backup og meta

เหงือกบวมรอบฟันซี่เดียว เกิดจากอะไร และมีวิธีจัดการอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 04/12/2020

    เหงือกบวมรอบฟันซี่เดียว เกิดจากอะไร และมีวิธีจัดการอย่างไร

    ปัญหาเหงือกอักเสบ เป็นปัญหาสุขภาพช่องปากที่พบได้บ่อย บางครั้งอาจจะมีปัญหา เหงือกบวมรอบฟันซี่เดียว ซึ่งเหงือกอักเสบรูปแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ต่างกันไป วันนี้ Hello คุณหมอ จะชวนคุณไปหาคำตอบว่ามีสาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้เกิดปัญหาเหงือกบวมรอบฟันซี่เดียว ไปอ่านกันเลยค่ะ

    ปัญหา เหงือกบวมรอบฟันซี่เดียว เกิดจากอะไร

    ปัญหาเหงือกบวมรอบฟันซี่เดียวนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น มีสุขอนามัยช่องปากที่ไม่ดี นอกจากนี้แล้วยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีกมากมาย ดังนี้

    ปัญหาสุขอนามัยช่องปากไม่ดี

    ปัญหาสุขอนามัยช่องปากไม่ดีถือเป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้เหงือกมีอาการบวมและอักเสบได้ หากมีการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากที่ไม่ดี มีเศษอาหารติดอยู่ตามร่องฟันและขอบเหงือก อาจทำให้เกิดปัญหาฟันผุและโรคเหงือกได้

    โรคเหงือก

    เมื่อแบคทีเรียในช่องปาก เกิดการติดเชื้อที่เหงือกรอบ ๆ ฟัน อาจทำให้เกิดการอักเสบ จนทำให้เกิดโรคปริทันต์ได้ ซึ่งการติดเชื้อเหล่านี้ เกิดขึ้นเมื่อมีคราบจุลินทรีย์สะสม เมื่อคราบจุลินทรีย์แข็งตัว ก็จะกลายเป็นหินปูนซึ่งยากต่อการกำจัดซึ่งจะมีสัญญาณและอาการคือ เหงือกอ่อน เหงือกมีเลือดออก เสียวฟัน ฟันโยก

    ฝีหนองที่รากฟัน

    ฝีหนองที่ฟัน คือการสะสมของหนองที่เกิดขึ้นภายในรากฟันหรือโครงสร้างรอบ ๆ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ปัญหาเหล่านี้ทำให้เหงือกบวมแดงรอบ ๆ ฟันได้ นอกจากนี้ยังมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น

  • อาการปวดอย่างรุนแรงบริเวณฟันและเหงือก
  • ปวดบริเวณหู กรามและคอ
  • ฟันเปลี่ยนสีหรือหลวม
  • ใบหน้าแดงและบวม
  • ความไวต่ออาหารหรือเครื่องดื่มร้อนและเย็น
  • มีกลิ่นปาก
  • รสชาติที่ไม่พึงประสงค์ในปาก
  • นอกจากนี้หากฝีในช่องปากมีอาการรุนแรง อาจทำให้มีไข้ รู้สึกไม่สบายตัว กลืนลำบาก บางครั้งอาจมีปัญหาในการหายใจ

    วิธีจัดการปัญหา เหงือกบวมรอบฟันซี่เดียว ด้วยตัวคุณเองที่บ้าน

    ใช้น้ำยาบ้วนปาก

    การใช้น้ำยาบ้วนปากนั้นไม่สามารถขจัดคราบจุลินทรีย์และคราบหินปูนที่เกาะอยู่ตามฟันได้ แต่การใช้น้ำยาบ้วนปากช่วยควบคุมการสะสมของแบคทีเรียจากคราบจุลินทรีย์ได้

    ใช้สมุนไพร

    จากการศึกษาในปี ค.ศ. 2014 พบว่ายาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของน้ำมันจากต้นทีทรี (Tea tree oil) กานพลู และโหระพา พบว่าส่วนผสมเหล่านี้มีส่วนช่วยในการต้านการอักเสบและเชื้อแบคทีเรีย

    บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ

    การศึกษาในปี ค.ศ. 2016 พบว่าการล้างด้วยน้ำเกลือ มีประสิทธิภาพในการจัดการกับปัญหาการอักเสบของเหงือกที่เกิดจากเหงือกอักเสบ (Gingivitis) โดยการผสมเกลือ 1/2 ช้อนชากับน้ำอุ่น 8 ออนซ์ กลัวน้ำเกลือให้ทั่วปากเป็นเวลา 30 วินาทีก่อนที่จะบ้วนออกมา ทำวันละสองถึงสามครั้ง

    เจลขมิ้น

    จากการศึกษาในปี ค.ศ. 2015 พบว่าการใช้เจลขมิ้นทาที่เหงือก มีส่วนช่วยป้องกันคราบจุลินทรีย์และโรคเหงือกอักเสบได้ โดยทาทิ้งไว้นาน 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำเปล่า ทาวันละ 2 ครั้งหลังแปรงฟัน

    อาการแบบนี้ถึงเวลาพบคุณหมอแล้วนะ

    นอกจากการแปรงฟัน ใช้ไหมขัดฟันแล้ว การไปพบคุณทันตแพทย์เป็นประจำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ถือเป็นวิธีการดูแลสุขภาพช่องปากที่ดี แต่เมื่อไรก็ตามที่คุณมีปัญหา

    • เหงือกบวม เลือดออกที่เหงือก
    • มีอาการปวดกราม
    • เคี้ยวและกลืนลำบาก
    • มีอาการปวดและบวมที่ใบหน้าและลำคอ
    • ควรรีบเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจดูอาการในทันที

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 04/12/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา