backup og meta

ผลข้างเคียงยาคุมฉุกเฉิน ที่ควรรู้ก่อนใช้งาน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์ · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 28/02/2023

    ผลข้างเคียงยาคุมฉุกเฉิน ที่ควรรู้ก่อนใช้งาน

    ยาคุมฉุกเฉิน เป็นยาคุมกำเนิดที่ใช้เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์สำหรับผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ผู้ที่ลืมรับประทานยาคุมกำเนิดตามกำหนด หรือถุงยางอนามัยที่ใช้แตก ควรใช้ในกรณีที่จำเป็นเท่านั้นและไม่ควรใช้บ่อย เนื่องจากยาคุมฉุกเฉินมีฮอร์โมนสูงกว่ายาคุมชนิดอื่น ผลข้างเคียงยาคุมฉุกเฉิน จึงอาจรุนแรงกว่ายาคุมกำเนิดชนิดอื่น ยาคุมฉุกเฉินอาจมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์น้อยกว่าการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดอื่น โดยอาจป้องกันการตั้งครรภ์ได้ประมาณ 75-85% เมื่อรับประทานภายใน 72 ชั่วโมง หรือ 3 วัน และภายใน 150 ชั่วโมง หรือ 5 วัน ขึ้นอยู่กับชนิดของยา อย่างไรก็ตาม หากรับประทานยาคุมฉุกเฉินแล้วมีผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง ควรรีบเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

    การทำงานของยาคุมฉุกเฉิน

    ยาคุมฉุกเฉินประเภทรับประทาน สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

  • ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) เป็นยาในกลุ่มโปรเจสติน (Progestins) ซึ่งเป็นฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) สังเคราะห์ ลีโวนอร์เจสเตรลช่วยยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนตามธรรมชาติ ชะลอการตกไข่ ทำให้มูกมดลูกหนาขึ้น และทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางลง ส่งผลให้ตัวอ่อนฝังตัวได้ยากขึ้น ควรรีบกินยาชนิดนี้ให้เร็วที่สุด หรือภายใน 72 ชั่วโมง (3 วัน) หลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน
  • ยูริพริสทอล อะซิเตท (Ulipristal acetate) ช่วยชะลอการทำงานของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ส่งผลให้ตกไข่ช้าลง ควรรีบกินยาชนิดนี้ให้เร็วที่สุด หรือภายใน 120 ชั่วโมง (5 วัน) หลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน
  • ยาคุม 2 ชนิดนี้สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ประมาณ 75-85% ทั้งนี้ ประสิทธิภาพของยาอาจขึ้นอยู่กับความเร็วในการกินยาหลังมีเพศสัมพันธ์ ยิ่งกินยาเร็วเท่าไหร่ก็อาจยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ได้มากขึ้นเท่านั้น ควรรีบกินยาคุมฉุกเฉินให้เร็วที่สุดภายใน 3-5 วัน (72-150 ชั่วโมง) หลังมีเพศสัมพันธ์ ยาอาจใช้ไม่ได้ผลหากรับประทานล่าช้าเกิน 96 ชั่วโมงหลังการมีเพศสัมพันธ์

    ผลข้างเคียงยาคุมฉุกเฉิน

    ผลข้างเคียงของการกินยาคุมฉุกเฉิน อาจมีดังนี้

    • วิงเวียนศีรษะ
    • ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
    • คัดตึงเต้านม
    • คลื่นไส้ อาเจียน
    • ปวดท้อง
    • อาจมีเลือดออกในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน อาการนี้อาจหายไปเองเมื่อมีประจำเดือนรอบต่อไป แต่หากมีเลือดออกมาก หรืออาการไม่ดีขึ้น ควรเข้าพบคุณหมอทันที
    • ประจำเดือนผิดปกติ เช่น ประจำเดือนมามากหรือมาน้อยกว่าปกติ ประจำเดือนมาเร็วหรือช้ากว่ากำหนด
    • ปวดท้องประจำเดือนรุนแรงขึ้น
    • เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก ซึ่งอาจสังเกตได้จากอาการปวดท้องน้อยเฉียบพลัน

    วิธีลด ผลข้างเคียงยาคุมฉุกเฉิน

    ผลข้างเคียงยาคุมฉุกเฉินบางประการอาจบรรเทาได้ด้วยการดูแลตัวเอง เช่น อาการปวดศีรษะ อาจรักษาได้ด้วยการนอนหลับให้มากขึ้นร่วมกับการรับประทานยาแก้ปวดที่ซื้อได้ตามร้านขายยา เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) นาพรอกเซน (Naproxen) ซึ่งเป็นยาในกลุ่มต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ เป็นเวลา 1-2 วัน หากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน จนไม่สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ อาจต้องใช้วิธีการรับประทานอาหารหลายมื้อต่อวัน โดยลดปริมาณอาหารแต่ละมื้อลง เพื่อให้ย่อยได้ง่ายขึ้น และได้รับสารอาหารเพียงพอ

    เมื่อไหร่ควรเข้าพบคุณหมอ

    โดยทั่วไป ผลข้างเคียงยาคุมฉุกเฉิน มักหายไปภายใน 1-2 วัน แต่หากอาการที่เกิดขึ้นไม่หายไป มีอาการแย่ลง หรือมีภาวะดังต่อไปนี้ ควรเข้าพบคุณหมอทันที

    • กังวลว่ายาคุมฉุกเฉินไม่ได้ผล หรือใช้ยาคุมฉุกเฉินผิดวิธี หรือสงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์
    • มีเลือดออกในช่วงที่ไม่ได้เป็นประจำเดือนมากกว่า 7 วัน อาจหมายถึงการแท้งลูก
    • ประจำเดือนรอบหลังจากรับประทานยาคุมฉุกเฉินมาช้ากว่า 7 วัน ซึ่งอาจหมายถึงการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่ได้ผล
    • ปวดท้องน้อย ซึ่งอาจเป็นสัญญาณการตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือในบางกรณี อาจมีเลือดออกผิดปกติด้วย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 28/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา