backup og meta

มดลูกต่ำ สาเหตุ อาการ การรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 04/07/2022

    มดลูกต่ำ สาเหตุ อาการ การรักษา

    มดลูกต่ำ เป็นภาวะที่มดลูกหย่อน หรือเคลื่อนตัวออกจากตำแหน่งเดิมที่อยู่บริเวณอุ้งเชิงกราน โดยปกติกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อในอุ้งเชิงกรานจะพยุงมดลูกไว้ แต่เมื่อกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อบริเวณนั้นเสื่อมสมรรถภาพหรือบาดเจ็บ จึงไม่สามารถพยุงมดลูกให้อยู่ในตำแหน่งเดิมได้ ส่งผลให้มดลูกต่ำและเคลื่อนตัวลงมาอยู่บริเวณช่องคลอด ภาวะนี้อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การตั้งครรภ์ อายุที่มากขึ้น การยกของหนัก การไอหรือท้องผูกเรื้อรัง ซึ่งมักทำให้ต้องเกร็งหน้าท้องหรือเบ่งอวัยวะบริเวณมดลูกบ่อยครั้ง ทั้งนี้ การรักษามดลูกต่ำอาจทำได้ด้วยการดูแลตัวเองและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกาย ทั้งนี้ หากภาวะมดลูกต่ำรุนแรงและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับคำปรึกษาและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมที่สุด

    มดลูกต่ำ เกิดจากอะไร

    สาเหตุที่ทำให้มดลูกต่ำหรือมดลูกหย่อนตัว อาจมีดังนี้

    • การตั้งครรภ์และการคลอด การคลอดลูกอาจทำให้มดลูกหย่อนตัวลงได้ โดยเฉพาะเมื่อตั้งครรภ์มาแล้วหลายครั้ง หรือคลอดลูกที่มีขนาดตัวใหญ่กว่าปกติ
    • น้ำหนักตัวเยอะ อาจเพิ่มแรงกดบริเวณกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ทำให้มดลูกต่ำ
    • อายุมากขึ้น เมื่ออายุมากขึ้น โดยเฉพาะในวัยหมดประจำเดือน ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายจะลดลง ส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแอและทำให้มดลูกต่ำได้
    • ปัญหาสุขภาพ เช่น
  • ท้องผูกเรื้อรัง มักทำให้ต้องนั่งเบ่งเป็นเวลานานและเกิดแรงกดในช่องท้อง จนอาจเกิดภาวะมดลูกต่ำ
  • ไอเรื้อรังหรือหลอดลมอักเสบ ทำให้เกิดแรงดันภายในช่องท้อง กระทบต่ออวัยวะภายใน และดันให้มดลูกขยับลงไปอยู่ใกล้ช่องคลอดมากขึ้น
  • เนื้องอกในมดลูก เนื้องอกอาจถ่วงให้มดลูกหย่อนหยานและเคลื่อนตัวลงต่ำได้
  • การยกของหนักเป็นประจำ อาจทำให้เกิดแรงกดบริเวณช่องท้อง เมื่อต้องเกร็งท้องเป็นเวลานานก็จะทำให้มดลูกเคลื่อนตัวต่ำ
  • อาการของคนที่มีมดลูกต่ำ

    อาการของผู้ที่มี มดลูกต่ำ อาจสังเกตได้ดังนี้

    • รู้สึกหน่วงตึงบริเวณช่องท้องส่วนล่าง กระดูกเชิงกราน หรือช่องคลอด
    • มีปากมดลูกหรือตัวมดลูกยื่นออกมาจากช่องคลอด จนสามารถมองเห็นหรือใช้นิ้วสัมผัสได้
    • รู้สึกชา ไม่ค่อยสบาย หรือเจ็บเมื่อมีเพศสัมพันธ์
    • ปัสสาวะไม่สุด ต้องเข้าห้องน้ำบ่อยกว่าปกติ
    • มีปัสสาวะเล็ดออกมาเล็กน้อยเมื่อไอ จาม หรือออกกำลังกาย
    • เดินไม่สะดวก
    • ปวดหลังส่วนล่าง
    • มีตกขาว

    วิธีทดสอบมดลูกต่ำ

    คุณหมออาจทำการวินิจฉัยภาวะมดลูกต่ำด้วยการซักประวัติการรักษา ตรวจดูภายในเพื่อดูว่าตำแหน่งมดลูกเคลื่อนลงไปมากน้อยเพียงใด และตรวจอวัยวะในอุ้งเชิงกราน เช่น การทดสอบความแข็งแรงของมดลูกด้วยการให้ไอหรือเกร็งท้องเพื่อสร้างแรงกดบริเวณหน้าท้อง การใช้คีมถ่างช่องคลอดเพื่อตรวจสอบลักษณะของมดลูกที่หย่อนมาอยู่บริเวณช่องคลอด การตรวจด้วยการอัลตราซาวด์ การทราบตำแหน่งของมดลูกที่แน่ชัดจะช่วยให้คุณหมอประเมินความรุนแรงของอาการมดลูกต่ำและกำหนดแนวทางการรักษาได้อย่างถูกต้อง

    ระดับความรุนแรงของภาวะมดลูกต่ำ อาจแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้

    • ระดับที่ 1 ปากมดลูกหย่อนลงไปในช่องคลอด
    • ระดับที่ 2 ปากมดลูกหย่อนลงไปใกล้บริเวณปากช่องคลอด
    • ระดับที่ 3 ปากมดลูกหย่อนออกมานอกช่องคลอด
    • ระดับที่ 4 มดลูกทั้งหมดออกมาอยู่นอกช่องคลอด หรือเรียกว่าภาวะมดลูกย้อย (Procidentia) ซึ่งถือเป็นภาวะมดลูกหย่อนระดับรุนแรง เกิดจากกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานทั้งหมดที่พยุงมดลูกเสื่อมสภาพ

    การรักษา มดลูกต่ำ

    วิธีการรักษาภาวะมดลูกต่ำอาจแตกต่างกันตามระดับความรุนแรงของโรค ภาวะสุขภาพของผู้ป่วย และความต้องการมีลูกในอนาคต หากมีอาการเพียงเล็กน้อย อาจรักษาได้ด้วยการปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลสุขภาพให้ดี เช่น

  • ออกกำลังกายด้วยการฝึกขมิบกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานและช่องคลอด อาจเริ่มจากการขมิบกล้ามเนื้อค้างไว้แล้วทำซ้ำ 10 ครั้ง เป็นจำนวน 4 เซต/วัน เพื่อเสริมความแข็งแรงและกระตุ้นให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและช่องคลอดกระชับมากยิ่งขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือยกของอย่างถูกวิธี โดยการยืนชิดสิ่งของ ย่อตัว งอเข่า แล้วค่อย ๆ ยกของขึ้น ไม่โน้มตัวไปข้างหน้ามากเกินไปแล้วยกของ และย่อเข่าลงก่อนยกของขึ้น เพื่อให้น้ำหนักลงไปที่ขาแทนที่จะเป็นบริเวณเอวหรือหลัง
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • รักษาด้วยฮอร์โมนทดแทน เช่น ยาฮอร์โมนเอสโตรเจนแบบครีม เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน
  • หากภาวะมดลูกต่ำกระทบต่อสุขภาพโดยรวมและการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก หรือมีภาวะมดลูกหย่อนในรุนแรง อาจรักษาด้วยวิธีการอื่น เช่น

    • ใช้อุปกรณ์เสริมที่เรียกว่าห่วงพยุงทางช่องคลอด (Pessaries) เป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบให้เข้ากับสรีระผู้สวมใส่มากที่สุด มีรูปทรงหลายแบบและมีหลายขนาด ช่วยพยุงให้มดลูกอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพและมีความเสี่ยงสูงหากต้องผ่าตัด สามารถใช้ชั่วคราวหรือใส่ไปตลอดก็ได้ ในบางรายอาจมีการระคายเคืองภายในช่องคลอด หรือทำให้เกิดตกขาวผิดปกติ
    • ผ่าตัดเพื่อรักษาอาการให้หาย ใช้เพื่อรักษาภาวะมดลูกต่ำในระดับรุนแรง การผ่าตัดอาจช่วยแก้ไขปัญหาความหย่อนยานของผนังช่องคลอด กระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ ลำไส้ รวมไปถึงลำไส้ใหญ่ได้ ในบางรายอาจมีการตัดมดลูกออกจึงไม่เหมาะกับผู้ที่ต้องการมีบุตรในอนาคต

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 04/07/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา