backup og meta

มา บ้วนปาก ด้วยน้ำมันมะพร้าว กันเถอะ

มา บ้วนปาก ด้วยน้ำมันมะพร้าว กันเถอะ

การบ้วนปากด้วยน้ำมันที่สกัดจากธรรมชาติ เช่น น้ำมันงา น้ำมันดอกทานตะวัน หรือน้ำมันมะพร้าว หรือที่เรียกว่าออยล์พูลลิ่ง (Oil Pulling) เป็นวิธีของชาวอินเดียโบราณ โดยชาวอินเดียเชื่อว่าการอมน้ำมันค้างไว้ในปากแล้วบ้วนออกมา จะช่วยรักษาโรคได้มากมาย ตั้งแต่อาการปวดศีรษะไปจนถึงโรคเบาหวาน และจากการศึกษาวิจัยในปัจจุบันก็พบว่าออยล์พูลลิ่งนั้นทำให้เชื้อโรคในปากลดลง จึงช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคต่างๆ ได้ สำหรับใครที่ไม่ชอบบ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปาก แต่อยากทำความสะอาดช่องปากมากกว่าการแปรงฟัน การ บ้วนปาก ด้วยน้ำมันมะพร้าว อาจเป็นอีกหนึ่งวิธีที่น่าลอง

ประโยชน์ของน้ำมันมะพร้าว

น้ำมันมะพร้าวมีประโยชน์หลายอย่าง หลายคนกินน้ำมันมะพร้าวเพื่อรักษาโรคหัวใจ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ช่วยเรื่องโรคเบาหวาน โรคลำไส้แปรปรวน รวมถึงใช้เพื่อลดความอ้วนด้วย น้ำมันมะพร้าวแตกต่างจากน้ำมันที่สกัดจากพืชชนิดอื่นอย่างน้ำมันงา หรือน้ำมันดอกทานตะวัน เนื่องจากในน้ำมันมะพร้าวมีกรดไขมันอิ่มตัวที่มีโมเลกุลขนาดกลาง (medium chain fatty acids) ซึ่งเป็นกรดไขมันอิ่มตัวที่ร่างกายสามารถย่อยและดูดซึมได้เร็ว ต่างจากกรดไขมันอิ่มตัวที่มีโมเลกุลขนาดยาว (long chain fatty acid) ที่ร่างกายใช้เวลาย่อยนานและเก็บสะสมไว้ในชั้นเนื้อเยื่อไขมัน ซึ่งทำให้ร่างกายมีไขมันเยอะ

92% ของน้ำมันมะพร้าวคือกรดไขมันอิ่มตัว โดยมีกรดลอริก (Lauric) เป็นหลัก ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบและป้องกันเชื้อแบคทีเรีย น้ำมันมะพร้าวมีคุณสมบัติเพิ่มความชุ่มชื้น จึงนิยมนำมาใช้ทาผิว รวมถึงใช้เป็นผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม ช่วยป้องกันไม่ให้ผมแห้งเสียได้อีกด้วย

น้ำมันมะพร้าวกับสุขภาพช่องปาก

น้ำยาบ้วนปากที่มีขายตามท้องตลาด เป็นน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของคลอร์เฮกซิดีน กลูโคเนต (Chlorhexidine Gluconate) ซึ่งก็คือยาฆ่าเชื้อโรคในช่องปากนั่นเอง หลายคนไม่ชอบใช้น้ำยาบ้วนปากเพราะรู้สึกแสบปากเวลาใช้ โดยอาการแสบปากนั้นเป็นผลข้างเคียงจากการที่คลอร์เฮกซิดีน กลูโคเนตกัดเนื้อเยื่อในช่องปาก หากใครไม่ชอบใช้น้ำยาบ้วนปากแต่อยากบ้วนปากด้วยสารสกัดจากธรรมชาติ น้ำมันมะพร้าว อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ

งานวิจัยเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการกำจัดแบคทีเรียของน้ำมันมะพร้าวกับน้ำยาคลอร์เฮกซิดีน โดยใช้แบคทีเรียที่ชื่อว่าคือ สเตร็ปโตค็อกคัส มิวเทนส์ (Streptococcus mutans) ซึ่งเป็นแบคทีเรียตัวสำคัญที่ทำให้ฟันผุ ผลการวิจัยพบว่าน้ำมันมะพร้าวมีประสิทธิภาพในการลดแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ฟันผุเทียบเท่ากับน้ำยาคลอร์เฮกซิดีน นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่พบว่าน้ำมันมะพร้าวช่วยลดคราบจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคเหงือกอักเสบได้ ดังนั้น การใช้น้ำมันมะพร้าวบ้วนปากจึงช่วยทำความสะอาดช่องปาก ฆ่าเชื้อโรคในปาก ลดคราบจุลินทรีย์ที่จะเป็นสาเหตุของโรคเหงือกและฟัน

วิธีใช้น้ำมันมะพร้าวดูแลสุขภาพช่องปาก

วิธีการ บ้วนปาก ด้วยน้ำมันมะพร้าว คืออมน้ำมันมะพร้าวค้างไว้ประมาณ 10-20 วินาที แล้วบ้วนออก ทำแบบนี้หลังแปรงฟันในตอนเช้าและก่อนเข้านอน จะทำให้ปากสะอาด ช่วยลดกลิ่นปากและทำให้ฟันขาวสะอาดขึ้นด้วย

ข้อควรระวัง เนื่องจากน้ำมันมะพร้าวเป็นน้ำมัน ซึ่งแตกต่างกับน้ำยาบ้วนปากที่เป็นน้ำ จึงไม่แนะนำให้กลั้วคอด้วยน้ำมันมะพร้าว เพราะน้ำมันจะข้นกว่าน้ำ ทำให้เวลาที่กลั้วคออาจเกิดการสำลักและเป็นอันตรายได้ เวลาใช้น้ำมันมะพร้าวบ้วนปากจึงควรอมค้างไว้เฉยๆ และบ้วนออกมา

วิธีการเลือกซื้อน้ำมันมะพร้าว

  • น้ำมันมะพร้าวจะต้องใส โปร่งแสง
  • ไม่มีสิ่งเจือปน หรือตกตะกอน
  • ไม่มีกลิ่นหืน
  • ตรวจสอบวันผลิตและวันหมดอายุทุกครั้งก่อนนำมาใช้

การบ้วนปากด้วยน้ำมันมะพร้าวจะช่วยทำให้ปากสะอาดขึ้น แต่ไม่ควรกลั้วคอด้วยน้ำมันมะพร้าวเด็ดขาด หากใครที่ยังไม่เคยลองบ้วนปากด้วยน้ำมันที่สกัดจากธรรมชาติ ซึ่งเป็นวิธีที่คนอินเดียใช้มาตั้งแต่โบราณ ก็ลองใช้น้ำมันมะพร้าวบ้วนปาก เพราะน้ำมันมะพร้าวช่วยทำความสะอาดช่องปากได้ดีไม่แพ้น้ำยาบ้วนปากเลย

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Comparison of antibacterial efficacy of coconut oil and chlorhexidine on Streptococcus mutans: An in vivo study. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5109859/. Accessed June 11, 2018.

Effect of coconut oil in plaque related gingivitis — A preliminary report. Accessed June 11, 2018. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4382606/. Accessed June 11, 2018.

COCONUT OIL. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-1092/coconut-oil. Accessed June 11, 2018.

Should You Try Oil Pulling?. https://www.webmd.com/oral-health/features/oil-pulling. Accessed June 11, 2018.

เวอร์ชันปัจจุบัน

02/02/2021

เขียนโดย Sopista Kongchon

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Nattrakamol Chotevichean


บทความที่เกี่ยวข้อง

สุขภาพเหงือก เรื่องสำคัญของช่องปากที่ห้ามละเลย

สารพัด ปัญหาสุขภาพช่องปาก ที่มาจากการสูบบุหรี่


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 02/02/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา