backup og meta

การตรวจคัดกรองโรคในผู้หญิง สำคัญอย่างไร เบื้องต้นควรตรวจอะไรบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 17/03/2023

    การตรวจคัดกรองโรคในผู้หญิง สำคัญอย่างไร เบื้องต้นควรตรวจอะไรบ้าง

    การ ตรวจคัดกรองโรค ในผู้หญิง คือ การทดสอบในเบื้องต้นเพื่อหาสัญญาณของโรคหรือสภาวะสุขภาพในผู้หญิง ไม่ว่าจะมีอาการที่อาจเป็นสัญญาณของโรคหรือไม่ก็ตาม หากผู้หญิงเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคแล้วพบว่ามีความเสี่ยงในการเกิดโรคใด ๆ อาจปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หรือดูแลสุขภาพให้ดีขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคนั้น ๆ ลดลงได้ หรือหากตรวจคัดกรองแล้วพบโรคตั้งแต่ในระยะแรก ก็อาจช่วยให้รักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือช่วยเพิ่มโอกาสในการหายจากโรค

    การ ตรวจคัดกรองโรค ในผู้หญิง เบื้องต้นมีอะไรบ้าง

    การตรวจวัดความดันโลหิต

    ผู้หญิงควรตรวจอย่างน้อยทุก ๆ 2 ปี หากพบว่า ค่าความดันโลหิตในหลอดเลือดขณะหัวใจบีบตัว หรือค่าความดันตัวบน คือ 120-139 มิลลิเมตรปรอท และค่าความดันโลหิตในหลอดเลือดขณะหัวใจคลายตัว หรือค่าความดันตัวล่าง คือ 80-89 มิลลิเมตรปรอท ควรเข้ารับการตรวจวัดความดันโลหิตอย่างน้อยปีละครั้ง หากค่าความดันตัวบนเกิน 130 มิลลิเมตรปรอท และค่าความดันตัวล่างเกิน 80 มิลลิเมตรปรอท ควรเข้าพบคุณหมอ เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับการลดระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม 

    สำหรับผู้หญิงที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคหัวใจ อาจยิ่งต้องเข้ารับการตรวจวัดความดันโลหิตให้บ่อยขึ้น และควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการดูแลตัวเองจากคุณหมออย่างเคร่งครัด

    การตรวจวัดไขมันในเลือด

    คุณหมออาจแนะนำให้เริ่มเข้ารับการตรวจวัดไขมันในเลือดเมื่ออายุ 20 ปี และตรวจซ้ำทุก ๆ 5 ปี หากอายุเกิน 45 ปี อาจต้องเข้ารับการตรวจวัดไขมันในเลือดบ่อยขึ้น เพราะความเสี่ยงในการเกิดภาวะไขมันอุดตันในเส้นเลือด ที่อาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจ จะเพิ่มขึ้นตามวัย ยิ่งหากเป็นโรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคไต อาจยิ่งต้องเข้ารับการตรวจวัดไขมันในเลือดเป็นประจำ และควรเฝ้าระวังอาการของโรคอย่างใกล้ชิด

    การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม

    ผู้หญิงควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเป็นประจำ โดยเฉพาะในผู้ที่แม่ พี่สาว หรือน้องสาว มีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม วิธีตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่นิยมใช้ อาจมีดังนี้

    • การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง ผู้หญิงที่อายุ 20 ปีขึ้นไปควรตรวจเต้านมด้วยตัวเอง หรือคลำเต้านมด้วยตัวเอง อย่างน้อยเดือนละครั้ง โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการตรวจเต้านมด้วยตัวเองคือ ช่วงหลังหมดประจำเดือนประมาณ 7-10 วัน (นับจากวันแรกที่ประจำเดือนมา) เพราะเป็นช่วงที่เต้านมนิ่ม คลำง่าย หากพบว่าเต้านมผิดปกติ เช่น มีก้อนเนื้อบริเวณเต้านม ผิวหนังบริเวณหัวนมบุ๋ม หรือหดรั้งผิดปกติ มีเลือดหรือของเหลวไหลออกจากเต้านม ควรรีบเข้าพบคุณหมอทันที
    • การตรวจเต้านมโดยบุคลากรทางการแพทย์ เช่น คุณหมอเฉพาะทาง พยาบาลวิชาชีพที่ผ่านการฝึกทักษะ โดยบุคลากรทางการแพทย์จะคลำและสังเกตอาการผิดปกติต่าง ๆ ของเต้านม เช่น ก้อนเนื้อ ลักษณะหัวนม หากพบความผิดปกติจะได้ตรวจวินิจฉัยให้ละเอียดยิ่งขึ้นว่าเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่
    • การตรวจอัลตราซาวด์เต้านม เป็นการตรวจเต้านมโดยการส่งคลื่นเสียงความถี่สูงเข้าไปในเนื้อเต้านม คลื่นเสียงจะกระทบเนื้อเยื่อ ในเต้านมแล้วสะท้อนเป็นภาพกลับมาที่เครื่องตรวจ หากพบว่ามีก้อนในเต้านม ก็สามารถวินิจฉัยเบื้องต้นได้ว่าเป็นก้อนเนื้อหรือน้ำ หากเป็นก้อนเนื้อ คุณหมอจะได้ตรวจสอบอย่างละเอียดว่าเป็นก้อนมะเร็งหรือไม่ วิธีนี้อาจเหมาะกับผู้หญิงที่อายุยังน้อย
    • การตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) หรือการตรวจภาพรังสีเต้านม เป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยการฉายรังสีที่เต้านม โดยการบีบเนื้อเต้านมเข้าหากัน เพื่อให้ได้ภาพเต้านมด้านบนและด้านข้าง โดยทั่วไปจะถ่ายภาพเต้านมทั้งหมด 4 ภาพ แต่หากคุณหมอพบจุดผิดปกติหรือน่าสงสัย อาจต้องถ่ายภาพเต้านมเพิ่มเติม เพื่อให้ได้รายละเอียดที่แน่ชัดขึ้น วิธีนี้อาจเหมาะกับผู้หญิงที่อายุ 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากเนื้อเต้านมไม่แน่นมากนัก จึงเห็นรายละเอียดต่าง ๆ ได้ค่อนข้างชัดเจน ส่วนใหญ่แล้ว ผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจแมมโมแกรมทุก ๆ 1-2 ปี แต่หากมีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม เช่น มีแม่ พี่สาว หรือน้องสาวเป็นมะเร็งเต้านม เคยเป็นมะเร็งเต้านม อายุเกิน 35 ปีแล้วแต่ยังไม่เคยตั้งครรภ์ อาจต้องเข้ารับการตรวจแมมโมแกรมทุกปี

    การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

    คำแนะนำในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก พ.ศ. 2563 จากราชวิทยาลัยสูตินารีแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย และชมรมคอลโปสปีและพยาธิสภาพปากมดลูกแห่งประเทศไทย ระบุว่า ผู้หญิงควรเริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเมื่ออายุ 25 ปี หากมีเพศสัมพันธ์แล้ว หรือเริ่มตรวจเมื่ออายุ 30 ปี หากยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ด้วยวิธีต่อไปนี้

    • การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear หรือ Pap Test) คุณหมอจะสอดเครื่องมือที่เรียกว่า คีมถ่างช่องคลอดหรือสเปคคูลั่ม (Speculum) เข้าไปเพื่อถ่างขยายช่องคลอดให้มองเห็นปากมดลูก จากนั้นจึงเก็บเซลล์เยื่อบุปากมดลูกไปส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ควรงดใช้ยาเหน็บ งดตรวจภายใน และงดทำความสะอาดภายในช่องคลอดก่อนเข้ารับการตรวจ 24 ชั่วโมง รวมถึงควรงดมีเพศสัมพันธ์ในคืนก่อนเข้ารับการตรวจ และควรตรวจทุก 2 ปี
    • การตรวจหาเชื้อเอชพีวี (HPV) คุณหมอจะเก็บเซลล์ที่บริเวณปากมดลูกและผนังช่องคลอดไปตรวจหาเชื้อเอชพีวี (Human Papillomavirus หรือ HPV) สายพันธุ์ก่อมะเร็ง หากมีเชื้อนี้ อาจทำให้เสี่ยงเกิดมะเร็งปากมดลูกมากขึ้น ควรเข้ารับการตรวจทุก 5 ปี และในบางกรณี คุณหมออาจต้องตรวจแปปสเมียร์ร่วมด้วย

    การตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

    ผู้หญิงควรเริ่มเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองใน โรคหนองในเทียม โรคซิฟิลิส การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) เมื่ออายุ 24 ปี โดยเฉพาะหากมีเพศสัมพันธ์เป็นประจำ มีคู่นอนหลายคน วางแผนตั้งครรภ์ กำลังตั้งครรภ์ 

    การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่

    สำหรับผู้หญิงที่อายุ 50-75 ปี ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

    • การตรวจอุจจาระ ควรเข้ารับการตรวจทุกปี 
    • การส่องกล้องตรวจลำไส้ส่วนปลายและทวารหนัก (Flexible Sigmoidoscopy) ควรเข้ารับการตรวจทุก 5 ปี
    • การตรวจลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงโดยวิธีการสวนแป้ง (Double-Contrast Barium Enema) ควรเข้ารับการตรวจทุก 5 ปี
    • การตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Colonoscopy) หรือการตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยเทคโนโลยีซีทีสแกน ควรเข้ารับการตรวจทุก 5 ปี
    • การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ควรเข้ารับการตรวจทุก 10 ปี

    หากมีสภาวะหรือพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่เหล่านี้ คุณหมออาจแนะนำให้เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่บ่อยขึ้น

    • เป็นโรคที่เกี่ยวกับลำไส้อักเสบ อย่างโรคโครห์น โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ เป็นประจำ 
    • สมาชิกในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือมีติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ 
    • ไม่ค่อยออกกำลังกาย 
    • ไม่ค่อยรับประทานผักผลไม้หรืออาหารไฟเบอร์สูง 
    • มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน 
    • สูบบุหรี่ 
    • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

    การตรวจคัดกรองโรคกระดูกพรุน

    เนื่องจากผู้หญิงมีความเสี่ยงในการสูญเสียมวลกระดูก และมีการสลายกระดูกมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ภาวะดังกล่าวอาจนำไปสู่โรคกระดูกพรุน ที่ทำให้กระดูกเปราะหักได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะกระดูกข้อสะโพก กระดูกข้อมือ และกระดูกสันหลัง จนอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ 

    ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเร็วกว่าอายุ 45 ปี และผู้ที่ตัดรังไข่ทั้งสองข้าง ควรเข้ารับการตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะหากมีประวัติกระดูกหัก มีภาวะสุขภาพที่ทำให้มวลกระดูกลงลงเร็วขึ้นอย่างภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกิน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือเป็นหญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีค่าดัชนีมวลกายต่ำกว่า 20

    การตรวจสุขภาพตา

    ผู้หญิงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตาทั่วไปอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจหาภาวะสายตาผิดปกติ เช่น สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง และสำหรับผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตาเพื่อคัดกรองโรคทางตาที่มักพบได้เมื่ออายุมากขึ้น เช่น โรคต้อกระจก โรคต้อหิน โรคจอประสาทตาเสื่อม หากตรวจพบ คุณหมอจะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที

    ก่อนเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคในผู้หญิงแต่ละประเภท ควรศึกษาข้อมูลเบื้องต้นให้ละเอียด และปรึกษาคุณหมอก่อนทุกครั้ง โดยเฉพาะหากมีโรคประจำตัวหรือกำลังตั้งครรภ์

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 17/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา