backup og meta

หูดหงอนไก่ วิธีรักษา และอาการที่ควรระวัง

หูดหงอนไก่ วิธีรักษา และอาการที่ควรระวัง

หูดหงอนไก่ คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อไวรัส (Human Papilomavirus หรือ HPV) เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากที่สุดชนิดหนึ่งทั้งในชายและหญิง ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์อาจเคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เกิดจากเชื้อไวรัส HPV อย่างน้อยหนึ่งครั้ง หูดหงอนไก่มักเกิดขึ้นบริเวณเนื้อเยื่ออ่อนรอบอวัยวะเพศ มีลักษณะคล้ายกลุ่มเนื้อเล็ก ๆ ลักษณะคล้ายดอกกะหล่ำ สำหรับบางคน หูดหงอนไก่อาจมีขนาดเล็กมากจนแทบมองไม่เห็น เชื้อไวรัส HPV ในหูดหงอนไก่อาจนำไปสู่โรคร้ายอื่น ๆ อย่างโรคมะเร็งได้ ควรรู้จักวิธีป้องกัน หูดหงอนไก่ วิธีรักษา และทราบถึงอาการเพื่อสังเกตหากพบสัญญาณเตือนอาการของโรค

[embed-health-tool-ovulation]

หูดหงอนไก่คืออะไร

หูดหงอนไก่ คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ซึ่งพบบ่อยมากที่สุด เกิดขึ้นได้ทั้งในเพศชายและหญิง โดยหูดหงอนไก่จะมีลักษณะเป็นกลุ่มติ่งเนื้อสีต่าง ๆ เช่น สีชมพู สีแดง เกิดขึ้นรอบ ๆ อวัยวะเพศ ลักษณะของติ่งเนื้อดูคล้ายกับดอกกะหล่ำ หรือบางทีอาจมีขนาดเล็กมากจนแทบสังเกตไม่เห็น โดยปกติหูดหงอนไก่จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน ในหนึ่งก้อนจะมีติ่งเนื้อที่รูปร่างคล้ายดอกกะหล่ำอยู่ 3-4 ดอก ซึ่งจะเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็ว ปกติแล้วผู้ป่วยมักไม่มีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย แต่ในบางรายอาจรู้สึกเจ็บเพียงเล็กน้อย มีเลือดไหล หรือรู้สึกคัน เมื่อเป็นแล้วแม้จะรักษาหายก็อาจกลับมาเป็นซ้ำได้

โดยผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอและมีอายุน้อยกว่า 30 ปีมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นหูดหงอนไก่ นอกจากนี้ผู้ที่ติดเชื้อ หูดหงอนไก่บางรายอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งทั้งในชายและหญิง เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก แม้หูดหงอนไก่จะไม่ใช่สาเหตุโดยตรง แต่หากเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดหูดหงอนไก่ไม่หายไปจากร่างกายอาจสร้างความเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายและนำไปสู่การเป็นมะเร็งได้

สาเหตุของหูดหงอนไก่

หูดหงอนไก่เกิดจากไวรัสต้นเหตุของโรคที่มีชื่อว่า HPV ซึ่งติดต่อกันผ่านการมีเพศสัมพันธ์ และจะมีโอกาสต่อการเสี่ยงรับเชื้อมากขึ้นหากเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ โดยหูดหงอนไก่ติดต่อผ่านกันได้โดยง่ายทั้งผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก ทางปาก หรือแม้กระทั่งผ่านการสัมผัสกอดจูบลูบคลำ ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจไม่แสดงอาการ หรือไม่มีลักษณะของโรคปรากฏ แต่สามารถส่งต่อเชื้อไวรัสได้

ลักษณะอาการและสัญญาณเตือนหูดหงอนไก่

เนื่องจากปัจจุบันนี้ยังไม่มีวิธีตรวจหูดหงอนไก่ที่ได้รับการรับรองทางการแพทย์ ดังนั้น ผู้ที่สงสัยว่าตนเองอาจเป็นหูดหงอนไก่อาจสังเกตได้จากอาการของหูดหงอนไก่ ซึ่งมักพบว่ามีติ่งเนื้อลักษณะคล้ายดอกกะหล่ำเกิดขึ้นที่บริเวณอวัยวะเพศหรือทวารหนัก มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เป็นตุ่มนูนหรือแบนราบ โดยอาการในเพศหญิงและชายแสดงออกดังนี้

  • เพศหญิง – มักมีอาการตกขาว คัน บริเวณอวัยวะเพศและพบหูดขึ้นบริเวณช่องคลอดหรือบริเวณอวัยวะเพศ
  • เพศชาย – มักพบหูดขึ้นบริเวณทวารหนัก อวัยวะเพศชาย ถุงอัณฑะ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าโรคนี้จะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่หากพบอาการที่บ่งบอกว่าอาจเข้าข่ายเป็นหูดหงอนไก่ ควรปรึกษาคุณหมอ หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้อง

หูดหงอนไก่ วิธีรักษา และวิธีป้องกัน

โดยปกติแล้ว เมื่อเป็นหูดหงอนไก่แล้วอาจหายได้เอง แต่ในบางรายเชื้อไวรัสยังคงอยู่ในร่างกาย สำหรับวิธีการรักษาหูดหงอนไก่ ในปัจจุบันมีวัคซีนต้านไวรัส HPV 3 ชนิดที่ได้การรับรองจากองค์การอาหารและยา ได้แก่ การ์ดาซิล (Gardasil) เซอร์วาริกซ์ (Cervarix) และตัวล่าสุดมีชื่อเรียกว่า การ์ดาซิล 9 (Gardasil 9) ที่มีการรับรองการใช้ในเพศชายและเพศหญิงที่มีอายุ 9 ปี ถึง 45 ปีขึ้น ถือเป็นวัคซีนที่ช่วยป้องกันเชื้อ HPV และป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูก

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าหูดหงอนไก่จะไม่ใช่โรคร้ายแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิต แต่หากไม่ป้องกันและรักษาอย่างถูกวิธี อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ โดยเฉพาะในสตรีมีครรภ์ หากติดเชื้อไวรัสและป่วยเป็นหูดหงอนไก่ อาจส่งผลกระทบต่อทารกได้

วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันหูดหงอนไก่ คือ การดูแลตนเองเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น การไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย การสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

HPV infection. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hpv-infection/symptoms-causes/syc-20351596. Accessed December 13, 2021.

Genital HPV Infection – Fact Sheet.

https://www.cdc.gov/std/hpv/stdfact-hpv.htm. Accessed December 13, 2021.

Human papillomavirus (HPV). https://www.nhs.uk/conditions/human-papilloma-virus-hpv/. Accessed December 13, 2021.

HPV. https://www.webmd.com/sexual-conditions/hpv-genital-warts/hpv-virus-information-about-human-papillomavirus. Accessed December 13, 2021.

Human papillomavirus (HPV) and cervical cancer. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/human-papillomavirus-(hpv)-and-cervical-cancer. Accessed December 13, 2021.

เวอร์ชันปัจจุบัน

01/09/2023

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: Pattarapa Thiangwong


บทความที่เกี่ยวข้อง

FAQ: คําถามที่ถามบ่อยเกี่ยวกับวัคซีน HPV

9 เรื่อง HPV ไวรัสร้าย ใกล้ตัว พ่อแม่ต้องรู้!


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 01/09/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา