backup og meta

ฟันโยก สาเหตุ วิธีรักษาและป้องกัน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 25/09/2021

    ฟันโยก สาเหตุ วิธีรักษาและป้องกัน

    ฟันโยก เป็นอาการที่สามารถพบได้ทั่วไปในเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่ฟันน้ำนมเริ่มทยอยหลุดออกไป เพื่อให้ฟันแท้ขึ้นมาแทนที่ ก็อาจเจอปัญหาฟันน้ำนมโยกได้ แต่หากปัญหาฟันโยกเกิดขึ้นในผู้ใหญ่ที่มีฟันแท้ครบแล้ว อาจเป็นสัญญาณของโรคเหงือก และฟัน ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และหากพบปัญหาจะได้รักษาอย่างทันท่วงที

    สาเหตุของฟันโยก 

    สาเหตุของฟันโยก อาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • โรคเหงือกอักเสบ ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของฟันโยก โดยโรคเหงือกอักเสบ หรือโรคปริทันต์อักเสบ (Periodontal disease) เกิดจากคราบจุลินทรีย์สะสมในบริเวณขอบเหงือกและกลายเป็นคราบแข็งเรียกว่า “หินปูน’ ซึ่งเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคและแบคทีเรียที่อาจทำร้ายเหงือกและฟันได้ หากสะสมเป็นเวลานาน
  • โรคกระดูกพรุน โรคที่ทำให้กระดูกเปราะบาง ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลง และถ้าหากมวลกระดูกขากรรไกรหนาแน่นน้อยลง อาจทำให้ฟันโยก และหลุดออกมาได้
  • การตั้งครรภ์ ระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ อาจส่งผลต่อกระดูกและเนื้อเยื่อในปาก จนทำให้เกิดโรคเหงือกอักเสบได้ อย่างไรก็ดี กรณีนี้ มักเป็นเพียงชั่วคราวไม่ถึงกับทำให้ฟันหลุด
  • การบาดเจ็บจากแรงกระแทกที่ส่งผลต่อฟัน เช่น การหกล้ม การตกจากที่สูง อาจทำให้เนื้อเยื่อ และกระดูกรอบ ๆ ฟันเสียหายได้ นอกจากนี้ การนอนกัดฟันที่อาจเกิดจากความเครียด หรือฟันเรียงตัวผิดปกติ ก็อาจทำให้ฟันสึกและโยกได้เช่นกัน
  • การรักษาฟันโยก 

    ทันตแพทย์จะวินิจฉัยสาเหตุ และรักษาอาการฟันโยก โดยอาจใช้วิธีดังต่อไปนี้

    • การขูดหินปูน เพื่อขจัดคราบพลัคที่สะสมอยู่ตามซอกฟัน และบริเวณฐานฟัน ทันตแพทย์อาจฉีดยาชาก่อน เพื่อลดอาการเจ็บปวดระหว่างขูดหินปูน รวมถึงให้ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย หรือยาแก้อักเสบเพื่อรักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย และอาจให้ยาพาราเซตามอล หรือไอบูโพรเฟนเพื่อระงับอาการปวดหลังจากขูดหินปูน
    • การใช้เฝือกสบฟัน เพื่อช่วยกระจายแรงสบฟันอย่างเหมาะสม จึงช่วยลดแรงกระแทกที่กล้ามเนื้อบดเคี้ยวและข้อต่อขากรรไกร รวมถึงอาจช่วยป้องกันฟันสึกจากการนอนกัดฟันได้ด้วย
    • การปลูกถ่ายกระดูก อาจใช้กระดูกสังเคราะห์ หรือกระดูกของผู้ป่วย ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทันตแพทย์ ซึ่งวิธีนี้มักใช้ในกรณีที่มีกระดูกขากรรไกรไม่สมบูรณ์
    • การผ่าตัด ใช้ในกรณีรุนแรง ซึ่งมีหลายวิธี เช่น การผ่าตัดเหงือก การกรอแต่งกระดูก การร่นเหงือก การผ่าตัดเพื่อขูดหินปูนบนผิวรากฟันที่ลึกมาก ๆ

    วิธีป้องกัน ฟันโยก

    วิธีป้องกันไม่ให้ฟันโยก อาจทำได้ดังนี้

    • แปรงฟันให้ถูกวิธี อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์บนฟัน ป้องกันโรคฟันผุ และโรคเหงือกอักเสบ ควรใช้แปรงสีฟันที่ขนนุ่ม ช่วยถนอมเหงือกและฟัน และควรเปลี่ยนแปรงใหม่ทุก ๆ 3 เดือน
    • ใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ เพื่อขจัดคราบพลัคระหว่างซอกฟันที่แปรงสีฟันเข้าไม่ถึง
    • รับประทานอาหารที่อุดมด้วยแคลเซียมและวิตามินดี เพราะอาจช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน
    • ใส่ยางครอบฟัน เช่น ในขณะนอนหลับ เพื่อป้องกันการกัดฟันโดยตรง หรือในขณะเล่นกีฬาที่เสี่ยงเกิดการปะทะ
    • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะอาจทำให้เกิดคราบพลัค รวมถึงอาจทำให้ฟันเหลือง มีกลิ่นปาก และฟันผุ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่การทำให้ฟันโยกได้
    • พบทันตแพทย์เป็นประจำ อย่างน้อยทุก ๆ 6 เดือน หรือ 1 ปี เพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 25/09/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา