backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

เปลือกตาอักเสบ (Blepharitis)

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 01/11/2022

เปลือกตาอักเสบ (Blepharitis)

ปัญหาของสุขภาพตาที่คนส่วนใหญ่มักเผชิญไม่ได้มีเพียงแค่ ต้อหิน ต้อกระจก สายตาสั้น สายตายาว เสมอไป ยังมีภาวะอื่นที่อาจส่งผลกระทบต่อการมองเห็น อย่าง เปลือกตาอักเสบ ด้วยเช่นกัน แต่จะภาวะนี้เกิดจากสาเหตุ หรือปัจจัยใดบ้างนั้น ติดตามได้ในบทความของ Hello คุณหมอ ที่นำมาฝากทุกคนกันได้เลยค่ะ

คำจำกัดความ

เปลือกตาอักเสบ คืออะไร

เปลือกตาอักเสบ (Blepharitis) คืออาการอักเสบบริเวณรอยพับของผิวหนังที่ปกคลุมดวงตา หรือเรียกง่าย ๆ ว่า เปลือกตา เกิดจากการที่ต่อมน้ำมันโคนขนตาอุดตันเนื่องจากสิ่งสกปรก ส่งผลให้เกิดอาการระคายเคือง จนเปลือกตาอักเสบ และมีอาการบวม ภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นกับเปลือกตาข้างใดก็ได้ และสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ

  1. อาการอักเสบบริเวณเปลือกตาด้านนอก เป็นการอักเสบของเปลือกตาด้านนอกส่วนที่ใกล้กับขนตา
  2. อาการอักเสบบริเวณเปลือกตาด้านใน เป็นการอักเสบของเปลือกตาด้านในส่วนที่ใกล้กับดวงตามากที่สุด

เปลือกตาอักเสบพบได้บ่อยแค่ไหน

ภาวะเปลือกตาอักเสบ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย เมื่อต่อมน้ำมันมีการอุดตัน ดังนั้นทางที่ดีที่สุด คุณสามารถเข้ารับการตรวจอย่างละเอียดจากจักษุแพทย์ได้ เพื่อขอคำแนะนำการรักษาได้อย่างเหมาะสม

อาการ

อาการของเปลือกตาอักเสบ

สัญญาณเตือนของภาวะ เปลือกตาอักเสบ มักสังเกตได้ง่าย จากอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • อาการคันบริเวณเปลือกตา
  • เปลือกตาบวมแดง
  • รู้สึกแสบร้อนภายในดวงตา
  • ตาแดง
  • น้ำตาไหลตลอดเวลา
  • ดวงตาไวต่อแสง
  • ขี้ตาเกรอะ
  • ดวงตาพร่ามัว
  • เปลือกตามันเยิ้ม

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

หากคุณรู้สึกมีอาการปวดที่ดวงตา มีขี้ตาเยอะ และมีอาการตาบวม โดยไม่มีท่าทีว่าอาการเหล่านี้จะดีขึ้น ควรเร่งเข้ารับการรักษาในทันที เพราะสัญญาณเตือนเหล่านี้อาจหมายความได้ว่าคุณกำลังเริ่มมีการติดเชื้ออย่างรุนแรง

สาเหตุ

สาเหตุของ ภาวะเปลือกตาอักเสบ 

ถึงแม้ว่าโดยส่วนใหญ่แล้ว ภาวะเปลือกตาอักเสบ จะเกิดขึ้นจากการอุดตันของต่อมน้ำมัน แต่สาเหตุอื่น ๆ ดังต่อไปนี้ ก็อาจทำให้เกิด ภาวะเปลือกตาอักเสบ ได้เช่นเดียวกัน

  • ภาวะตาแห้ง
  • ไรขนตา
  • อาการแพ้ต่อสิ่งต่าง ๆ ที่คุณนำมาสัมผัสกับเปลือกตา เช่น เครื่องสำอาง สารละลายจากคอนแทคเลนส์
  • ผลข้างเคียงจากโรคผิวหนังอักเสบ
  • ปัญหาทางด้านฮอร์โมน
  • การติดเชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรีย

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของ ภาวะเปลือกตาอักเสบ

  • ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับตา เช่น ขนตาขึ้นผิดทิศทาง ขนตาหลุด
  • ปัญหาผิวบริเวณเปลือกตา ที่อาจก่อให้เกิดแผล หรือจากภาวะเปลือกตาม้วนเข้า
  • การบาดเจ็บบริเวณกระจกตา
  • การติดเชื้อบริเวณโคนขนตา ที่อาจทำให้ตาขาวอักเสบ

การวินิจฉัย และการรักษาโรค

ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัย ภาวะเปลือกตาอักเสบ

แพทย์อาจใช้เครื่องมือเฉพาะสำหรับการตรวจดวงตามาตรวจเช็กบริเวณเปลือกตา และความผิดปกติภายในดวงตาของคุณเพื่อหาสิ่งแปลกปลอมที่อาจทำให้คุณมีอาการเปลือกตาอักเสบ ในบางกรณีอาจก็อาจต้องต้องเก็บตัวอย่างน้ำมันบนเปลือกตา และเซลล์ผิวหนังที่อยู่บริเวณโคนขนตา ไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อมองหาเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุทำให้คุณเกิดการระคายเคือง

การรักษา ภาวะเปลือกตาอักเสบ

ในเบื้องต้น คุณอาจต้องหมั่นล้างทำความสะอาดดวงตา และรอบ ๆ ดวงตา พร้อมกับประคบอุ่นไว้ แต่หากยังมีอาการไม่ดีขึ้น ควรเร่งเข้ารับการรักษาจากแพทย์ในทันที โดยอาจใช้วิธีการรักษา ดังต่อไปนี้

  • ใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อต้านการติดเชื้อจากแบคทีเรีย ส่วนใหญ่มักมาในรูปแบบของยาหยอดตา ครีม และขี้ผึ้ง
  • ใช้ยาลดการอักเสบชนิดสเตียรอยด์ สำหรับในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะ
  • หากคุณมี ภาวะเปลือกตาอักเสบ ที่เป็นผลข้างเคียงมาจากโรคอื่น ๆ เช่น โรคผิวหนัง แพทย์อาจทำการตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัดอีกครั้ง จะได้ทำการรักษาภาวะที่เป็นสาเหตุของเปลือกตาอักเสบได้อย่างถูกต้อง

    ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

    การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองที่ช่วยรับมือกับเปลือกตาอักเสบ

    ถึงแม้คุณจะรักษา ภาวะเปลือกตาอักเสบ ให้หายไปแล้ว แต่ถ้าคุณมีการดูแลความสะอาดที่ไม่ดี หรือไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ก็อาจทำให้อาการเหล่านี้หวนกลับมาได้อีกครั้ง โดยสิ่งที่คุณจำเป็นต้องเริ่มปฏิบัตินั้น มีดังนี้

    • หมั่นดูแลรักษาความสะอาดของเปลือกตา
    • ทำความสะอาดเครื่องสำอางรอบดวงตาให้หมด ด้วยผลิตภัณฑ์ขจัดคราบสำหรับใช้รอบดวงตา
    • เปลี่ยนผลิตภัณฑ์ที่ใช้อยู่เพราะอาจมีสารเคมีที่สร้างความระคายเคืองให้เปลือกตา
    • นำผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดเปลือกตา หรือถูขจัดคราบน้ำมันบนเปลือกตาเบา ๆ เป็นประจำ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 01/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา