ข้อดีของการจูบ
การจูบที่เกิดขึ้นระหว่างคู่รักหรือเกิดขึ้นด้วยความยินยอมจากทั้ง 2 ฝ่ายอาจมีข้อดีต่อสุขภาพ ดังนี้
- ความผูกพันทางกายและอารมณ์ การจูบเป็นการเพิ่มความใกล้ชิดทางกาย ทั้งยังช่วยเพิ่มความสุขและความผูกพันธ์ทางอารมณ์ระหว่างคู่รัก ซึ่งอาจทำให้คู่รักรู้สึกผูกพันธ์ รักกันมากขึ้น ให้ความสำคัญกันมากขึ้น เป็นต้น
- คลายความเครียด และกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ การจูบอาจช่วยให้สมองปล่อยสารเคมีบางชนิด เช่น ฮอร์โมนออกซิโตซิน (Oxytocin) สารโดปามีน (Dopamine) ที่ช่วยให้ร่างกายรู้สึกสงบ มีความสุข และผ่อนคลาย ช่วยลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนความเครียด ปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น และอาจลดความเสี่ยงในการเกิดโรคซึมเศร้า นอกจากนั้น การจูบอย่างเร่าร้อนยังอาจเป็นการกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ จนนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์
- อาจเร่งการเผาผลาญแคลอรี่ การจูบอาจช่วยเร่งการเผาผลาญแคลอรี่ได้ 11.2 แคลอรี่/นาที เนื่องจากการจูบอาจเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ส่งผลให้เลือดสูบฉีดไปทั่วทั้งร่างกาย ทั้งยังส่งผลให้ความร้อนในร่างกายเพิ่มขึ้นทำให้การเผาผลาญเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
- อาจดีต่อระบบภูมิคุ้มกัน การจูบอาจเพิ่มการสัมผัสกับเชื้อโรคที่อยู่ในปากของคู่รัก ซึ่งการรับเชื้อโรคจากภายนอกร่างกายอาจช่วยเพิ่มการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงขึ้น
- อาจดีต่อสุขภาพปาก น้ำลายมีสารที่ต่อสู้กับแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา การจูบอาจทำให้ต่อมน้ำลายในปากผลิตน้ำลายมากขึ้น ซึ่งอาจช่วยล้างแบคทีเรียออกจากฟัน ช่วยทำลายคราบจุลินทรีย์ในช่องปาก ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของน้ำลายส่งผลทำให้ปาก ฟัน และเหงือกแข็งแรง
ข้อเสียของการจูบ
การจูบอาจเพิ่มการสัมผัสกับเชื้อโรคซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงเหล่านี้
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การจูบอาจเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เริม ไวรัสตับอักเสบบี หูด ซึ่งเป็นโรคที่อาจติดต่อผ่านทางน้ำลาย โดยเฉพาะหากปากมีบาดแผล เพราะเชื้อโรคเหล่านี้อาจเข้าสู่กระแสเลือดทางบาดแผลได้
- โรคติดต่ออื่น ๆ การจูบอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่ออื่น ๆ เช่น โรคหวัด โควิด-19 ไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต ผ่านทางน้ำลายและลมหายใจ
- การติดเชื้อแบคทีเรีย การจูบอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคจากแบคทีเรียอย่างโรคไข้กาฬหลังแอ่นที่อาจส่งผลถึงชีวิต ทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบและภาวะโลหิตเป็นพิษ ทั้งยังอาจทำให้เกิดฟันผุ เพราะน้ำลายที่เกิดจากการจูบอาจทำให้จำนวนของแบคทีเรียที่ทำให้ฟันผุเพิ่มขึ้น
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย