backup og meta

ตกขาวสีน้ำตาล เกิดจากอะไร รักษาได้อย่างไรบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 15/11/2023

    ตกขาวสีน้ำตาล เกิดจากอะไร รักษาได้อย่างไรบ้าง

    ตกขาวสีน้ำตาล หมายถึง การที่ตกขาวซึ่งปกติมีลักษณะเป็นเมือกสีขาวใสบริเวณช่องคลอดเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล มักเป็นสัญญานเตือนความผิดปกติบางอย่างของสุขภาพทางเพศ เช่น ถุงน้ำในรังไข่ การตั้งครรภ์นอกมดลูก โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพื่อความปลอดภัยควรเข้ารับการตรวจสุขภาพช่องคลอดโดยเร็วที่สุดเพื่อให้คุณหมอวินิจฉัยหาสาเหตุและรักษาได้อย่างตรงจุด

    ตกขาวสีน้ำตาล เกิดจากอะไร 

    ตกขาวสีน้ำตาลอาจเกิดจากหลายสาเหตุ ดังนี้

    1. ถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) เป็นความผิดปกติที่พบได้บ่อยในหญิงวัยเจริญพันธุ์ เนื่องจากมีฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) มากเกินไป จนส่งผลให้รังไข่เกิดการสะสมของเหลว และไม่สามารถปล่อยไข่ออกมาได้เมื่อถึงช่วงเวลาที่ไข่ตก โดยสามารถสังเกตได้จากการที่ประจำเดือนมาน้อยกว่าปกติ ทำให้ร่างกายผลิตตกขาวสีน้ำตาล หน้าท้องนูน ผมร่วง ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีเข้มโดยเฉพาะบริเวณหลังคอ ใต้หน้าอก รักแร้ ขนดก และเกิดภาวะมีบุตรยาก  

    วิธีรักษา มักขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละคน คุณหมออาจเลือกวิธีการรักษา ดังนี้

    • ยาบำบัดที่มีฮอร์โมนโปรเจสติน คุณหมออาจให้ยาชนิดนี้เพื่อควบคุมรอบเดือนและป้องกันมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ควรรับประทานทุก ๆ 1-2 เดือน เป็นเวลา 10-14 วัน 
    • ยาคุมกำเนิดแบบผสม มีส่วนประกอบฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และ โปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่ช่วยลดการผลิตแอนโดรเจน แก้ไขปัญหาเลือดออกผิดปกติ ลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
    • เมตฟอร์มิน (Metformin) สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการตกขาวสีน้ำตาลและเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ร่วมด้วย คุณหมออาจให้รับประทานยาชนิดนี้ เพื่อลดระดับอินซูลิน 
    • โกนาโดโทรปิน (Gonadotropin) คือ ฮอร์โมนที่ฉีดเข้าสู่ร่างกายเพื่อช่วยกระตุ้นการตกไข่ 
    • เลโทรโซล (Letrozole) อาจใช้สำหรับการรักษาโรคมะเร็งเต้านม แต่ในขณะเดียวกันก็อาจช่วยกระตุ้นรังไข่ให้เกิดภาวะไข่ตกได้
    • โคลมีฟีน (Clomiphene) ยาต้านฮอร์โมนเอสโตรเจน ที่อาจช่วยกระตุ้นให้ไข่ตก

    2. โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (STDs)  เกิดจากการติดเชื้อของแบคทีเรียหรือไวรัส จากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การถ่ายเลือด ใช้เข็มฉีดยาและสิ่งของร่วมกัน หรือจากมารดาสู่ทารกระหว่างคลอดผ่านทางช่องคลอด เช่น โรคหนองในเทียม โรคหนองในแท้ ภาวะช่องคลอดอักเสบจากแบคทีเรีย หากปล่อยไว้นานอาจส่งผลให้ตกขาวเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลพร้อมมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ แสบร้อนอวัยวะเพศขณะปัสสาวะ 

    วิธีรักษา

    • ยาปฏิชีวนะ ใช้สำหรับผู้ที่ติดเชื้อแบคทีเรีย ปรสิต เช่น โรคหนองใน โรคซิฟิลิส โรคพยาธิในช่องคลอด ระหว่างการรักษาควรงดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะหายดี และควรเข้ารับการตรวจหาเชื้อซ้ำ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ
    • ยาต้านไวรัส อาจเหมาะสำหรับผู้ที่ติดเชื้อเริม เอชไอวี (HIV) เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อไวรัส 

    3. โรคกระดูกเชิงกรานอักเสบ (PID) คือ การติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างหนองในเทียม หนองในแท้บริเวณ มดลูก ปากมดลูก รังไข่ ท่อนำไข่ ของผู้หญิง ทำให้เกิดอาการปวดท้องส่วนล่าง ตกขาวสีน้ำตาล มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ ปวดบริเวณกระดูกเชิงกราน มีเลือดออกจากช่องคลอด เจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์

    วิธีรักษา 

    คุณหมออาจให้รับประทานยาปฏิชีวนะเป็นเวลา 2 สัปดาห์ หรือจนกว่าคุณหมอจะสั่งให้หยุดยา หากร่างกายไม่ตอบสนองต่อยารับประทาน คุณหมออาจให้ยาปฏิชีวนะผ่านทางหลอดเลือด ระหว่างการรักษาควรงดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะหายขาด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายและติดเชื้อซ้ำ

    4. มะเร็งปากมดลูก เกิดจากเซลล์ในร่างกายเจริญเติบโตมากผิดปกติจนไม่อาจควบคุมได้ และก่อตัวเป็นก้อน อาจแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ นอกจากนี้ การติดเชื้อเอชพีวี (HPV) อาจมีความเชื่อมโยงกับมะเร็งปากมดลูก ที่มีส่วนทำให้เซลล์ปากมดลูกกลายเป็นเซลล์มะเร็ง ส่งผลให้ปวดอุ้งเชิงกราน เจ็บอวัยวะเพศขณะมีเพศสัมพันธ์ และเลือดปะปนกับตกขาวกลายเป็นสีน้ำตาลไหลออกมาทางช่องคลอด พร้อมกลิ่นไม่พึงประสงค์ 

    วิธีรักษา

    • การผ่าตัด เป็นการรักษาที่ขึ้นอยู่กับระยะของมะเร็ง ทั้งผ่าตัดเพื่อนำมะเร็งออก หรือผ่าตัดเพื่อเลาะปากมดลูกและมดลูกออก ซึ่งอาจส่งผลให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีก 
    • รังสีบำบัด การฉายรังสีที่มีความเข้มข้นสูงเป็นการรักษามะเร็งมดลูกในระยะแรก เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง
    • เคมีบำบัด มักใช้ร่วมกับการฉายรังสี เพื่อควบคุมอาการของมะเร็งในระยะลุกลาม ซึ่งมีทั้งรูปแบบของการรับประทานยาเม็ด หรือให้ยาผ่านทางหลอดเลือดดำ

    5. ตั้งครรภ์ เมื่อเข้าสู่ช่วงตั้งครรภ์อาจทำให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มขึ้นสูง จนส่งผลให้ระบบสืบพันธุ์ผลิตตกขาวมากขึ้นกว่าเดิม บางรายอาจมีตกขาวสีน้ำตาล เนื่องจากการฝังตัวของไข่ในผนังมดลูก ทำให้อาจมีเลือดออกปะปนออกมาทางช่องคลอด 

    วิธีรักษา

    ตกขาวสีน้ำตาลเป็นเรื่องปกติ และพบได้ไม่บ่อยนัก แต่หากตกขาวมีสีน้ำตาลเข้มจนเกินไป และมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น กลิ่นไม่พึงประสงค์ ปวดท้อง อาจเป็นไปได้ว่าเสี่ยงตั้งครรภ์นอกมดลูกหรือแท้งบุตร ซึ่งควรเข้ารับการตรวจครรภ์หาสาเหตุ และเข้ารับการรักษาในทันที

    กรณีที่ตรวจพบว่ามีการติดเชื้อในช่องคลอด ควรรักษาตามคำแนะนำของคุณหมอด้วยการใช้ยาต้านเชื้อรา หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของน้ำหอม และสวมใส่กางเกงชั้นในที่ระบายอากาศได้ดี

    6. เข้าสู่ช่วงวัยหมดประจำเดือน ตกขาวสีน้ำตาลอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงภาวะหมดประจำเดือน ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในผู้หญิงช่วงอายุ 45 ปีขึ้นไป เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนลดลง ส่งผลให้รังไข่ และการตกไข่หยุดทำงาน ทำให้ประจำเดือนค่อย ๆ หมดไปอย่างถาวร

    ตกขาวสีน้ำตาล อาการแบบใดควรเข้าพบคุณหมอ

    ตกขาวสีน้ำตาลที่ก่อให้เกิดความผิดปกติ ควรเข้าพบคุณหมอ โดยอาจสังเกตได้จากอาการต่าง ๆ ดังนี้

    • มีกลิ่นไม่พึงประสงค์บริเวณช่องคลอด หรือตกขาว
    • มีอาการคันรุนแรงบริเวณช่องคลอด
    • แสบร้อน และเจ็บช่องคลอดระหว่างมีเพศสัมพันธ์และปัสสาวะ
    • มีเลือดออกทางช่องคลอดที่ไม่ใช่ประจำเดือน
    • ตกขาวเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาล เขียว เหลือง
    • ตกขาวไหลออกมากกว่าปกติ
    • มีอาการปวดบริเวณกระดูกเชิงกราน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 15/11/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา