backup og meta

ระบบสืบพันธุ์ คืออะไร มีหน้าที่อย่างไร

ระบบสืบพันธุ์ คืออะไร มีหน้าที่อย่างไร

ระบบสืบพันธุ์ เป็นส่วนสำคัญของกระบวนการสืบพันธุ์ของเพศหญิงและเพศชาย ด้วยการปฏิสนธิของอสุจิจากผู้ชายและไข่จากผู้หญิง ที่นำไปสู่การตั้งครรภ์พัฒนาเป็นตัวอ่อนหรือทารก โดยระบบสืบพันธุ์ของทั้ง 2 เพศอาจมีกระบวนการต่างกัน แต่สามารถเชื่อมโยงกัน เพื่อร่วมกันสร้างสิ่งมีชีวิตออกมา

[embed-health-tool-ovulation]

ระบบสืบพันธุ์ คืออะไร

ระบบสืบพันธุ์ เป็นส่วนสำคัญของกระบวนการสร้างสิ่งมีชีวิตขึ้นใหม่ด้วยการถ่ายทอดองค์ประกอบของตัวเองผ่านทางพันธุกรรมหรือยีน ซึ่งจะสามารถสังเกตได้ว่าสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เช่น มนุษย์ สัตว์ ที่กำเนิดใหม่จะมีลักษณะคล้ายกับพ่อและแม่ผสมกัน บางคนก็อาจมีลักษณะคล้ายพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งมากกว่า

การจะมีบุตรได้ต้องอาศัยการทำงานของระบบสืบพันธุ์ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย โดยผู้ชายจะปล่อยสเปิร์มเข้าทางช่องคลอดของผู้หญิงขณะมีเพศสัมพันธ์ เพื่อให้อสุจิปฏิสนธิกับไข่ ก่อนไข่จะเริ่มฝังตัวในผนังมดลูกและพัฒนาเป็นทารก

ส่วนประกอบของระบบสืบพันธุ์นำไปสู่การสร้างสิ่งมีชีวิต มีดังนี้

ระบบสืบพันธุ์เพศชาย

ทำหน้าที่ผลิตและขนส่งอสุจิที่เป็นเซลล์สืบพันธ์ุ เข้าสู่ช่องคลอดของผู้หญิงระหว่างมีเพศสัมพันธ์  เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิ ระบบสืบพันธุ์ในเพศชายแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่

  • ระบบสืบพันธ์ุภายนอก
    • องคชาต มีลักษณะเป็นทรงกรวยปกคลุมด้วยผิวหนังหุ้มปลาย องคชาตเต็มไปด้วยเส้นประสาทที่ไวต่อความรู้สึก ทำให้เกิดการแข็งตัวขึ้นเมื่อรู้สึกมีอารมณ์ทางเพศ นอกจากนี้ องคชาตยังเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งในระบบทางเดินปัสสาวะ แต่ขณะที่องคชาตแข็งตัว ท่อปัสสาวะจะถูกปิดกั้น ทำให้สามารถหลั่งได้เพียงแค่น้ำอสุจิเท่านั้น
    • ถุงอัณฑะ คือถุงที่อยู่ใต้องคชาต ประกอบไปด้วยเส้นประสาทและหลอดเลือดจำนวนมาก มีหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสมสำหรับการสร้างอสุจิ
    • อัณฑะ เป็นอวัยวะรูปไข่ที่อยู่ภายในถุงอัณฑะทั้ง 2 ข้าง คอยสร้างฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชาย เพื่อช่วยผลิตเซลล์อสุจิ
  • ระบบสืบพันธ์ุภายใน
    • ท่ออสุจิ เป็นท่อนำส่งที่อยู่ภายในอวัยวะเพศหลังอัณฑะแต่ละข้าง เพื่อนำอสุจิออกมาจากอัณฑะ และคอยกระตุ้นทำให้อสุจิเติบโตก่อนลำเลียงออกไปยังบริเวณปลายองคชาต
    • หลอดนำอสุจิ อยู่ต่อจากท่ออสุจิ ทำหน้าที่ลำเลียงอสุจิไปยังท่อปัสาวะ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการหลั่งนำอสุจิออกมา
    • ท่อปัสสาวะ เป็นท่อที่ใช้สำหรับลำเลียงปัสสาวะและน้ำอสุจิออกสู่ภายนอกร่างกาย
    • ถุงน้ำเชื้อ มีหน้าที่ผลิตของเหลวที่อุดมด้วยน้ำตาล (ฟรุกโตส) เพื่อเพิ่มพลังงานให้แก่อสุจิในการเคลื่อนไหวเดินทางไปปฏิสนธิกับไข่ของผู้หญิง
    • ต่อมลูกหมาก คืออวัยวะที่อยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะ ทำหน้าที่ผลิตสารหล่อลื่น ช่วยหล่อเลี้ยงตัวอสุจิ และช่วยให้อสุจิเคลื่อนไหวได้ดี

ระบบสืบพันธุ์เพศหญิง

ในทุกเดือนผู้หญิงจะมีการตกไข่ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ 2 สัปดาห์ก่อนถึงรอบเดือนถัดไป โดยไข่จะเคลื่อนตัวไปยังท่อนำไข่ เพื่อรออสุจิปฏิสนธิ  ระหว่างนี้หากมีการปฏิสนธิกับอสุจิก็อาจทำให้มีโอกาสที่จะตั้งครรภ์ได้ ระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิงแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

  • ระบบสืบพันธุ์ภายนอก
    • แคมใหญ่ เป็นอวัยวะที่มีผิวหนังนูนทั้ง 2 ข้าง บริเวณปากช่องคลอด สามารถขยายและหดตัวได้ เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยเจริญพันธุ์อวัยวะนี้จะมีการปกคลุมด้วยเส้นขน
    • แคมเล็ก มีลักษณะเป็นผิวหนังอ่อนนุ่มอยู่ระหว่างแคมใหญ่ มีขนาดกว้างไม่เกิน 2 นิ้ว ล้อมรอบช่องคลอด
    • ต่อมบาร์โธลิน อยู่บริเวณข้างช่องคลอด ทำหน้าที่ผลิตสารหล่อลื่นขณะมีเพศสัมพันธ์ และช่วยป้องกันไม่ให้ช่องคลอดแห้ง
    • คลิตอริส หรือปุ่มกระสัน เป็นตุ่มขนาดเล็กรูปวงรีที่ถูกปกคลุมด้วยแคม หากถูกระตุ้นหรือสัมผัสอาจส่งผลให้เกิดอารมณ์ทางเพศ เนื่องจากบริเวณนี้มีเส้นประสาทที่ไวต่อความรู้สึกจำนวนมาก
  • ระบบสืบพันธุ์ภายใน
    • ช่องคลอด เป็นอวัยวะที่เชื่อมกับปากมดลูกและระบบสืบพันธ์ุภายนอก เป็นช่องทางสำหรับการมีเพศสัมพันธ์ การไหลออกของประจำเดือน และเป็นทางที่ทารกคลอดออกมา
    • มดลูก เป็นจุดศูนย์กลางการเจริญเติบโตของตัวอ่อน เมื่อไข่ปฏิสนธิกับตัวอสุจิจะฝังตัวอยู่ในผนังมดลูก และพัฒนากลายเป็นทารก ขนาดของมดลูกสามารถขยายใหญ่ขึ้นตามขนาดของทารกได้
    • รังไข่ เป็นอวัยวะที่อยู่ข้างปีกมดลูกทั้ง 2 ข้าง มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และผลิตไข่ออกมาเมื่อถึงช่วงเวลาการตกไข่
    • ท่อนำไข่ เป็นท่อเล็ก ๆ ที่เชื่อมติดกับมดลูกส่วนบน ทำหน้าที่เป็นทางผ่านให้ไข่เคลื่อนตัวออกมารอการปฏิสนธิจากอสุจิในมดลูก

โรคระบบสืบพันธุ์ มีอะไรบ้าง

โรคระบบสืบพันธุ์ที่อาจพบได้บ่อยมักมาจากการติดเชื้อระหว่างการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกัน โดยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อาจมีดังนี้

  • หนองในเทียม คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Chlamydia trachomatis สังเกตได้จากอาการแสบอวัยวะเพศขณะปัสสาวะ เจ็บอวัยวะเพศระหว่างมีเพศสัมพันธ์ กลิ่นไม่พึงประสงค์ มีหนองออกจากอวัยวะเพศ โรคนี้สามารถเป็นได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย และอาจแพร่กระจายไปยังทารกในครรภ์ได้ระหว่างการคลอดบุตร
  • หนองในแท้ หนองในเทียมและหนองในแท้อาจมีอาการคล้ายกันและสามารถเกิดทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย โดยส่งผลให้เกิดอาการเจ็บแสบอวัยวะเพศขณะปัสสาวะ มีหนองไหล เลือดออกบริเวณช่องคลอด ปวดท้อง อัณฑะบวม แต่อาจแตกต่างกันตรงที่หนองในแท้เกิดจากการติดเชื้อจากไนอีสซีเรีย โกโนเรีย (Neisseria Gonorrhoeae)
  • เริมอวัยวะเพศ เกิดจากเชื้อไวรัสเริม ส่งผลให้เกิดแผลพุพองบริเวณที่มีเพศสัมพันธ์ เช่น ช่องคลอด ทวารหนัก ปาก อีกทั้งยังสามารถแพร่กระจายไปยังทารกระหว่างคลอด ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อาจมีอาการรุนแรงขึ้น
  • โรคเอชไอวี/เอดส์ เอชไอวีเป็นเชื้อไวรัสที่ทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวในระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ในระยะแรกของการติดเชื้อเอชไอวีอาจไม่แสดงอาการใด ๆ จนกว่าจะเข้าสู่ระยะเอดส์ซึ่งเป็นระยะสุดท้าย ที่ทำให้ผู้ติดเชื้อมีไข้ ต่อมน้ำเหลืองบวม เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ มีแผลในปาก และมีผื่นขึ้นตามตัว
  • โรคซิฟิลิส คือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จากการติดเชื้อแบคทีเรีย ในระยะแรกอาจส่งผลให้เป็นแผลริมอ่อนบริเวณอวัยวะเพศที่มีลักษณะเป็นตุ่มบางครั้งอาจมีหนองไหล ต่อมาอาจปรากฏเป็นผื่นขึ้นที่ลำตัว มีอาการเจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ และต่อมน้ำเหลืองบวม หากไม่รีบทำการรักษาอาจส่งผลให้การทำงานของหัวใจ การมองเห็น หลอดเลือด ตับ กระดูก ระบบประสาทและสมองเสียหายได้
  • โรคเอชพีวี เป็นไวรัสที่สามารถแพร่กระจายผ่านการมีเพศสัมพันธ์และการสัมผัสกับเชื้อไวรัสเอชพีวีโดยตรง บางคนที่ติดเชื้ออาจไม่เกิดอาการใด ๆ แต่บางคนอาจเกิดอาการหูดบริเวณอวัยวะเพศ นอกจากนี้ การติดเชื้อไวรัสเอชพีวียังอาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่นำไปสู่มะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก มะเร็งองคชาต มะเร็งในช่องคลอด

การดูแลระบบสืบพันธุ์

การดูแลระบบสืบพันธ์ุ เพื่อการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยและสร้างครอบครัวที่ห่างไกลจากโรค ควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับการวางแผนมีบุตรและตรวจสุขภาพร่างกาย คุณหมออาจให้ตรวจหาเชื้อเอชไอวี หรือไวรัสและแบคทีเรียที่อาจส่งผลให้เสี่ยงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Female Reproductive System. https://kidshealth.org/en/teens/female-repro.html Accessed July 17, 2023.

Your Guide to the Female Reproductive System. https://www.webmd.com/sex-relationships/guide/your-guide-female-reproductive-system Accessed July 17, 2023.

The Male Reproductive System. https://www.webmd.com/sex-relationships/guide/male-reproductive-system Accessed July 17, 2023.

Male reproductive system. https://www.healthdirect.gov.au/male-reproductive-system Accessed July 17, 2023.

Chlamydia Infections. https://medlineplus.gov/chlamydiainfections.html Accessed July 17, 2023.

Gonorrhea. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/gonorrhea/symptoms-causes/syc-20351774 Accessed July 17, 2023.

HIV/AIDS. https://medlineplus.gov/hivaids.html Accessed July 17, 2023.

Syphilis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/syphilis/symptoms-causes/syc-20351756 Accessed July 17, 2023.

Human papillomavirus (HPV). https://www.nhs.uk/conditions/human-papilloma-virus-hpv/ Accessed July 17, 2023.

Genital Herpes. https://medlineplus.gov/genitalherpes.html Accessed July 17, 2023.

Sexually transmitted diseases (STDs). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/sexually-transmitted-diseases-stds/symptoms-causes/syc-20351240. Accessed July 17, 2023.

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/12/2023

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

คันอวัยวะเพศ สาเหตุ การป้องกันและการรักษา

ปัญหาสุขภาพทางเพศ ที่พบบ่อยในผู้หญิง และวิธีรับมือที่ควรทราบ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 27/12/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา