผิดปกติไปจากเดิม แต่ละคนที่เป็นโรคนี้จะมีอาการไม่เหมือนกัน และอาการนั้นสามารถเป็นๆ หายๆ ได้เช่นกัน ไม่มีผู้ป่วยคนใดจะแสดงอาการตลอดเวลา
โดยทั่วไป อาการจะแบ่งออกได้ 3 กลุ่ม คือ
- กลุ่มอาการทางบวก (Positive Symptoms) มีพฤติกรรมที่เริ่มเปลี่ยนไปจากเดิม
- กลุ่มอาการทางลบ (Negative Symptoms) หยุดการกระทำหรือพฤติกรรมที่เคยทำ และมีอาการเฉื่อยชา
- กลุ่มบกพร่องทางเชาวน์ความคิด (Cognitive Deficit)
อาการเหล่านี้ปกติจะเกิดขึ้นในช่วงอายุระหว่าง 16 ถึง 30 ปี โดยที่ผู้ชายมักเป็นเร็วกว่าผู้หญิง
อาการกลุ่มทางบวก (Positive)
- ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะได้ยินเสียงแว่วในหัวซึ่งคอยสั่งการให้ทำสิ่งต่างๆ หรือร้องเตือนถึงอันตราย รวมถึงพูดจาด้วยถ้อยคำที่ไม่ดีใส่ผู้ป่วย และเสียงแว่วเหล่านั้นอาจเป็นการพูดคุยกันเองได้เช่นกัน
- ผู้ที่เกิดอาการอาจคิดว่ามีใครสักคนกำลังพยายามควบคุมสมองของตนเองผ่านทางโทรทัศน์ หรือตำรวจจะมาจับกุมตัว รวมถึงรอาจเชื่อว่าตนเองเป็นคนอื่น เช่น คิดว่าตนเองเป็นดาราดังหรือประธานาธิบดี และหลงผิดคิดว่าตัวเองมีพลังพิเศษอีกด้วย
- มีความคิดและการพูดที่สับสน ผู้ป่วยโรคจิตเภทจะจัดระเบียบความคิดได้ยาก จึงพูดคุยกับคนปกติไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะฉะนั้น ผู้ป่วยจึงแสดงพฤติกรรมแปลกแยก อยู่ตัวคนเดียว หรือใจลอย เวลาผู้ป่วยพูดคุย คำพูดที่ออกมามักจะชวนสับสน และฟังดูไม่มีเหตุผลแม้แต่น้อย
อาการกลุ่มทางลบ (Negative)
- ผู้ป่วยอาจแสดงอาการห่อเหี่ยว ไม่พูดไม่จา ไม่แสดงความรู้สึกใดๆ หรือเวลาพูดคุย น้ำเสียงก็จะราบเรียบเหมือนไม่มีความรู้สึก
- บางคนอาจมีอาการหยุดวางแผนชีวิต และทำตัวสันโดษ
- ผู้ป่วยพบความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน และอาจเลิกดูแลตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น ไม่ยอมอาบน้ำ ไม่ยอมแปรงฟัน ฯลฯ
- ไม่ทำอะไรตามกำหนดการ ผู้ป่วยมักมีปัญหากับการทำตามกำหนดเวลา หรือทำสิ่งที่เริ่มต้นไว้ให้จบ และบางครั้งผู้ป่วยก็ไม่ยอมลงมือทำอะไรเลยเสียด้วยซ้ำ
อาการกลุ่มบกพร่องทางเชาวน์ความคิด (Cognitive Deficit)
อาการนี้จะส่งผลต่อการเรียนรู้ คัดแยก และประมวลผลข้อมูลของสมอง ผู้ป่วยอาจมีปัญหาในเรื่องของความจำ เช่น จดจำข้อมูลหลายอย่างในเวลาเดียวกันไม่ได้ เช่น เบอร์โทรศัพท์ ป็นต้น
- นอกจากมีปัญหาเรื่องความตั้งใจต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว ผู้ป่วยก็มักมีปัญหากับการจัดระเบียบความคิดและตัดสินใจ ในบางครั้งก็มีปัญหาเรื่องสมาธิด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยอาจไม่รู้ว่ารายการโทรทัศน์ที่กำลังรับชมอยู่ มีเรื่องราวเกี่ยวกับอะไรบ้าง
- มีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ซึ่งดูน่ากลัว บางครั้งก็เคลื่อนไหวแบบเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ในบางครั้งก็จะนอนแข็งทื่อเป็นเวลาหลายชั่วโมง ซึ่งเรียกว่าอาการการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ (Catatonia)
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัย หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด