backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

โรคจิตเภท หรือ Schizophrenia คืออะไร มีอาการและสาเหตุอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 13/05/2022

โรคจิตเภท หรือ Schizophrenia คืออะไร มีอาการและสาเหตุอย่างไร

โรคจิตเภท หรือ Schizophrenia คือ โรคทางจิตที่รุนแรงและเรื้อรัง มักส่งผลต่อความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรม ทำให้ผู้ป่วยมีอาการวิตกกังวล หลีกเลี่ยงการเข้าสังคม เห็นภาพหลอน เป็นต้น ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตในประจำวัน ผู้ป่วยโรคจิตเภทส่วนใหญ่มักไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาตลอดชีวิต แต่อาจสามารถควบคุมอาการต่าง ๆ ได้ด้วยการรักษาที่เหมาะสมตามอาการของแต่ละบุคคล 

Schizophrenia คือ อะไร 

โรคจิตเภท หรือ Schizophrenia คือ กลุ่มอาการของโรคที่มีความผิดปกติทางจิต ส่งผลให้ผู้ป่วยมีความคิดและการรับรู้ไม่ตรงกับความเป็นจริง รวมถึงอาจมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม จนส่งผลให้ไม่สามารถใช้ชีวิตในสังคมและทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะเริ่มมีอาการประมาณอายุ 16-30 ปี หรือช่วงวัยรุ่นตอนปลาย 

อาการของ Schizophrenia หรือโรคจิตเภท

อาการของ Schizophrenia อาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ซึ่งอาจแบ่งออกเป็น 3 ประเภทได้ดังนี้

  • อาการเชิงบวก
  • หลงผิด ซึ่งเป็นความเชื่อของผู้ป่วยที่เชื่อในสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เช่น คิดว่าคนอื่นจะมาทำร้าย
  • ประสาทหลอน โดยผู้ป่วยอาจเห็น ได้กลิ่น รับรส หรือรู้สึก รวมถึงได้ยินเสียงในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง
  • ความผิดปกติด้านความคิด โดยผู้ป่วยอาจมีกระบวนการความคิดผิดปกติหรือมีความคิดไม่เป็นเหตุเป็นผล บางครั้งอาจหยุดพูดกลางคัน หรือสร้างหัวข้อใหม่ขึ้นมาทั้งที่สองเรื่องไม่ได้เกี่ยวข้องกัน
  • ความผิดปกติด้านการเคลื่อนไหว ผู้ป่วยอาจเคลื่อนไหวร่างกายผิดปกติ เช่น ทำท่าทางเดิมซ้ำ ๆ
  • อาการเชิงลบ  
    • หลีกเลี่ยงการเข้าสังคม หรือการพบปะกับบุคคลอื่น ๆ 
    • มีปัญหาในการวางแผนและทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การซื้อของ 
    • มีปัญหาในการทำกิจวัตรประจำวัน 
    • พูดน้อยลง ใช้เสียงโทนเดียวในการพูดคุย ไม่แสดงสีหน้าอารมณ์ ไม่สบตา 
    • เคลื่อนไหวน้อยลง หรือเคลื่อนไหวท่าทางเดิมซ้ำ ๆ 
    • ไม่มีแรงบันดาลใจหรือความกระตือรือร้นในการใช้ชีวิต
  • อาการทางปัญญา 
    • มีปัญหาในการตัดสินใจ
    • มีปัญหาในการรับรู้ข้อมูลหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ
    • มีปัญหาในการจดจำ
    • มีปัญหาในการจดจ่อหรือไม่มีสมาธิ
    • อาการของ Schizophrenia อาจเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน หรือค่อย ๆ แสดงอาการออกมาให้สังเกตเห็น และอาการบางอย่างอาจถูกเข้าใจผิดว่าเป็นอาการของโรคซึมเศร้าหรือปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ได้ อย่างไรก็ตาม หากมีความผิดปกติข้างต้น ควรเข้าพบคุณหมอโดยเร็วที่สุด

      สาเหตุของ Schizophrenia หรือโรคจิตเภท

      ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรค Schizophrenia แต่อาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น พันธุกรรม สารเคมีในสมองบางชนิดทำงานผิดปกติ รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่อาจไปกระตุ้นและส่งผลทำให้เป็นโรคจิตเภทได้ 

      อย่างไรก็ตาม ปัจจัยต่อไปนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคจิตเภทได้ 

      • พันธุกรรม หากคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรค Schizophrenia หรือโรคจิตเภท อาจเพิ่มโอกาสในการเกิดโรคนี้ได้
      • สารเคมีในสมองบางชนิดผิดปกติ เนื่องจากสารสื่อประสาท เช่น โดพามีน (Dopamine) กลูตาเมต (Glutamate) ที่ทำหน้าส่งสัญญาณภายในสมองและระบบประสาททั่วร่างกาย เช่น ความจำ สมาธิ อารมณ์ ดังนั้น หากสารสื่อประสาทบางชนิดไม่สมดุล อาจส่งผลให้เกิดโรค Schizophrenia ได้ 
      • สิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาครอบครัว ปัญหาการเงิน ปัญหาการงาน ปัญหาที่อยู่อาศัย ที่ทำให้เกิดความเครียดสะสมและอาจไปกระตุ้นทำให้เป็นโรคจิตเภทได้ 
      • การสัมผัสสารพิษหรือไวรัสที่อาจส่งผลต่อการพัฒนาสมองของทารกขณะตั้งครรภ์ หรือวัยแรกเกิด 
      • การใช้สารเสพติดในปริมาณมาก เพราะอาจมีฤทธิ์ไปรบกวนการทำงานของสมองจนเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการทางจิตเวชหรือโรค Schizophrenia เช่น เห็นภาพหลอน หูแว่ว ประสาทหลอน 
      • เมื่อไหร่ที่ควรไปพบคุณหมอ

        ผู้ป่วยที่เป็นโรคจิตเภทมักไม่ได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดจากความผิดปกติทางจิตของตนเอง ครอบครัวหรือคนใกล้ชิดจึงควรใส่ใจและหมั่นดูอาการของผู้ป่วยอยู่เสมอ หากมีอาการใด ๆ ที่ผิดปกติควรรีบไปพบคุณหมอทันทีเพื่อประเมินอาการ และรับการรักษาโดยเร็วที่สุด

        หมายเหตุ

        Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



        ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

        เนตรนภา ปะวะคัง


        เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 13/05/2022

        ad iconโฆษณา

        คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

        ad iconโฆษณา
        ad iconโฆษณา