
หนองในเทียม หรือ คลามายเดีย เป็นการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่งที่เกิดจากแบคทีเรีย ซึ่งพบได้บ่อย สัญญาณเตือนทั่วไปคืออาการเจ็บที่อวัยวะเพศ และมีสารคัดหลั่งจากช่องคลอดหรือองคชาต
คำจำกัดความ
หนองในเทียม คืออะไร
หนองในเทียม หรือคลามายเดีย (Chlamydia) เป็นการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (sexual transmitted infection: STI) ชนิดหนึ่งที่เกิดจากแบคทีเรียที่เรียกว่าคลามายเดีย ทราโคเมทิส (chlamydia trachomatis) คุณอาจไม่ทราบว่าเป็นหนองในเทียม เนื่องจากคนจำนวนมากมักไม่มีสัญญาณเตือนหรืออาการใดๆ หากมีสัญญาณเตือนหรืออาการ สัญญาณเตือนทั่วไปคืออาการเจ็บที่อวัยวะเพศ และมีสารคัดหลั่งจากช่องคลอดหรือองคชาต หนองในเทียมยังสามารถส่งผลต่อคอมดลูก ทวารหนัก ท่อปัสสาวะ ตา และคอได้อีกด้วย
หนองในเทียมพบได้บ่อยเพียงใด
หนองในเทียมพบได้บ่อยมาก โดยจะมีการติดเชื้อในคนประมาณ 131 ล้านคนทั่วโลกในแต่ละปี สามารถส่งผลต่อทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี หนองในเทียมพบได้มากกว่าหนองในแท้สามเท่า และมากกว่าซิฟิลิส (syphilis) 50 เท่า ซึ่งโรคทั้งสองชนิดดังกล่าวเป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้ทั่วไปอีกด้วย หากคุณสงสัยว่าคุณอาจติดเชื้อ เป็นสิ่งสำคัญที่จะเข้ารับการรักษาโดยทันที
อาการ
อาการของหนองในเทียม
หนองในเทียมไม่ค่อยแสดงให้เห็นถึงสัญญาณเตือนและอาการในระยะเริ่มแรก เมื่อมีสัญญาณเตือนและอาการต่างๆ คุณอาจสังเกตเห็นสิ่งดังต่อไปนี้
- มีไข้ต่ำ
- มีอาการบวมรอบช่องคลอดหรืออัณฑะ
- มีความรู้สึกปวดหรือแสบในระหว่างขับถ่ายปัสสาวะ
- มีอาการปวดท้องส่วนล่าง
- มีสารคัดหลั่งจากช่องคลอดที่ผิดปกติ
- มีสารคัดหลั่งจากองคชาต
- มีอาการปวดในระหว่างมีเพศสัมพันธ์
- มีเลือดออกในระหว่างช่วงมีประจำเดือนและหลังมีเพศสัมพันธ์
- มีอาการปวดอัณฑะ
อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นภายในเวลาหนึ่งถึงสามสัปดาห์ของการรับเชื้อ หากมีข้อกังวลใดๆ เกี่ยวกับอาการหนึ่งหรืออาการใดๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึงข้างต้น ควรปรึกษาแพทย์ทันที
ควรไปพบหมอเมื่อใด
คุณควรไปพบหมอหากมีสัญญาณเตือนหรืออาการใดๆ ที่กล่าวถึงข้างต้น นอกจากนี้ ยังเป็นสิ่งสำคัญที่จะพบหมอหากคู่นอนของคุณมีสัญญาณเตือนหรืออาการใดๆ ของหนองในเทียม ถึงแม้ว่าคุณไม่มีอาการ คุณอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาเพื่อป้องกันจากการมีอาการแย่ลงหรือการแพร่กระจาย
สาเหตุ
สาเหตุของหนองในเทียม
หนองในเทียมเกิดจากแบคทีเรียที่เรียกว่าคลามายเดีย ทราโคเมทิส และสามารถแพร่กระจายได้ง่ายผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทางปาก และทางทารหนัก หากคุณเป็นหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นหนองในเทียม คุณยังสามารถแพร่เชื้อไปยังทารกได้ ซึ่งทำให้เกิด โรคปอดบวม (pneumonia) หรือการติดเชื้อรุนแรงที่ดวงตา หนองในเทียมรักษาได้ง่ายและไม่ควรละเลย หากปล่อยไว้โดยไม่รักษา หนองในเทียมสามารถทำให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ได้ยาก หากคุณสงสัยว่าคุณหรือคู่นอนของคุณเป็นหนองในเทียม โปรดไปพบหมอทันที
นอกเหนือจากภาวะมีบุตรยาก (infertility) แล้ว หนองในเทียมสามารถทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น
- เชิงกรานอักเสบ (Pelvic inflammatory disease) เชิงกรานอักเสบเกิดขึ้นเมื่อแบคทีเรียได้แพร่กระจายไปยังเชิงคอมดลูก มดลูก ท่อนำไข่ และรังไข่ เชิงกรานอักเสบสามารถทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก ท้องนอกมดลูก (ภาวะร้ายแรงเมื่อไข่ปฏิสนธินอกมดลูก) หรือมีอาการปวดเชิงกรานเรื้อรัง
- กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis) เกิดขึ้นเมื่อกระเพาะปัสสาวะติดเชื้อ
- ต่อมลูกหมากอักเสบ (Prostatitis) เกิดขึ้นเมื่อต่อมลูกหมากบวม
- กลุ่มอาการไรเตอร์ (Reiter’s syndrome) ทำให้เกิดข้ออักเสบ ตาแดง และความผิดปกติเกี่ยวกับท่อปัสสาวะ
- การติดเชื้ออื่นๆ การติดเชื้อเหล่านี้อาจส่งผลต่อพื้นผิวของท่อปัสสาวะในผู้ชาย พื้นผิวของไส้ตรง หรือดวงตา
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของโรคหนองในเทียม
คุณมีความเสี่ยงมากขึ้นสำหรับหนองในเทียมหากมีปัจจัยเสี่ยงใดๆ ดังต่อไปนี้
- มีอายุน้อยกว่า 24 ปี
- มีเพศสัมพันธ์บ่อยกับคู่นอนหลายคน
- มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน
- มีประวัติเคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ
เพื่อลดความเสี่ยงให้น้อยที่สุด คุณควรมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยและเข้ารับการตรวจเป็นประจำ
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลที่นำเสนอในที่นี้ ไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ ให้ปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยโรคหนองในเทียม
โรคหนองในเทียมนั้นสามารถตรวจพบได้ระหว่างการตรวจร่างกาย ดังนั้นคุณจึงควรเข้ารับการตรวจร่างกายทุกปีหากมีอายุน้อยกว่า 25 ปี และมีเพศสัมพันธ์บ่อยครั้ง หากคุณมีอายุมากกว่า 25 ปี ควรเข้ารับการตรวจทุกปี หากคุณมีคู่นอนมากกว่าหนึ่งคน หรือมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลายคน มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย หรือเคยเป็นหนองในเทียมมาก่อน
การรักษาโรคหนองในเทียม
โรคหนองในเทียมสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ แพทย์จะสั่งยาปฏิชีวนะให้กับทั้งคุณและคู่นอนของคุณ คุณอาจต้องใช้ยาเป็นเวลานานถึง 10 วัน หรือในบางกรณีอาจต้องใช้เวลานานกว่า 2 สัปดาห์ กว่าจะรักษาโรคหนองในเทียมให้หายขาด
คุณไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างที่รับการรักษาโรคหนองในเทียม เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และควรใช้ยาปฏิชีวนะให้ครบชุดเพื่อป้องกันการดื้อยาและการกลับมาติดเชื้อซ้ำ
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองที่ช่วยจัดการหนองในเทียม
เพื่อจัดการความเสี่ยงสำหรับหนองในเทียม แนะนำให้คุณปฏิบัติดังต่อไปนี้
- ห้ามมีเพศสัมพันธ์ ทั้งเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทางทวารหนัก และทางปาก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค
- ซื่อสัตย์ต่อคู่รัก การซื่อสัตย์ต่อคนรักและไม่มีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่นที่ไม่ใช่คนรัก จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดโรคหนองในเทียมได้เป็นอย่างมาก
- มีเซ็กส์แบบป้องกัน สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- การคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น เช่น ใช้ยาคุมกำเนิด ไม่สามารถป้องกันโรคหนองในเทียม และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้
- ตรวจร่างกายเป็นประจำ
หากคุณมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้นถึงวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด