backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

หนองในเกิดขึ้นเองได้ไหม รักษาอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย Duangkamon Junnet · แก้ไขล่าสุด 20/02/2024

หนองในเกิดขึ้นเองได้ไหม รักษาอย่างไร

หนองใน เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง หลายคนตั้งคำถามว่า หนองในเกิดขึ้นเองได้ไหม? คำตอบคือไม่ได้ ส่วนการติดเชื้อหนองในจากการใช้ห้องน้ำสาธารณะร่วมกับผู้ป่วยก็นับว่าเป็นไปไม่ได้เช่นกัน ทั้งนี้ หนองในรักษาให้หายขาดได้ด้วยยาปฏิชีวนะ เมื่อมีอาการ ควรรีบพบคุณหมอเพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา

หนองใน คืออะไร

หนองใน (Gonorrhea) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อแบคทีเรียไนซีเรีย โกโนเรียอี (Neisseria Gonorrhoeae)

เมื่อเป็นโรคนี้ มักมีอาการแตกต่างกันไปตามบริเวณที่ติดเชื้อ ดังนี้

  • องคชาต แสบขัดขณะปัสสาวะ มีหนองไหลออกมาจากปลายองคชาติ รู้สึกเจ็บอัณฑะ หรืออัณฑะบวม
  • ช่องคลอด มีตกขาวมากผิดปกติ ตกขาวมีกลิ่นเหม็น พบเลือดทางช่องคลอดก่อนมีรอบเดือนหรือหลังมีเพศสัมพันธ์
  • ทวารหนัก คัน มีหนองไหลออกมา พบจุดแดงหรือเลือดปนออกมากับปัสสาวะ
  • ดวงตา เจ็บตา ตาแพ้แสง มีหนองไหลจากตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง
  • คอ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอบวม

อย่างไรก็ตาม ในบางราย โดยเฉพาะผู้หญิง มักไม่พบอาการใด ๆ เมื่อติดเชื้อ ส่งผลให้ไม่ทราบตัวเองป่วยอยู่ จึงไม่ได้ไปพบคุณหมอเพื่อรักษาและอาจทำให้อาการแย่ลง

หนองในเกิดขึ้นเองได้ไหม

หนองในไม่สามารถเกิดขึ้นเองได้ และไม่สามารถติดเชื้อผ่านการใช้ห้องน้ำสาธารณะร่วมกัน เนื่องจากเชื้อไนซีเรีย โกโนเรียอีไม่สามารถมีชีวิตได้เมื่ออยู่นอกร่างกายมนุษย์

โดยทั่วไป หนองในมักติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือทางปาก

ทั้งนี้ การใช้เซ็กส์ทอยร่วมกับผู้อื่น โดยไม่ล้างหรือหุ้มถุงยางอนามัยก่อนใช้ อาจทำให้เป็นหนองในได้เช่นกัน นอกจากนี้ หนองในยังแพร่จากหญิงตั้งครรภ์สู่ทารกในครรภ์ได้

หนองใน หายเองได้ไหม

หนองในอาจหายเองได้ แต่เป็นส่วนน้อย หากปล่อยโรคทิ้งไว้โดยไม่รักษา มักเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือส่งผลให้อาการรุนแรงกว่าเดิม เช่น

  • มีไข้สูง
  • มีบุตรยาก
  • อุ้งเชิงกรานอักเสบ
  • มีผื่นขึ้นตามร่างกาย
  • เจ็บปวดตามข้อ
  • ถุงเก็บอสุจิอักเสบ
  • ท่อปัสสาวะตีบ

หนองในรักษาได้อย่างไร

หนองในรักษาให้หายขาดได้ด้วยยาปฏิชีวนะ และโดยทั่วไป คุณหมอจะฉีดยาเซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) หรือเจนตามัยซิน (Gentamicin) ให้ร่วมกับการจ่ายยาเจมิฟลอกซาซิน (Gemifloxacin) หรืออะซิโทรมัยซิน (Azithromycin) ให้รับประทานร่วมด้วย

ปกติแล้ว อาการของโรคมักดีขึ้นภายใน 2-3 วันหลังการรักษา โดยอาการเจ็บบริเวณเชิงกรานหรืออัณฑะจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์จึงจะหายขาด

ทั้งนี้ ควรเข้ารับการรักษาโรคพร้อมกับให้คู่นอนเข้ารับการตรวจวินิจฉัยด้วย แม้ว่าคู่นอนจะไม่มีอาการป่วยใด ๆ ก็ตาม นอกจากนั้น ระหว่างรักษาตัว ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการติดโรคซ้ำหรือการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น

หนองในป้องกันได้อย่างไร

หนองในสามารถป้องกันได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ทั้งแบบสอดใส่และทางปาก
  • เลือกมีคู่นอนเพียงคนเดียว หรือมีเพศสัมพันธ์เฉพาะกับคนที่มั่นใจว่าปลอดภัยจากหนองในหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น ๆ เพื่อลดโอกาสติดเชื้อ
  • ทำความสะอาดเซ็กส์ทอยทุกครั้งทั้งก่อนและหลังใช้
  • เลือกใช้เซ็กส์ทอยร่วมกับคู่นอนเพียงคนเดียว หากมีคู่นอนหลายคน ไม่ควรใช้ปะปนกัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หรือใช้ถุงยางอนามัยหุ้มเซ็กส์ทอยก่อนใช้งาน
  • เข้ารับการตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างน้อยปีละครั้ง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย Duangkamon Junnet · แก้ไขล่าสุด 20/02/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา