backup og meta

Social detox คืออะไร

Social detox คืออะไร

บางคนอาจประสบปัญหาติดโซเชียลมีเดียมากจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน เช่น ใช้เวลาเล่นโซเชียลมีเดียเป็นเวลานาน ตัดขาดจากผู้คนรอบข้าง พักผ่อนน้อย มีปัญหาทางสายตา เกิดความเครียด และมีปัญหาด้านอารมณ์ การทำ Social detox (โซเชียลดีท็อกซ์) จึงอาจเป็นการลดหรือหยุดการใช้โซเชียลมีเดียในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตต่าง ๆ ให้ดีขึ้น 

Social detox คืออะไร 

Social detox คือ การบำบัดผู้ที่ติดโทรศัพท์มือถือหรือโซเซียลมีเดีย (Social Media) โดยใช้เวลาส่วนมากไปกับโลกออนไลน์ และเริ่มมีการหลีกเลี่ยงในการพบปะผู้คนในชีวิตจริง ซึ่งการทำโซเชียลดีท็อกซ์อาจช่วยบำบัดให้ลดการใช้โซเชียลมีเดียลง และอาจช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจและร่างกาย ซึ่งเหมือนกับการล้างสารพิษออกจากร่างกาย

อาการของการติดโซเซียลมีเดีย 

หากมีอาการเหล่านี้ อาจแสดงว่ากำลังติดโซเชียลมีเดียมากเกินไป เช่น 

  • สมาธิสั้น วิตกกังวล
  • ประสิทธิภาพในการทำงาน หรือเรียนหนังสือลดลง
  • ปัญหาด้านการนอนหลับ  
  • ออกกำลังกายน้อยลง
  • ความอดทนต่ำลง 
  • รู้สึกไม่มีคุณค่า เมื่อไม่ได้เป็นที่ยอมรับในโซเชียลมีเดีย
  • เปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น 
  • รู้สึกไม่พอใจกับชีวิตของตัวเอง
  • ขาดการมีส่วนร่วมทางสังคม
  • กระสับกระส่าย หงุดหงิดเมื่อไม่ได้เล่นโซเชียลมีเดีย
  • ไม่สนใจสิ่งรอบข้างที่ไม่เกี่ยวข้องกับโซเชียลมีเดีย
  • ไม่สามารถวางมือถือ หรือเลิกเล่นโซเชียลมีเดียขณะทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น รับประทานอาหาร เข้าห้องน้ำ 
  • ต้องโพสต์ข้อความ ถ่ายรูป อัพรูปลงโซเชียลทุกวัน

สาเหตุของการติดโซเชียลมีเดีย

ปัจจัยการติดโซเชียลมีเดีย อาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น 

  • อยู่คนเดียว รู้สึกเหงา ทำให้หันไปพึ่งการเล่นโซเชียลมีเดียเพื่อให้รู้สึกไม่ได้อยู่คนเดียว 
  • มีความพึงพอใจในตัวเอง และต้องการเป็นจุดสนใจให้ผู้อื่นได้เห็น 
  • เสพข้อมูล หรือเสพสื่อทางโซเชียลมีเดียจนเกิดความเคยชิน

นอกจากนี้ อาจเกี่ยวข้องกับโดพามีน สารสื่อประสาทที่ร่างกายสร้างขึ้นและหลั่งออกมาอาจทำให้เกิดพฤติกรรมเสพติด เพราะเมื่อทำสิ่งใดแล้วรู้สึกมีความสุขหรือพึงพอใจ อาจทำให้ร่างกายกระตุ้นในการทำสิ่งนั้นซ้ำ ๆ และเพิ่มขึ้น จนอาจกลายเป็นพฤติกรรมที่ต้องทำสม่ำเสมอ 

วิธีการ Social detox

โซเชียลมีเดียกลายเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต การตัดโซเชียลมีเดียออกจากชีวิตเลยจึงอาจเป็นเรื่องยาก แต่วิธีต่อไปนี้อาจช่วยสร้างสมดุลที่ดีให้กับชีวิต และใช้โซเชียลมีเดียอย่างพอเหมาะพอควร

  • กำหนดเวลาการเล่นโซเชียลมีเดีย โดยอาจจัดสรรเวลาในแต่ละวันหรือสัปดาห์ในการปล่อยให้ตัวเองเล่นโซเชียลมีเดีย เช่น ทุก 30 นาที หรือทุก 1 ชั่วโมง และกำหนดว่าเล่นครั้งละ 5-10 นาที เพื่อช่วยฝึกวินัยในตนเอง  
  • ปิดการแจ้งเตือนหรือตั้งแจ้งเตือนให้น้อยลง การทำโซเชียลดีท็อกซ์ โดยปิดการแจ้งเตือนแอปพลิเคชันต่าง ๆ สามารถลดสิ่งเร้าที่ทำให้รู้สึกสนใจในการกดเข้าไปดู
  • ปิดมือถือหรือวางมือถือให้ไกลตัวขณะทำงาน เรียน รับประทานอาหาร รวมถึงเวลาทำกิจกรรมอื่น ๆ 
  • ไม่ควรวางโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ในห้องนอน รวมถึงควรงดเล่นโซเชียลมีเดียก่อนนอนอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เนื่องจาก หน้าจอโทรศัพท์มีแสงสีฟ้าที่อาจส่งผลต่อการผลิตสารเมลาโทนิน เป็นสารที่สร้างขึ้นเพื่อช่วยควบคุมการนอน หากเล่นโทรศัพท์มือถือก่อนนอน อาจส่งผลให้นอนไม่หลับ   
  • หางานอดิเรกหรือกิจกรรมใหม่ ๆ ทำ เช่น เล่นกีฬา วาดรูป อ่านหนังสือ ทำอาหาร ปลูกต้นไม้ 
  • หาเวลาพักผ่อนในการออกไปท่องเที่ยวในสถานที่ธรรมชาติ หรือที่ที่สงบปราศจากอินเทอร์เน็ต 
  • พบปะสังสรรค์กับเพื่อน หรือพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับคนในครอบครัว 
  • ลบแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook Instagram TikTok เหลือเพียงแอปพลิเคชันสำหรับทำงาน เพื่อหลีกเลี่ยงการเล่นโซเชียลมีเดีย 

หากผู้ที่ติดโซเชียลมีเดียมาก ๆ อาจสามารถปรึกษาคุณหมอเพื่อรับคำแนะนำและบำบัดตามขั้นตอน เพราะการติดโซเชียลมีเดียอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย และจิตใจได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What does “Social Detox” mean?. https://magdalenhouse.org/what-does-social-detox-mean/. Accessed November 8, 2021

Characteristics of social media ‘detoxification’ in university students. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7717533/. Accessed November 8, 2021

The relationship between addictive use of social media, narcissism, and self-esteem: Findings from a large national survey. https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0306460316301095?via%3Dihub. Accessed November 8, 2021

Online Social Networking and Addiction—A Review of the Psychological Literature. https://www.mdpi.com/1660-4601/8/9/3528. Accessed November 8, 2021

Does Digital Detox Work? Exploring the Role of Digital Detox Applications for Problematic Smartphone Use and Well-Being of Young Adults Using Multigroup Analysis. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/32354288/. Accessed November 8, 2021

8 Signs You Need to Take a Break From Social Media. https://health.clevelandclinic.org/signs-you-need-to-take-a-break-from-social-media/.  Accessed November 8, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

08/11/2021

เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

แพนิคคือ อะไร อาการเป็นแบบไหน รักษายังไง

อยู่คนเดียว สร้างความสุขให้กับชีวิตได้อย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 08/11/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา