backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

เลือดประจำเดือน คืออะไร แบบไหนที่ผิดปกติและควรพบคุณหมอ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 26/11/2022

เลือดประจำเดือน คืออะไร แบบไหนที่ผิดปกติและควรพบคุณหมอ

เลือดประจำเดือน คือ เลือดที่เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกลอกตัวออกและไหลออกทางช่องคลอดเป็นประจำทุกเดือนหลังจากมีการตกไข่แต่ไม่ได้มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ผู้หญิงมักเริ่มมีเลือดประจำเดือนเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ และแต่ละครั้งอาจมีประจำเดือนนาน 3-7 วัน แตกต่างกันออกไปตามภาวะสุขภาพของแต่ละบุคคล อย่างไรก็ตาม หากสังเกตว่าประจำเดือนขาด มาไม่สม่ำเสมอ และมีลักษณะผิดปกติ ควรเข้าพบคุณหมอทันที เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสม

เลือดประจำเดือน คืออะไร

เลือดประจำเดือน คือ เลือดที่เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกลอกตัวออกและไหลออกทางช่องคลอดเป็นประจำทุกเดือนหลังจากที่มีการตกไข่แต่ไม่ได้มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น โดยปกติ เมื่อถึงช่วงการตกไข่ ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่มีหน้าที่ในการควบคุมการตกไข่จะเพิ่มขึ้น เพื่อกระตุ้นให้รังไข่ปล่อยไข่ออกมาและทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาขึ้น เตรียมพร้อมให้ตัวอ่อนที่เกิดจากการปฏิสนธิของอสุจิและไข่ฝังตัว และเกิดเป็นการตั้งครรภ์ แต่หากไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ระดับฮอร์โมนเพศหญิงทั้งสองจะลดลง ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกและไหลออกมาเป็นประจำเดือน มักจะเกิดขึ้นในทุก ๆ 28 วัน

ลักษณะของเลือดประจำเดือนที่ปกติ

ลักษณะของเลือดประจำเดือนที่ปกติอาจสังเกตได้จากประจำเดือนมาสม่ำเสมอ โดยประจำเดือนแต่ละครั้งมีระยะห่างกันประมาณ 21-35 วัน ประจำเดือนมาในช่วงเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกันทุกรอบเดือน และอาจเป็นนานประมาณ 3-7 วัน โดยมีปริมาณเลือดที่พอดี มีสีชมพู สีแดง หรืออาจมีสีน้ำตาลและดำในช่วงใกล้หมดประจำเดือน

นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการอื่น ๆ ก่อนประจำเดือนมาหรือระหว่างการมีประจำเดือน เช่น สิวขึ้น ปวดท้องน้อย รู้สึกอยากอาหาร อารมณ์แปรปรวน เจ็บเต้านม ท้องอืด มีปัญหาการนอนหลับ

ลักษณะของเลือดประจำเดือนที่ผิดปกติ

ลักษณะของเลือดประจำเดือนที่ผิดปกติ อาจมีดังนี้

  • ประจำเดือนขาด มาไม่สม่ำเสมอ หรือมาแบบกะปริบกะปรอย
  • ประจำเดือนมามากหรือมานานกว่าปกติ
  • มีกลิ่นไม่พึงประสงค์
  • เลือดประจำเดือนเป็นสีอื่นนอกเหนือจากสีชมพูหรือสีแดง เช่น สีดำ สีน้ำตาล สีเทา สีส้ม

ความผิดปกติเหล่านี้ อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อในช่องคลอด เนื้องอก ติ่งเนื้อปากมดลูกหรือติ่งเนื้อโพรงมดลูก การตั้งครรภ์ การแท้งบุตร การฝังตัวของตัวอ่อน ช่องคลอดอุดตัน

นอกจากนี้ ควรพบคุณหมอทันทีหากมีอาการ ดังนี้

  • ปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง
  • มีไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียนระหว่างเป็นประจำเดือน
  • มีอาการเจ็บหน้าอก หายใจลำบากหลังประจำเดือนหมด
  • ประจำเดือนมานานกว่า 7 วัน และมีปริมาณมาก โดยจำเป็นต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยทุก 1-2 ชั่วโมง
  • เลือดประจำเดือนมีลักษณะเป็นลิ่มเลือดขนาดใหญ่
  • ประจำเดือนขาดนานกว่า 3 เดือน โดยไม่ได้มีสาเหตุมาจากการตั้งครรภ์
  • รอบเดือนเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน มีรอบเดือนระยะสั้นกว่า 21 วัน หรือนานกว่า 35 วัน
  • อาการตกขาวผิดปกติ เช่น มีกลิ่นเหม็น สีตกขาวเปลี่ยนแปลง ตกขาวเป็นก้อนหนา

การดูแลตัวเองเพื่อให้เลือดประจำเดือนมาปกติ

การดูแลตัวเองให้เลือดประจำเดือนมาปกติและสม่ำเสมอทุกรอบเดือน มีดังนี้

  • พักผ่อนให้เพียงพอ หรืออาจหากิจกรรมที่เพิ่มความผ่อนคลาย ลดความเครียด เนื่องจากผู้ที่มีความเครียดบ่อยครั้ง อาจส่งผลให้ประจำเดือนมาช้าได้
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควรออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อช่วยกระตุ้นฮอร์โมนที่ส่งผลต่อประจำเดือน ทำให้ประจำเดือนมาตามปกติ และควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรออกกำลังกายหักโหมหรือใช้แรงมากเกินไป เพราะอาจส่งผลให้ร่างกายเหนื่อยล้าและเกิดความเครียด ที่อาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติได้
  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด ข้าวที่ไม่ผ่านการขัดสี โดยควรเลือกรับประทานอาหารให้หลากหลาย ครบ 5 หมู่ และควรบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อช่วยควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ และช่วยรักษาความสมดุลของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือน
  • ใช้ยาคุมกำเนิด ที่ประกอบไปด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสติน เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการเลือดประจำเดือนไม่มาเนื่องจากความไม่สมดุลของฮอร์โมน อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาคุณหมอก่อนใช้ยา

สำหรับผู้ที่มีภาวะสุขภาพที่ส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ เช่น กลุ่มอาการถุงน้ำในรังไข่หลายใบ วัยหมดประจำเดือน ภาวะต่อมไทรอยด์ต่ำ  อาจจำเป็นต้องรักษาตามอาการและดุลพินิจของคุณหมอ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 26/11/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา