backup og meta

7 สิ่งที่ควรรู้ เพื่อช่วยให้มี เซ็กส์ดี และปลอดภัย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 06/06/2023

    7 สิ่งที่ควรรู้ เพื่อช่วยให้มี เซ็กส์ดี และปลอดภัย

    หากอยากมี เซ็กส์ดี และปลอดภัย ทั้งตัวเองและคู่รัก อาจต้องดูแลร่างกายให้สะอาดและมีสุขภาพที่ดีอยู่เสมอ ซึ่งอาจทำได้ด้วยการตรวจร่างกายและตรวจหาโรคติดต่อทางเพสสัมพันธ์เป็นประจำ นอกจากนี้ การสวมถุงยางอนามัยก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะนอกจากจะป้องกันการท้องไม่พร้อมแล้ว ยังอาจช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ด้วย

    7 สิ่งที่ช่วยทำให้ เซ็กส์ดี และปลอดภัย

    1. การตรวจสอบถุงยางอนามัย

    ถุงยางอนามัย นอกจากจะช่วยคุมกำเนิดแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ด้วย การสวมถุงยางอนามัย ผู้ชายอาจต้องตรวจสอบให้ดีว่า ใช้ถุงยางอนามัยถูกไซส์หรือไม่ ซึ่งถุงยางอนามัยในประเทศไทยมีด้วยกัน 3 ขนาด คือ 49 มิลลิเมตร 52 มิลลิเมตร และ 56 มิลลิเมตร การสวมถุงยางอนามัยให้ถูกไซส์ถือเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะหากถุงยางหลวมเกินไปหรือคับเกินไป อาจทำให้ถุงยางหลุดหรือฉีกขาดขณะมีเพศสัมพันธ์ได้

    สำหรับวิธีการเลือกขนาดถุงยางให้เหมาะสมกับตัวเอง อาจทำได้โดยการวัดขนาดเส้นรอบวงตอนอวัยวะเพศแข็งตัวเต็มที่ แล้วดูว่าเส้นรอบวงกี่มิลลิเมตร จากนั้นนำตัวเลขที่ได้มาหาร 2 จึงจะได้เป็นขนาดถุงยางอนามัยที่เหมาะสม สิ่งที่ต้องระวัง คือ ผู้ชายไทยหลายคนชอบวัดขนาดจากความยาว ไม่ได้วัดเส้นรอบวง จึงอาจได้ขนาดถุงยางที่ไม่ถูกต้อง

    2. ดูวันหมดอายุของถุงยางอนามัย

    นอกจากถุงยางไม่ถูกไซส์ ถุงยางรั่ว หรือฉีกขาดแล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่ควรระวังก็คือ ถุงยางอนามัยหมดอายุ การตรวจสอบวันหมดอายุข้างกล่องถุงยางอนามัยก่อนมีเพศสัมพันธ์ถือเป็นเรื่องจำเป็น เพราะหากถุงยางอนามัยหมดอายุ อาจทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดก็ลดลง แถมยังเสี่ยงถุงยางรั่ว จนทำให้ท้องไม่พร้อม หรือติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้

    3. การกินยาคุมกำเนิด

    ยาคุมกำเนิดไม่ได้ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่ช่วยลดโอกาสในการตั้งครรภ์ ดังนั้น ผู้หญิงที่ต้องการมีเซ็กส์ดี ๆ เพื่อความสุข ไม่ได้ต้องการมีเซ็กส์เพื่อมีลูก อาจต้องใส่ใจเรื่องยาคุมกำเนิด โดยมีข้อควรระวัง คือ ผู้หญิงไม่ควรใช้ยาคุมฉุกเฉินเป็นประจำ เพราะอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย ยาคุมฉุกเฉินมี 2 เม็ด ในแต่ละเม็ดมีตัวยาลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) เม็ดละ 750 ไมโครกรัม ซึ่งเป็นฮอร์โมนสังเคราะห์ มีคุณสมบัติป้องกันภาวะตกไข่ หรือทำให้ของเหลวในช่องคลอดเหนียวขึ้น เพื่อไม่ให้อสุจิเข้ามาผสมกับไข่ได้ การกินยาคุมฉุกเฉินอาจมีผลข้างเคียง ดังนั้น จึงควรใช้ยาคุมฉุกเฉินในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น และควรอยู่ในการดูแลของคุณหมอหรือเภสัชกร

    4. ควรป้องกันเมื่อออรัลเซ็กส์

    บางคนอาจคิดว่าออรัลเซ็กส์ไม่ได้มีการสอดใส่ อาจไม่เสี่ยงติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่ความจริงแล้ว การทำออรัลเซ็กส์อาจเสี่ยงเกิดติดโรคได้หากไม่ใช้ถุงยางอนามัย เนื่องจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น การติดเชื้อเอชไอวี สามารถติดต่อได้ทางเลือด หากคู่รักมีแผลในปาก ก็เสี่ยงเกิดโรคนี้ได้เช่นกัน การทำออรัลเซ็กส์ให้ฝ่ายชายจึงควรให้ฝ่ายชายสวมถุงยางอนามัย หรือหากทำออรัลเซ็กส์ที่อวัยวะเพศหญิงหรือทวารหนัก ควรใช้แผ่นยางอนามัย (Dental Dam) ที่ออกแบบมาสำหรับใช้กับกิจกรรมนี้โดยเฉพาะก็ได้

    5. ล้างมือให้สะอาด

    เวลาทำกิจกรรมทางเพศ อวัยวะอีกหนึ่งส่วนที่ต้องใส่ใจหากอยากมี เซ็กส์ดี ปลอดภัย ก็คือ มือ ไม่ว่าจะร่วมรักกันอย่างไร ก็ต้องล้างมือก่อนทุกครั้ง เพราะในแต่ละวันมือสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ มากมาย หากไม่ล้างมือก่อนมีเพศสัมพันธ์ แล้วไปสัมผัสกับจุดบอบบางต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ในช่องปาก อวัยวะเพศ รวมถึงช่องคลอด ก็อาจทำให้เสี่ยงเกิดโรคต่าง ๆ ได้

    6. การทำความสะอาดช่องปาก

    หลังจากมีเพศสัมพันธ์ หลายคนอาจมีอาการคันที่อวัยวะเพศ ซึ่งอาจเกิดจากการไม่ได้แปรงฟันก่อนมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้น จึงควรแปรงฟันเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพราะในช่องปากมีแบคทีเรียมากกว่า 500 ชนิด หากทำออรัลเซ็กส์ให้กันโดยที่ไม่ได้แปรงฟัน แบคทีเรียและเชื้อโรคในช่องปากอาจทำให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น คันอวัยวะเพศเนื่องจากติดเชื้อในช่องคลอด เป็นโรคเริมที่อวัยวะเพศชาย

    7. เซ็กส์ดี ต้องใส่ใจเซ็กส์ทอย

    หลายคู่เลือกใช้เซ็กส์ทอยเพื่อเพิ่มสีสันให้ชีวิตรัก เพื่อให้เซ็กส์ดีมีความสุขขึ้น แต่หากเลือกใช้เซ็กส์ทอยที่ผลิตจากวัสดุที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ทำความสะอาดให้ดีทั้งก่อนและหลังใช้ เซ็กส์ทอยก็อาจกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคได้ จึงควรทำความสะอาดเซ็กส์ทอยก่อนนำมาใช้งานทุกครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอื่น ๆ ที่ไม่ใช่แค่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ไข้หวัด โรคติดเชื้อแบคทีเรีย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 06/06/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา