backup og meta

จูบ มีประโยชน์อย่างไร และมีความเสี่ยงอย่างไรต่อสุขภาพ

จูบ มีประโยชน์อย่างไร และมีความเสี่ยงอย่างไรต่อสุขภาพ

จูบ เป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งที่อาจมีความหมายแตกต่างกันออกไปในแต่ละวัฒนธรรม แต่มักจะรับรู้โดยทั่วไปว่า การจูบเป็นการแสดงความรักอย่างหนึ่งที่สามารถส่งผลต่ออารมณ์ สุขภาพกาย และสุขภาพจิตได้

จูบ ส่งผลต่อร่างกายอย่างไร

เมื่อจูบกับคนรัก สมองจะหลั่งสารเคมีแตกต่างกันขึ้นอยู่กับบริบท โดย ดร.เฮเลน ฟิชเชอร์ ศาสตราจารย์วิชามานุษยวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยรัทเจอร์ส ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ข้อมูลว่า การจูบขึ้นอยู่กับบริบท โดยอาจแบ่งเป็น 3 ขั้น ได้แก่

  1. ความต้องการทางเพศ (Lust) เป็นความปรารถนาทางเพศกับอีกฝ่าย ถูกกระตุ้นโดยฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ทั้งผู้ชายและผู้หญิง
  2. ความรักโรแมนติก (Romantic Love) ความรู้สึกงงงวย รู้สึกสบายใจ รู้สึกกินไม่ได้นอนไม่หลับเมื่อกำลังมีความรักครั้งใหม่ เกิดขึ้นจากสารโดพามีน และนอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine)
  3. ความผูกพัน (Attachment) ความรู้สึกปลอดภัยที่อาจพบได้ในความสัมพันธ์ระยะยาว โดยมีฮอร์โมนออกซิโทซินเป็นปัจจัยที่ทำให้รู้สึกสงบสุขและปลอดภัย

การจูบจึงอาจให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าในบริบทนั้นมีรู้สึกอย่างไร และสารเคมีในสมองชนิดใดหลั่งออกมา

ประโยชน์สุขภาพของการจูบ

1. อาจเพิ่มฮอร์โมนแห่งความสุข

การจูบสามารถกระตุ้นให้สมองหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุข ได้แก่ ฮอร์โมนออกซิโทซิน โดพามีน (Dopamine) และเซโรโทนิน (Serotonin) ที่จะทำให้รู้สึกดี รู้สึกร่าเริง และกระตุ้นให้เกิดความรักและความผูกพัน นอกจากนี้ ยังช่วยลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หรือฮอร์โมนเครียดอีกด้วย

2. อาจช่วยสร้างความสัมพันธ์

ออกซิโทซิน (Oxytocin) คือ ฮอร์โมนที่เชื่อมความสัมพันธ์ การปล่อยฮอร์โมนออกซิโทซินอย่างรวดเร็วในตอนจูบจะส่งผลให้เกิดความรู้สึกรักและผูกพัน การจูบกับคนรักจึงอาจช่วยสร้างความพึงพอใจในความสัมพันธ์ และอาจเป็นสิ่งสำคัญสำหรับความสัมพันธ์ในระยะยาว

3. บรรเทาความเครียดและความกังวล

การจูบอาจช่วยลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล หรือฮอร์โมนเครียด เนื่องจากร่างกายหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซินที่ช่วยลดความกังวล และเพิ่มความรู้สึกผ่อนคลาย นอกจากการจูบแล้ว การสื่อสารอย่างอื่น เช่น การกอด การบอกรัก ต่างก็ส่งผลต่อการจัดการความเครียดด้วยเช่นกัน

4. อาจช่วยขยายหลอดเลือด ช่วยลดความดันโลหิต

การจูบดีต่อสุขภาพหัวใจ เนื่องจากสามารถเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจด้วยการทำให้หลอดเลือดขยายตัว ส่งผลให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น จึงอาจช่วยลดความดันโลหิตได้ทันที

5. อาจช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ในวารสาร Microbiomejournal เมื่อปี พ.ศ. 2557  พบว่า คู่รักที่จูบกันบ่อยจะมีไมโครไบโอต้า (Microbiota) หรือจุลินทรีย์ในร่างกายชนิดเดียวกันในน้ำลายและบนลิ้น การแลกน้ำลายจึงอาจสามารถเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันได้ เนื่องจากการได้รับเชื้อโรคใหม่จะเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน

6. อาจช่วยกระตุ้นความต้องการทางเพศ

การจูบแบบโรแมนติกนำไปสู่ความต้องการทางเพศ และมักจะเป็นพลังขับเคลื่อนที่ทำให้ผู้หญิงตัดสินใจมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ ในน้ำลายยังมีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศที่มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ ยิ่งจูบอย่างโรแมนติกนานขึ้นเท่าไหร่ ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนก็จะหลั่งออกมามากขึ้นเท่านั้น

7. อาจช่วยลดอาการแพ้

การศึกษาพบว่า การจูบอาจช่วยบรรเทาอาการลมพิษอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงอาการแพ้อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับละอองเกสร และไรฝุ่นในครัวเรือน นอกจากนี้ ความเครียดยังเป็นปัจจัยที่ทำให้อาการแพ้แย่ลง ดังนั้น การจูบจึงอาจส่งผลในแง่ที่ช่วยลดความเครียด และอาจช่วยลดอาการแพ้ได้ด้วย

8. อาจส่งผลดีต่อระดับคอเลสเตอรอลในเลือด

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ในวารสาร Western Journal of Communication เมื่อปี พ.ศ. 2552 โดยให้คู่รักจูบแบบโรแมนติกบ่อยขึ้น พบว่า 6 สัปดาห์ผ่านไป การรับรู้ความเครียด ความพึงพอใจในความสัมพันธ์ และระดับคอเลสเตอรอลในเลือด มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งการมีปริมาณคอเลสเตอรอลลดลง จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหลายโรค เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง

9. อาจดีต่อสุขภาพฟัน

การจูบ สามารถกระตุ้นการผลิตน้ำลาย ซึ่งน้ำลายจะช่วยในการกลืนอาหาร ช่วยทำให้ช่องปากชุ่มชื้น และช่วยทำให้เศษอาหารไม่ติดตามซอกฟัน จึงอาจมีส่วนช่วยในการป้องกันฟันผุได้

ความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพจากการจูบ

แม้การจูบอาจส่งผลดีต่อสุขภาพหลายประการ แต่ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพบางประการได้ เนื่องจากการจูบอาจทำให้เชื้อโรค เช่น แบคทีเรีย ไวรัส ที่อยู่ในสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย น้ำมูก หรือเลือด ส่งต่อจากคนหนึ่งสู่อีกคนได้ผ่านการสัมผัส ฝอยละอองขนาดใหญ่ ละอองขนาดเล็ก และเมื่อได้รับเชื้อโรค ก็อาจส่งผลให้ป่วยเป็นโรคไข้หวัดธรรมดา โรคไข้และต่อมน้ำเหลืองโต (Glandular Fever) โรคเริม โรคไวรัสตับอักเสบบี โรคหูด โรคไข้กาฬหลังแอ่น เป็นต้น

จูบอย่างไรให้ลดความเสี่ยงในการเกิดโรค

วิธีเหล่านี้ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคจากการจูบได้

  • รักษาสุขอนามัยให้ดีอยู่เสมอ
  • งดจูบหากตนเองหรืออีกฝ่ายมีแผลเริม หรือหูดบริเวณริมฝีปาก
  • งดจูบหากตนเองหรืออีกฝ่ายไม่สบาย
  • เข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ หรือเข้ารับวัคซีนบางชนิด เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคที่อาจติดต่อผ่านการจูบได้ เช่น โรคไวรัสตับอักเสบบี โรคไวรัสตับอักเสบซี โรคอีสุกอีใส

[embed-health-tool-ovulation]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

When a Kiss Is More Than Just a Kiss. https://www.webmd.com/sex-relationships/news/20131011/when-a-kiss-is-more-than-just-a-kiss. Accessed November 12, 2018.

What’s So Great About Kissing?. https://www.webmd.com/sex-relationships/features/kissing-benefits#1. Accessed November 12, 2018.

Kissing in Marital and Cohabiting Relationships: Effects on Blood Lipids, Stress, and Relationship Satisfaction. https://www.tandfonline.com/doi/abs/10.1080/10570310902856071. Accessed November 22, 2021

Shaping the oral microbiota through intimate kissing. https://microbiomejournal.biomedcentral.com/track/pdf/10.1186/2049-2618-2-41.pdf. Accessed November 22, 2021

Kissing and your health. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/conditionsandtreatments/kissing-and-your-health. Accessed November 22, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/08/2022

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

เซ็กส์กับความเครียด เกี่ยวข้องกันอย่างไร

7 สิ่งที่ควรรู้ เพื่อช่วยให้มี เซ็กส์ดี และปลอดภัย


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 11/08/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา