backup og meta

ฟันแตก อาการ สาเหตุ การรักษา

ฟันแตก อาการ สาเหตุ การรักษา

ฟันแตก เป็นปัญหาสุขภาพฟัน ที่อาจเกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น การรับประทานอาหารที่แข็งจนเกินไป เคี้ยวน้ำแข็ง หรือมีอาการฟันร้าวอยู่แต่เดิม เป็นต้น ส่งผลให้มีอาการปวดฟัน เกิดอาการเสียวฟันเวลาเคี้ยวอาหาร และฟันบางส่วนหลุดออกมากได้

[embed-health-tool-heart-rate]

คำจำกัดความ

ฟันแตกคืออะไร

ฟันแตก คือ การแตกหักของฟันทั้งหมด หรือฟันบางส่วนแตกและหลุดร่วงออก โดยสามารถเกิดขึ้นได้กับฟันทุกซี่ เช่น ฟันหน้า ฟันกราม ฟันแท้ ฟันน้ำนม และพบได้บ่อยในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะร่างกายอาจขาดแคลเซียมเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุน ซึ่งเป็นภาวะที่ส่งผลให้ฟันที่เป็นส่วนหนึ่งของกระดูกเปราะบาง และแตกหักง่าย

นอกจากนี้ฟันแตกสามารถแบ่งออกเป็น 6 ประเภท ตามรอยร้าวของฟัน ได้แก่

  • รอยแตกบนฟันแนวเฉียง เป็นรอยแตกที่อาจก่อให้เกิดความเจ็บปวดในระดับเบา อยู่ตามผิวฟัน
  • รอยแตกใต้เหงือกแนวเฉียง คือ รอยแตกที่อาจอยู่ต่ำกว่าเหงือก อาจทำให้รู้สึกเจ็บปวดอย่างมาก
  • ฟันแตก เป็นการแตกที่แยกออกเป็น 2 ส่วน ซึ่งทันตแพทย์อาจรักษาได้เพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง และอาจต้องทำการรักษารากฟันร่วมด้วย
  • รากฟันแตก อาจไม่สามารถสังเกตรอยแตกนี้บนผิวฟันได้ เนื่องจากเป็นความเสียหายที่อยู่ลึกลงไปในรากฟัน ซึ่งอาจใช้การรักษาด้วยการถอนฟัน
  • พื้นผิวฟันแตก เป็นประเภทที่พื้นผิวฟันที่ช่วยในการบดเคี้ยวแตก มีรอยร้าว อาจเกิดขึ้นได้จากเทคนิคการอุดฟัน
  • รอยแตกในรากฟันแบบแนวตั้ง คือ รอยแตกที่เริ่มตั้งแต่บริเวณโคนฟัน จนสุดปลายราก ที่ค่อนข้างมีความยาว ส่งผลให้เกิดอาการปวดฟันและอาจจำเป็นต้องถอนออก

อาการ

อาการฟันแตก

อาการฟันแตกอาจเกิดขึ้นได้โดยไม่รู้ตัว โดยสามารถสังเกตได้จากสัญญาณเตือนเหล่านี้

  • รู้สึกปวดฟัน โดยเฉพาะขณะบดเคี้ยวอาหาร
  • เหงือกบวมรอบฟันที่แตก หรือมีรอยร้าว
  • เสียวฟัน เมื่อรับประทานอาหาร เครื่องดื่ม ขนม ที่มีรสชาติหวาน และมีอุณหภูมิที่เย็น หรือร้อนจัด

สาเหตุ

สาเหตุฟันแตก

สาเหตุที่ทำให้ฟันแตก มีดังนี้

  • กัดอาหาร เคี้ยวอาหารแรงเกินไป หรือกินอาหารที่มีลักษณะแข็งเป็นประจำ
  • พฤติกรรมการกัดฟัน
  • อุบัติเหตุจากแรงกระแทกที่กระทบกับฟัน ทำให้ฟันแตกร้าว
  • การอุดฟันที่ผ่านการเจาะโพรงฟันขนาดใหญ่ เพราะอาจทำให้โครงสร้างฟันเดิมเปราะบาง

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ฟันแตก

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ฟันแตกส่วนใหญ่มาจากการบดเคี้ยวอาหารที่มีลักษณะแข็งจนเกินไป เช่น น้ำแข็ง ลูกอม รวมถึงมีพฤติกรรมการเคี้ยวของแข็งหลายรอบซ้ำ ๆ จนนำไปสู่อาการฟันร้าว ฟันแตก

