อย่างไรก็ตาม รอบเดือนของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน หลังจากเก็บข้อมูลรอบเดือนของตัวเองแล้ว ให้นำข้อมูลดังกล่าวมาคำนวณเพื่อหาระยะปลอดภัยดังนี้
- วันแรกที่สามารถตั้งครรภ์ได้ ให้นำระยะห่างระหว่างรอบเดือนที่สั้นที่สุด ไปลบด้วย 18 โดยผลลัพธ์ที่ได้ จะเท่ากับวันแรกที่มีโอกาสตั้งครรภ์ได้หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ยกตัวอย่างเช่น หากระยะสั้นสุดระหว่างรอบเดือนคือ 26 วัน ให้นำ 26 ไปลบด้วย 18 โดยผลลัพธ์จะเท่ากับ 8 และวันที่ 8 หลังจากวันแรกซึ่งมีรอบเดือน คือวันแรกที่สามารถตั้งครรภ์ได้ ส่วนวันก่อนหน้านั้น ถือเป็นระยะปลอดภัย
- วันสุดท้ายที่สามารถตั้งครรภ์ได้ ให้นำระยะห่างระหว่างรอบเดือนซึ่งยาวที่สุด ไปลบด้วย 11 โดยผลลัพธ์ที่ได้ จะเท่ากับวันสุดท้ายที่สามารถตั้งครรภ์ได้หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ยกตัวอย่างเช่น หากระยะยาวสุดระหว่างรอบเดือนคือ 32 วัน ให้นำ 32 ไปลบด้วย 11 ซึ่งผลจะเท่ากับ 21 และวันที่ 21 หลังจากการมีรอบเดือน ถือเป็นวันสุดท้ายที่สามารถตั้งครรภ์ได้ ส่วนวันหลังจากนั้น จะเป็นระยะปลอดภัย
การนับระยะปลอดภัยแบบ หน้า 7 หลัง 7 หมายถึงอะไร
สำหรับการนับหน้า 7 หลัง 7 หมายถึงระยะปลอดภัยก่อนและหลังมีประจำซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่มีประจำเดือนมาสม่ำเสมอและมีรอบเดือนในจำนวนวันที่เท่า ๆ กันในทุกเดือน ได้แก่
หน้า 7 คือ 7 วัน ก่อนวันที่ประจำเดือนมา
หลัง 7 คือ 7 วัน หลังจากวันแรกที่มีประจำเดือน
ยกตัวอย่างเช่น หากประจำเดือนมาวันที่ 8, 9, 10, 11 หน้า 7 จึงหมายถึง วันที่ 1-7 และหลัง 7 หมายถึง วันที่ 8-14 ระยะปลอดภัยจึงหมายถึงวันที่ 1-14 นั่นเอง
ปัจจุบันนี้มีแอปพลิเคชันจำนวนมากรวมทั้งเครื่องมือในเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่ช่วยในการคำนวนวันไข่ตก ทำให้สามารถทราบระยะปลอดภัยได้โดยมีความคลาดเคลื่อนน้อย ทำให้การคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ค่อนข้างได้ผล ในขณะเดียวกันก็เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการตั้งครรภ์ในการคำนวนระยะปลอดภัยและเลือกที่จะมีเพศสัมพันธ์ในช่วงอื่นแทนก็ได้เช่นเดียวกัน
ระยะปลอดภัย มีความเสี่ยงในการตั้งครรภ์หรือไม่
การคุมกำเนิดด้วยระยะปลอดภัย เหมาะกับผู้หญิงที่ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ เพราะหากประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ การนับระยะปลอดภัยอาจคลาดเคลื่อน และทำใหมีโอกาสเสี่ยงตั้งครรภ์ได้ โดยอัตราเสี่ยงในการตั้งครรภ์จากการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้อยู่ที่ประมาณ 24 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ หากพบว่าระยะห่างระหว่างรอบเดือนเปลี่ยนไปจากเดิม โดยเกิดได้จากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ ความเครียด อาการป่วย หรือการใช้ยาบางชนิด ควรปรับการนับวัน หรือคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นควบคู่
การคุมกำเนิดแบบวัดอุณหภูมิ
เพื่อลดความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ ผู้ที่เลือกคุมกำเนิดด้วยการนับระยะปลอดภัย อาจใช้วิธีคุมกำเนิดธรรมชาติแบบวัดอุณหภูมิร่างกายร่วมด้วย
ในการคุมกำเนิดวิธีนี้ จำเป็นต้องวัดอุณหภูมิของตัวเองสม่ำเสมอ แล้วบันทึกไว้ โดยให้วัดทันทีหลังตื่นนอนเวลาเดียวกันทุกวัน ก่อนเริ่มทำกิจกรรมต่างๆ (เพราะอาจมีผลต่ออุณหภูมิร่างกายได้) โดยพบว่าเมื่อเกิดการตกไข่อุณหภูมิร่างกายจะสูงขึ้นประมาณ 0.5 องศาเซลเซียส อันเป็นผลของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน หรือระหว่าง 36.1-37.2 องศาเซลเซียส จากระดับอุณหภูมิปกติประมาณ 35.5-36.6 องศาเซลเซียส
ทั้งนี้ ระยะปลอดภัยของการคุมกำเนิดแบบวัดอุณหภูมิ คือ หลังไข่ตกไปแล้ว 3 วัน ขณะที่การมีเพศสัมพันธ์ก่อนไข่ตกประมาณ 4 วัน จะมีโอกาสตั้งครรภ์สูง
การคุมกำเนิดด้วยการนับระยะปลอดภัย ไม่สามารถช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้น หากต้องการคุมกำเนิดพร้อมป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ควรสวมถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย