เหงือกบวม เป็นสัญญาณเตือนของปัญหาสุขภาพในช่องปาก เช่น โรคเหงือกอักเสบ การติดเชื้อ บางครั้งอาจนำไปสู่อาการเลือดออก และเจ็บเหงือก ปกติอาการเหงือกบวมอาจบรรเทาอาการได้ด้วยการรักษาสุขอนามัย ทำความสะอาดภายในช่องปากด้วยวิธีที่คุณหมอแนะนำ แต่หากไม่รักษาอาจทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น และเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้
คำจำกัดความ
เหงือกบวมคืออะไร
เหงือก คือ อวัยวะที่ประกอบไปด้วยเนื้อเยื่อหนาสีชมพู ซึ่งมีเส้นเลือดจำนวนมาก ช่วยยึดฟันให้ติดกับขากรรไกร เพื่อรองรับในการบดเคี้ยวอาหาร แต่เมื่อดูแลสุขภาพอนามัยช่องปากไม่ดี เช่น แปรงฟันไม่สะอาด สูบบุหรี่ ขาดสารอาหาร อาจทำให้คราบพลัคสะสมจนกลายเป็นหินปูน และนำไปสู่ปัญหาสุขภาพช่องปากอย่างอาการเหงือกอักเสบ เหงือกบวม มีกลิ่นปาก ซึ่งหากไม่ดูแลรักษาอย่างถูกวิธี อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงอย่างปัญหาฟันร่วง มะเร็งช่องปาก เป็นต้น
อาการ
อาการเหงือกบวม
อาการเหงือกบวม อาจมีสัญญาณเตือน ดังต่อไปนี้
- มีกลิ่นปาก
- เหงือกบวม
- เหงือกแดง
- เหงือกร่น
- เลือดออกตามแนวเหงือก โดยเฉพาะขณะแปรงฟัน หรือใช้ไหมขัดฟัน
สาเหตุ
สาเหตุเหงือกบวม
สาเหตุที่ทำให้เหงือกบวม อาจมีดังนี้
- คราบจุลินทรีย์บนฟัน คราบพลัคที่เกิดจากน้ำตาลในอาหารทำปฏิกิริยากับแบคทีเรีย และเกาะอยู่บนพื้นผิวฟัน อาจส่งผลให้เหงือกบวม ควรทำความสะอาดทุกวัน ด้วยการแปรงฟัน
- หินปูน เมื่อคราบจุลินทรีย์เกาะบนผิวฟันจนแข็งตัวเป็นหินปูน อาจขจัดออกได้ยาก และส่งผลให้ระคายเคืองบริเวณเหงือก
- เหงือกอักเสบ หากหินปูนและคราบพลัคอยู่ในช่องปากนานเกินไป อาจทำให้ส่วนเหงือกที่อยู่รอบฟันระคายเคือง นำไปสู่การอักเสบ เหงือกบวม มีเลือดออก และฟันผุ ซึ่งอาจลุกลามจนทำให้สูญเสียฟัน ฟันหัก ฟันร่วงได้ในที่สุด
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงเหงือกบวม
ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลให้เหงือกบวม ได้แก่
- พันธุกรรม
- อายุที่มากขึ้น
- การละเลยการรักษาสุขอนามัยในช่องปาก
- การขาดสารอาหาร เช่น ขาดวิตามินซี
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงการตั้งครรภ์ การใช้ยาคุมกำเนิด และช่วงมีรอบเดือน
- ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงจากโรค เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว การติดเชื้อเอชไอวี
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น เฟนิโทอิน (Phenytoin) แคลเซียมแชนเนลบล็อกเกอร์ (Calcium channel blockers)
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยเหงือกบวม
ทันตแพทย์อาจตรวจสุขภาพภายในช่องปากโดยรวมบริเวณฟัน เหงือก และลิ้น เพื่อหาคราบพลัคที่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เหงือกบวม และวัดความลึกของร่องเหงือก หากลึกกว่า 4 มิลลิเมตร อาจบ่งบอกได้ว่าผู้ป่วยกำลังเสี่ยงเป็นโรคเหงือก หากทันตแพทย์ประเมินว่าควรตรวจสุขภาพช่องปากอย่างละเอียด อาจใช้วิธีการเอกซเรย์ตรวจดูในส่วนที่มองเห็นได้ยาก
การรักษาเหงือกบวม
การรักษาเหงือกบวม
การรักษาเหงือกบวมอาจเป็นไปตามสาเหตุที่ทันตแพทย์ตรวจพบ เช่น การขูดหินปูน เพื่อขจัดคราบพลัคที่เป็นสาเหตุให้เหงือกบวม และอาจแนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดช่องปากอย่างเหมาะสม โดยมีรายละเอียดดังนี้
- เหงือกบวมจากการแพ้ยา คุณหมออาจแนะนำให้หยุดใช้ยาที่รับประทานอยู่หรือเปลี่ยนยา
- เหงือกกร่น ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง คุณหมออาจทำการผ่าตัดเหงือกโดยการนำเนื้อเยื่อบริเวณอื่นภายในปากมาปลูกถ่ายแทนเนื้อเยื่อส่วนที่ผิดปกติ
- หินปูน คุณหมอขูดหินปูนเพื่อกำจัดคราบพลัค ลดอาการเหงือกบวม เหงือกอักเสบ
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันอาการเหงือกบวม
เพื่อป้องกันอาการเหงือกบวม หรือลดความเสี่ยงเหงือกบวม อาจทำได้ดังนี้
- ควรแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ๆ ละ 2 นาที ในตอนเช้าและก่อนเข้านอน อีกทั้งควรใช้ไหมขัดฟันวันละ 1 ครั้ง เพราะการใช้ไหมขัดฟันอาจช่วยกำจัดเศษอาหารตามซอกฟัน และขจัดแบคทีเรียได้ดีขึ้น
- เลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดช่องปากที่อ่อนโยน เช่น ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เพราะอาจก่อให้เกิดการสะสมแบคทีเรียในปาก
- รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ และหลีกเลี่ยงอาหารแข็ง หรืออาหารที่อาจเข้าไปติดตามซอกฟัน เช่น มันฝรั่งทอด ธัญพืช
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจก่อให้เกิดระคายเคือง
- เข้ารับการตรวจสุขภาพในช่องปากเป็นประจำ ทุก ๆ 6-12 เดือน
[embed-health-tool-bmi]