การวินิจฉัย และการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยอาการฟันแตก

ทันตแพทย์อาจสอบถามอาการปวดฟัน และทำการตรวจสุขภาพฟัน เพื่อตรวจสอบรอยร้าว การบิ่นของฟัน หรืออาจเอกซเรย์ช่องปาก เพื่อตรวจสอบรากฟันอย่างละเอียด

การรักษาฟันแตก

การรักษาฟันแตก อาจรักษาตามรอยร้าวของฟัน อาการ และสาเหตุที่คุณหมอวินิจฉัย โดยคุณหมออาจรักษาด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • อุดฟัน เป็นวิธีที่อาจเหมาะสำหรับฟันแตกในระดับเบา หากฟันที่แตกเป็นฟันที่เคยอุดไว้อยู่แล้ว คุณหมออาจทำการอุดฟันให้ใหม่ โดยคุณหมออาจต่อเติมด้วยการใช้วัสดุเรซินคอมโพสิต ที่มีสีคล้ายฟันธรรมชาติ และใช้แสงอัลตราไวโอเลตทำให้วัสดุแข็งตัว
  • การครอบฟัน หากมีปัญหาฟันชิ้นใหญ่แตกหัก คุณหมออาจใช้ฟันเทียมที่ทำจากวัสดุเรซิน เซรามิก ครอบลงไปปิดทับฟันเดิม บางกรณีที่อาจจำเป็นต้องทำการถอนฟันออกทั้งหมด โดยใช้เทคนิคการผ่าตัดฝังรากฟันเทียม และครอบฟันให้ดูเหมือนฟันธรรมชาติมากที่สุด
  • เคลือบฟัน หากบริเวณฟันหน้าแตกหัก หรือมีรอยบิ่น การเคลือบฟันด้วยวัสดุ พอร์ซเลน หรือเรซิน อาจช่วยทดแทนชิ้นส่วนฟันที่หายไปได้

หากยังไม่สะดวกเดินทางเข้าขอคำปรึกษาคุณหมอ อาจปฐมพยาบาลรักษาฟันแตกเบื้องต้น ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ
  • รับประทานยาบรรเทาอาการปวด เช่น อะเซตามิโนเฟน
  • หากรอยแตกหัก หรือขอบฟันจากรอยร้าวขูดผิวหนังในช่องปาก อาจปิดทับด้วยขี้ผึ้ง
  • รับประทานอาหารอ่อน ๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับฟันที่หักจนกว่าจะเข้าพบคุณหมอ

ในกรณีที่มีฟันหลุดออกมาภายในช่องปาก อาจสามารถเก็บฟัน หรือชิ้นส่วนฟันนั้น ๆ เพื่อเข้ารับขอคำปรึกษาทันตแพทย์เพิ่มเติม ว่าสามารถเชื่อมฟันเดิมกลับเข้าไปได้ใหม่หรือไม่

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันฟันแตก

การปรับพฤติกรรมบางอย่างดังต่อไปนี้ อาจช่วยบรรเทาอาการฟันแตก หรือป้องกันไม่ให้ฟันแตกมากขึ้น

  • หลีกเลี่ยงอาหารแข็งที่บดเคี้ยวยาก เช่น น้ำแข็ง เมล็ดข้าวโพดคั่ว ถั่ว
  • หยุดพฤติกรรมการกัดฟัน หรือกัดสิ่งของ
  • ใส่อุปกรณ์คลุมฟันเพื่อป้องกันการกระแทกเมื่อเล่นกีฬา หรือออกกำลังกาย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Chipped, broken or cracked tooth. https://www.nhs.uk/conditions/chipped-broken-or-cracked-tooth/. Accessed September 27, 2021

Repairing a Chipped or Broken Tooth. https://www.webmd.com/oral-health/guide/repairing-a-chipped-or-broken-tooth. Accessed September 27, 2021

Cracked tooth diagnosis and treatment: An alternative paradigm. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4439863/. Accessed September 27, 2021

Facts About Cracks in Teeth. https://journals.sagepub.com/doi/full/10.1177/2050168420980987. Accessed September 27, 2021

Calcium Supplements: Should You Take Them? https://www.hopkinsmedicine.org/health/wellness-and-prevention/calcium-supplements-should-you-take-them. Accessed September 27, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

04/11/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

คุณแม่ตั้งท้องไปทำฟัน มีความเสี่ยงต่อสุขภาพหรือไม่

ฟันโยก สาเหตุ วิธีรักษาและป้องกัน


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 04/11/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา