
การ นอนกรน นอกจากจะสร้างความรำคาญให้ผู้ที่นอนข้างๆแล้ว ยังมีผลต่อ สุขภาพ มากมายที่จะตามมา หากคุณเป็นคนที่นอนกรนเป็นประจำทุกๆ คืน แต่ยังคงนิ่งนอนใจไม่ปรึกษาแพทย์ เพื่อหาทางรักษาอาการนอนกรนแล้วล่ะก็ อาจจะส่งผลเสียตามมาในอีกไม่ช้า…วันนี้ Hello คุณหมอ จึงได้รวบรวมข้อมูลมาให้ดูกันว่าแค่…นอนกรน จะส่งผลต่อสุขภาพอะไรบ้าง
นอนกรน คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร
การนอนกรน เกิดจากเมื่อเวลาหายใจเข้าแล้วอากาศไม่สามารถผ่านทางปากหรือว่าจมูกได้อย่างสะดวก เพราะมีสิ่งกีดขวางการไหลเวียนของอากาศ
ปัจจัยหลายๆ อย่างที่ทำให้อากาศถูกกีดขวาง ดังนี้
ภาวะแน่นจมูก
ภาวะแน่นจมูก เป็นภาวะที่อาจจะเป็นๆหายๆ เป็นเฉพาะช่วงที่ไซนัสกำเริบ ภูมิแพ้ หรืออาจจะเป็นตลอดเวลาก็ได้ ซึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดอาการคัดแน่นจมูก เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เยื่อบุโพรงจมูกบวม โครงสร้างของจมูกที่ผิดรูปทำให้หายใจได้ลำบาก ส่งผลทำให้เกิดการกรนได้
กล้ามเนื้อคอและลิ้นหย่อนคล้อย
อาการกรน เกิดจากการที่มีสิ่งกีดขวางทางเดินออกอากาศ กล้ามเนื้อคอและลิ้นหย่อนคล้อยก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการกรนได้ เมื่อกล้ามเนื้อคอและลิ้นหย่อนลงไปขวางกั้นทางเดินหายใจ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการหลับลึก เนื่องจากมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป และการใช้ยานอนหลับ
เนื้อเยื่อคอใหญ่
ส่วนใหญ่แล้วเด็กที่เป็นต่อมทอนซิลหรือต่อมทอนซิลโต มักจะเกิดปัญหาเนื้อเยื่อบริเวณคอใหญ่ ซึ่งเนื้อเยื่อดังกล่าวอาจจะกีดขวางช่องทางการหายใจ ทำให้เกิดอาการกรนได้ นอกจากนี้ในผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวเกิน ก็อาจจะพบว่า มีเนื้อเยื่อคอใหญ่จนเป็นสาเหตุของการนอนกรนได้เช่นกัน
เพดานอ่อนหรือลิ้นไก่ยาว
เมื่อเพดานอ่อนหรือลิ้นไก่ยาว จะส่งผลให้ช่องบริเวณจมูกและลำคอแคบลง เมื่อเพดานอ่อนหรือว่าลิ้นไก่ สัมผัสโดนกับสิ่งอื่นๆหรือเกิดการสั่นสะเทือน ทางเดินหายใจก็จะเกิดการอุดตัน ทำให้เกิดการกรนได้
สัญญาณที่บ่งบอกว่า นอนกรน อันตรายแล้วนะ
การนอนกรนอาจเป็นเรื่องปกติสำหรับใครหลายๆคน การนอนกรนเกิดได้จากหลายสาเหตุจากที่กล่าวไปข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อบริเวณคอหย่อนคล้อย ดื่มแอลกอฮอล์หนัก มีการกินยานอนหลับ หรืออาจจะเกิดจากโครงสร้างของจมูกที่ผิดรูป
สาเหตุต่างๆเหล่านี้ส่งผลทำให้หายใจเอาอากาศเข้าไปได้น้อย แต่สำหรับหลายคน อาการนอนกรนนั้นเป็นอันตรายจนส่งผลต่อร่างกาย ลองดูกันนะคะว่า มีอาการต่างๆ เหล่านี้หรือไม่
อาการนอนกรนที่เป็นอันตราย
- ง่วงนอนตอนกลางวันมากเกินไป หรือตื่นขึ้นมาแล้วงัวเงีย ไม่รู้สึกสดชื่น รู้สึกเหมือนไม่ได้นอน
- มีอาการปวดหัวตอนเช้า หลังตื่นนอน
- น้ำหนักเพิ่มขึ้น
- ความดันโลหิตสูง
- เจ็บหน้าอก ตอนกลางคืน
- ไม่มีสมาธิในการทำงาน เรียนหรือความจำลดลง
- ตื่นขึ้นมาแล้วพบว่า อ้าปากค้างเพื่อหายใจ หรือมีอาการปากคอแห้ง
หากใครที่อ่านแล้วพบว่า มีอาการตรงกับที่กล่าวมาหลายคอเลยที่เดียว อาการเหล่านี้อาจกำลังบอกว่า คุณอาจจะเสี่ยงมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งเป็นความผิดปกติที่เกิดจากการหายใจที่ถูกขัดจังหวะตลอดทั้งคืน เพราะกล้ามเนื้อด้านหลังคอไม่สามารถเปิดทางเดินหายใจได้
การมีน้ำหนักเกินสัมพันธ์กับการหยุดหายใจขณะหลับเช่นกัน ดังนั้นจึงควรเข้าปรึกษาแพทย์ถึงอาการกรนและอาการที่เกิดขึ้น เพื่อตรวจอย่างละเอียดให้แน่ใจว่า ร่างกายมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจริงหรือไม่ และต้องทำการรักษาต่อไป เพื่อตรวจวินิจฉัยและหาวิธีการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ
นอนกรน ส่งผลเสียต่อ สุขภาพ อย่างไรบ้าง
นอกจากสร้างความรำคาญใจให้กับคนรอบข้างแล้ว ไปดูกันว่าการนอนกรนส่งผลต่อสุขภาพของเราอย่างไรบ้าง
โรคหลอดเลือดสมอง
จากข้อมูลสุขภาพที่วิเคราะห์เกี่ยวกับการนอนหลับพบว่า ความรุนแรงของการนอนกรนมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงของการเกิด หลอดเลือดแดงตีบตัน ซึ่งการตีบตันของหลอดเลือดแดงที่คอ เนื่องจากไขมันที่สะสมอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นผลทำให้เกิด โรคหลอดเลือดสมอง
การกรนที่ดังและยาวนานในแต่ละคืน ยังมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดสมองก็สูงขึ้นตามไปด้วย ยิ่งคุณมีอาการง่วงนอนในตอนกลางวัน ทั้งที่ไม่ได้นอนดึกหรือมีความดันโลหิตสูง ก็อาจเป็นไปได้ว่า…อาจจะมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
โรคหัวใจ
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับมีความเชื่อมโยงกับปัญหาหัวใจและหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ และปัญหาต่างๆ เหล่านี้ก็นำเราไปสู่โรคหัวใจได้ และอาจจะส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจวายได้ด้วยเช่นกัน
หัวใจเต้นผิดจังหวะ
ผู้ที่มีปัญหาในการนอนกรนในระยะยาวหรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ จะมีความเสี่ยงในการเกิดปัญหาหัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งภาวะหยุดหายใจขณะหลับนั้น มีแนวโน้มที่จะมีภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (atrial fibrillation) ซึ่งเป็นภาวะที่หัวใจเต้นผิดปกติรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นภาวะหัวใจเต้าผิดปกติประเภทที่พบได้โดยทั่วไป มากกว่าคนที่ไม่ได้เป็นและคนที่ได้รับการรักษาแบบ CPAP เป็นไปได้ว่า ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ อาจส่งผลกระทบต่อระบบนำไฟฟ้าของหัวใจ
โรคกรดไหลย้อน
โรคกรดไหลย้อน เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดกับผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เนื่องจากความไม่เป็นระบบของลำคอ ที่มีการปิดกั้นการเข้า-ออกของอากาศที่ไม่ปกติในระหว่างที่นอนหลับ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงแรงดันที่สามารถดูดเศษอาหารที่อยู่ในกระเพาะอาหารขึ้นมาได้ ซึ่งทั้งโรคกรดไหลย้อนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ มีความสัมพันธ์กับเรื่องของน้ำหนักเกินทั้งคู่ ซึ่งภาวะทั้งสองจะดีขึ้นเมื่อมีการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์
อุบัติเหตุ
อาจจะฟังดูไม่เกี่ยวข้องกันระหว่างการนอนกรนและอุบัติเหตุ จริงๆแล้วหากอาการกรนส่งผลให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ จะทำให้ร่างกายของคุณพักผ่อนได้ไม่เต็มที่ รู้สึกเพลียในตอนเช้าหลังจากตื่นนอน หรือมีอาการง่วงนอนในตอนกลางวัน ทั้งๆที่คุณไม่ได้นอนดึก
ดังนั้นหากคุณมีอาการง่วงเพลียในตอนกลางวันแล้วจำเป็นต้องใช้รถ หรือทำงานใกล้เครื่องจักรที่ต้องใช้ความระมัดระวังสูง อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุในระหว่างที่ทำกิจกรรมได้
ปัญหาทางสุขภาพจิต
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ อาจส่งผลต่อสุขภาพจิตของคุณได้ เมื่อร่างกายของคุณรู้สึกเหมือนไม่ได้พักผ่อน รู้สึกเหมือนอดหลับ จนบางครั้งอาจเกิดปัญหาซึมเศร้าอย่างรุนแรง
จากการศึกษาผู้นอนกรนจำนวน 74 คน แสดงให้เห็นว่า คนที่มีอาการง่วงในตอนกลางวันมากเท่าไร ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าและวิตกกังวลมากขึ้นเท่านั้น แต่การรักษาอาการนอนกรน จะช่วยลดอาการซึมเศร้าและวิตกกังวลได้
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัย หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด
อ่านเพิ่มเติม:
Review Date: พฤศจิกายน 19, 2019 | Last Modified: พฤศจิกายน 22, 2019