ทำนม คืออะไร
ทำนม หมายถึง การทำศัลยกรรมหน้าอกโดยการผ่าตัดบริเวณหน้าอก อาจเป็นใต้ราวนม ด้านข้างรักแร้ หรือปานนม แล้วนำถุงซิลิโคนซึ่งมักมีให้เลือกสองชนิด คือ ถุงซิลิโคนน้ำเกลือและถุงซิลิโคนเจลเข้าไปในเต้านม เพื่อทำให้เต้านมใหญ่ขึ้น หรือมีลักษณะเต้านมที่ได้รูปดูเป็นทรงสวยงามตามที่ต้องการ
โดยทั่วไป เหตุผลของผู้ที่ตัดสินใจทำนม ได้แก่ ไม่พอใจกับขนาดหน้าอกตัวเอง มีขนาดเต้านม 2 ข้างไม่เท่ากัน ขาดความมั่นใจในการแต่งตัว มีหน้าอกเล็กลงหรือเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเนื่องจากเหตุผลทางสุขภาพต่าง ๆ เช่น การตั้งครรภ์ การให้นมบุตร การลดน้ำหนัก
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการ ทำนม
ก่อนตัดสินใจผ่าตัดเสริมขนาดหน้าอก ควรศึกษาข้อเท็จจริงต่าง ๆ ดังนี้
- การเสริมหน้าอกช่วยป้องกันหน้าอกหย่อนคล้อยหรือไม่ จริง ๆ แล้วการแก้ปัญหาหน้าอกหย่อนคล้อยต้องใช้วิธีการผ่าตัดแบบเฉพาะเพื่อกำจัดผิวหนังส่วนเกินและทำให้เนื้อเยื่อรอบ ๆ หน้าอกตึงขึ้น จึงจะสามารถยกหน้าอกให้ได้รูปและกระชับขึ้น
- หลังเสริมหน้าอกแล้วจะ พบปัญหาในการให้นมบุตรจริงหรือไม่ หากการผ่าตัดทำนมไม่มีการตัดท่อน้ำนมหรือเสริมแต่งบริเวณปานนม ก็สามารถให้นมบุตรได้ตามปกติ และปริมาณน้ำนมนั้นขึ้นอยู่กับการดูดกระตุ้นของบุตร รวมทั้งการรับประทานอาหารและการดื่มน้ำที่เพียงพอ
- ผู้ที่เสริมหน้าอก จะตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตัวเองได้ยากขึ้นหรือไม่ จริง ๆ แล้วสามารถตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตัวเองได้เช่นเดียวกับผู้ที่ไม่ได้เสริมหน้าอก แต่วิธีการคลำบริเวณหน้าอกอาจแตกต่างไปจากเดิม หลังการเสริมหน้าอกอาจให้คุณหมอที่ผ่าตัดช่วยแนะนำวิธีการคลำเพื่อตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเองสำหรับผู้ที่เสริมหน้าอกโดยเฉพาะ และหากสงสัยว่าตนเองอาจเสี่ยงมะเร็งเต้านม อาจต้องใช้วิธีตรวจหามะเร็งเต้านมด้วยวิธีอื่น ได้แก่ แมมโมแกรม (Mammogram) และการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ
- เมื่อเสริมหน้าอกแล้ว จะทำให้การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยวิธีทำแมมโมแกรมยากขึ้นจริงหรือไม่ จริง ๆ แล้วคุณหมอมีวิธีตรวจเฉพาะที่ไม่ได้ทำให้ยุ่งยากแต่อย่างใด ที่สำคัญ ผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปี ควรตรวจหามะเร็งเต้านมโดยเฉพาะผู้ที่ทำนมควรตรวจหามะเร็งเต้านมหลังจากการผ่าตัดผ่านไปประมาณ 3 ปี โดยแจ้งเจ้าหน้าที่หรือคุณหมอให้ทราบว่าหน้าผ่านการเสริมหน้าอกหรือทำนมมา
- การเสริมหน้าอก 1 ครั้ง หน้าอกจะคงรูปตลอดไป จริงหรือไม่ จริง ๆ แล้ว ถุงซิลิโคนโดยเฉพาะวัสดุด้านในไม่ว่าจะเป็นถุงน้ำเกลือหรือถุงเจลมักมีอายุใช้งานประมาณ 10 ปี แต่ในบางรายอาจสามารถใช้ได้นาน 20 ปี ในขณะที่ถุงซิลิโคนด้านนอกที่ห่อหุ้มถุงน้ำเกลือหรือเจลจะมีอายุนานกว่านั้นโดยอาจอยู่ได้ตลอดชีวิต อย่างไรก็ตาม โอกาสแตกรั่วของถุงซิลิโคนย่อมเกิดขึ้นได้หากการผลิตไม่ได้มาตรฐาน หรือคุณหมอที่ผ่าตัดไม่มีความเชี่ยวชาญมากพอ
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย