อุดฟัน เป็นวิธีการรักษาฟันผุ ฟันแตก ฟันบิ่น โดยใช้วัสดุอุดฟัน เช่น อมัลกัม เรซินคอมโพสิต มาอุดเพื่อทดแทนเนื้อฟันที่เสียหาย ทำให้ฟันที่มีปัญหากลับมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับรูปฟันดั้งเดิม
อุดฟัน คืออะไร
อุดฟัน เป็นวิธีบูรณะฟันรูปแบบหนึ่ง โดยการใช้วัสดุในการอุดรูโพรงฟันที่เสียหาย เช่น ฟันผุ อุบัติเหตุ การใช้งานที่ไม่ถูกต้อง เช่น กัดเล็บ กัดฟัน กัดของแข็ง จนฟันแตก ฟันบิ่น เพื่อให้ฟันมีรูปทรงดังเดิม หรือคล้ายเดิมที่สุดเพื่อให้ฟันสามารถกัด เคี้ยวอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประเภทของวัสดุอุดฟัน
ในปัจจุบันมีวัสดุอุดฟันหลากหลายประเภท โดยทันตแพทย์จะเลือกใช้วัสดุอุดฟันประเภทใดขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ขนาด ตำแหน่งที่ต้องการอุด คุณสมบัติของวัสดุอุดฟัน โดยวัสดุอุดฟันที่นิยมใช้ อาจมีดังต่อไปนี้
อมัลกัม (Amalgam)
อมัลกัม หรือโลหะเข้าปรอท เป็นโลหะผสมที่ได้จากการผสมปรอทกับโลหะอื่น ๆ เช่น เงิน ทองแดง ดีบุก สังกะสี แต่ที่นิยมใช้อุดฟัน คือ โลหะผสมเงิน-ดีบุก ที่นำมาผสมกับปรอท เรียกว่า เงิน-ดีบุก อมัลกัม (Silver-tin amalgam) โดยทันตแพทย์จะผสมผงเงิน-ดีบุกกับปรอทให้อยู่ในลักษณะนุ่ม ปั้นได้ แล้วนำมาอุดในโพรงฟัน แล้วทิ้งไว้สักพักให้แข็งตัว นิยมใช้ในบริเวณที่มองเห็นได้ยาก เช่น ฟันหลัง โดยอมัลกัมไม่เหมาะกับอุดฟันหน้า เพราะสีและเนื้อแตกต่างกับฟัน อาจทำให้รู้สึกไม่มั่นใจขณะพูด หรืออ้าปาก
อมัลกัมเป็นวัสดุอุดฟันที่แข็งแรง ราคาไม่แพง และสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย แต่หากเป็นหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร หรือเด็ก ทันตแพทย์อาจหลีกเลี่ยงอุดฟันด้วยวัสดุนี้ เนื่องจากการสัมผัสกับสารปรอท อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
เรซินคอมโพสิต (Composite Resin)
เรซินคอมโพสิต บางครั้งเรียกว่า คอมโพสิตเรซิน วัสดุอุดฟันแบบฉายแสง เป็นวัสดุจำพวกพลาสติก มีสีขาว หรือสีเหมือนเนื้อฟัน เมื่ออุดฟัน จะทำให้รู้สึกดูเป็นธรรมชาติมากกว่าอมัลกัม นิยมใช้ในการอุดโพรงฟันขนาดเล็ก
แต่ข้อเสียคือ ราคาค่อนข้างแพงกว่าอมัลกัม อาจไม่เหมาะกับการใช้อุดฟันหลัง เพราะฟันซี่เหล่านั้นต้องถูกบดทับค่อนข้างมาก หากใช้วัสดุนี้อุดฟันหลัง อาจมีอายุการใช้งานไม่นานนัก โดยทั่วไปมีความคงทนประมาณ 3-10 ปี นอกจากนี้ เรซินคอมโพสิตยังอาจดูดซึมสีของอาหารและเครื่องดื่มที่มีสีเข้ม เช่น ชา กาแฟ ไวน์ รวมถึงคราบบุหรี่ได้ค่อนข้างง่าย
กลาสไอโอโนเมอร์ซีเมนต์ (Glass Ionomer Cement)
กลาสไอโอโนเมอร์ หรือกลาสไอโอโนเมอร์ซีเมนต์ เป็นวัสดุอุดฟันที่มีสีขาวคล้ายเรซินคอมโพสิต แต่มีความโปร่งแสงมากกว่า ข้อดีของกลาสไอโอโนเมอร์คือ สามารถปล่อยฟลูออไรด์ออกมาเพื่อช่วยป้องกันฟันผุในอนาคต และลดอาการเสียวฟันได้ แต่ข้อเสียคือ ไม่เหมาะกับการใช้อุดฟันซี่ที่ได้รับแรงกดทับมาก หรือฟันน้ำนม เพราะอาจไม่แข็งแรงทนทานเท่าวัสดุอุดฟันชนิดอื่น ๆ โดยอายุการใช้งานของกลาสไอโอโนเมอร์จะอยู่ที่ประมาณ 5 ปี
ทองและพอร์ซเลน
อุดฟันด้วยทองและพอร์ซเลน จำเป็นต้องเตรียมหรือขึ้นรูปในห้องปฏิบัติการ ก่อนทันตแพทย์จะทำไปอุดฟันตัวฟันบริเวณที่ต้องการ ข้อดีของอุดฟันด้วยทองคำคือ แข็งแรงทนทาน ทนการสึกกร่อนได้ดี ส่วนใหญ่มีอายุการใช้งานอยู่ที่ประมาณ 15-20 ปี และไม่เป็นพิษต่อร่างกาย แต่ราคาก็สูงมาก อีกทั้งทองยังเป็นโลหะที่นำความร้อนและความเย็น จึงอาจทำให้ระคายเคืองได้
ส่วนพอร์ซเลน เป็นวัสดุอุดฟันจำพวกเซรามิก ซึ่งแข็งและเปราะมาก จึงไม่เหมาะกับการใช้อุดฟันคู่สบ หรือฟันบดเคี้ยว เช่น ฟันกราม เพราะอาจทำให้สึกกร่อนได้ง่าย ทั้งยังมีราคาแพงพอ ๆ กับอุดฟันด้วยทองคำ แต่ข้อดีคือ ทนทานต่อคราบชา กาแฟ จึงอาจเปลี่ยนสีได้ยาก และสามารถใช้อุดฟันในพื้นที่ใหญ่ ๆ ได้ ในปัจจุบันอุดฟันด้วยทองและพอร์ซเลนไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าใดนัก เนื่องจากในปัจจุบันมีวัสดุอุดฟันที่มีคุณสมบัติหลากหลาย และราคาถูกกว่า
ขั้นตอนอุดฟัน
ทันตแพทย์อาจจะอุดฟัน ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
- ตรวจสุขภาพฟันว่าฟันเสียหายมากน้อยแค่ไหน และต้องอุดฟันซี่ใดบ้าง
- ฉีดยาชาเฉพาะที่ทางทันตกรรม (Local Anesthetics) ตรงบริเวณฟันซี่ที่ต้องการอุดฟัน
- กำจัดเนื้อฟันที่เสียหาย หรือเนื้อฟันที่ผุออก โดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ เช่น เครื่องเจาะฟัน (Drill) เครื่องมือเป่าลม (Air abrasion) หรือเลเซอร์
- ตรวจสอบว่ากำจัดเนื้อฟันที่ผุออกหมดหรือยัง หากยังมีฟันผุเหลืออยู่ทันตแพทย์จะทำการกำจัดให้หมด
- หากเห็นว่าไม่มีฟันผุเหลือแล้ว ทันตแพทย์จะกำจัดแบคทีเรียและคราบจุลินทรีย์ เพื่อเตรียมพื้นที่ให้พร้อมสำหรับการอุดฟัน
- หากฟันผุใกล้รากฟัน ทันตแพทย์จะรองพื้นฟันด้วยวัสดุรองพื้น (Liner) ที่ทำจากกลาสไอโอโนเมอร์ (Glass Ionomer Cement) เรซินคอมโพสิต (Composite Resin) หรืออื่น ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เส้นประสาทฟันเสียหายขณะฉีดวัสดุอุดฟัน
- อุดฟันด้วยวัสดุอุดฟัน เช่น อมัลกัม เรซินคอมโพสิต กลาสไอโอโนเมอร์ซีเมนต์
- ขัดแต่งผิวฟัน ให้เสมือนรูปทรงของฟัน เพื่อให้สามารถกัด เคี้ยวอาหารได้เหมือนปกติ ไม่ให้รู้สึกว่าฟันสูง หรือต่ำเกินไป
หากอุดฟันแบบสีเหมือนฟัน ทันตแพทย์จะใส่วัสดุอุดฟันและฉายแสงทีละชั้น เพื่อให้วัสดุอุดฟันแข็งขึ้น เมื่อใส่วัสดุอุดฟันครบตามปริมาณในฟันที่เสียหายแล้ว จึงขัดแต่งผิวฟันตามปกติ
ความเสี่ยงในการอุดฟัน
หลังจากอุดฟัน ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการเสียวฟัน โดยเฉพาะเมื่อมีแรงกดทับที่ฟัน สัมผัสของร้อน ของเย็น ความกดอากาศเปลี่ยนแปลง หรือกินอาหารรสหวาน โดยปกติ อาการเสียวฟันหลังอุดฟันจะหายภายใน 2-3 สัปดาห์ โดยไม่จำเป็นต้องกินยาแก้ปวด หรือใช้วิธีการรักษาเฉพาะ แต่ระหว่างนั้น ควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นอาการเสียวฟันแต่ถ้าหากอาการเสียวฟันไม่หายไปภายใน 2-3 สัปดาห์ หรือรู้สึกเสียวฟันมาก ควรรีบไปพบทันตแพทย์ทันที
ผู้ป่วยบางรายอาจเคี้ยวอาหารยากขึ้นหลังอุดฟัน หากเป็นเช่นนั้น แนะนำให้กลับไปพบทันตแพทย์ เพื่อให้ทันตแพทย์ปรับแต่งรูปทรงฟันใหม่ หรือหากมีอาการปวดหลังอุดฟันที่ไม่หายไปเองภายใน 2-3 สัปดาห์ควรเข้าพบทันตแพทย์เช่นกัน
บางคนอาจมีอาการแพ้วัสดุอุดฟัน เช่น แพ้เงิน ฉะนั้น หากมีอาการของปฏิกิริยาแพ้ เช่น ผื่นขึ้น คัน แนะนำให้ควรรีบเข้ารับการรักษาทันที เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะปฏิกิริยาแพ้รุนแรง
การดูแลสุขภาพช่องปากหลังอุดฟัน
หลังจากอุดฟัน การดูแลสุขภาพช่องปาก เพื่อให้ฟันที่อุดสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้อยู่ในสภาพคงทนได้นาน อาจทำได้ดังต่อไปนี้
- หลังจากอุดฟัน ยาชาอาจยังออกฤทธิ์ประมาณ 2-3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับปริมาณยาชา ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหาร งดดื่มเครื่องดื่มร้อน จนกว่ายาชาจะหมดฤทธิ์ เพราะอาการชาอาจทำให้กัดลิ้น กัดปาก รวมถึงของร้อนอาจลวกปากได้ เนื่องจากอาจไม่รู้สึกว่าร้อนเกินไป
- แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ด้วยยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์ และบ้วนปาก รวมถึงใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
- เมื่อเวลาผ่านไป ฟันที่อุดอาจแตก หรือสึกกร่อน อาจทำให้เศษอาหารเข้าไปติดในบริเวณนั้นได้ ควรเข้าพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำ โดยเฉพาะหากพบว่า ฟันที่อุดไปมีรอยสึกกร่อน หรือแตก