backup og meta

ประจำเดือนขาด เกิดจากอะไร รักษาได้อย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 23/11/2022

    ประจำเดือนขาด เกิดจากอะไร รักษาได้อย่างไร

    ประจำเดือนขาด (Amenorrhea) หรือ ภาวะขาดประจำเดือน หมายถึงการที่เพศหญิงไม่เคยมีประจำเดือนเลย แม้เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์แล้ว หรืออายุเกิน 16 ปีขึ้นไป รวมถึงการขาดประจำเดือนติดต่อกัน 3 รอบขึ้นไป ทั้งนี้ ประจำเดือนขาด อาจเกิดจากความเครียด การใช้ยา การออกกำลังกายอย่างหนักรวมทั้งภาวะธรรมชาติอย่างการตั้งครรภ์ และวัยทอง

    ประจำเดือน คืออะไร แบบไหนเรียกปกติ

    ประจำเดือน เป็นภาวะสุขภาพแบบหนึ่งของเพศหญิงเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ โดยร่างกายจะมีเลือดไหลออกจากช่องคลอด ซึ่งเกิดจากเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกออกจากร่างกาย เนื่องจากไข่หรือเซลล์สืบพันธุ์เพศหญิงไม่ได้รับการปฏิสนธิจากอสุจิในเดือนนั้น ๆ

    โดยทั่วไป เพศหญิงจะมีประจำเดือนครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 12-16 ปี และประจำเดือนในแต่ละรอบจะเกิดขึ้นทุก ๆ 21-35 วัน

    ทั้งนี้ ประจำเดือนจะมาติดต่อกันเป็นเวลา 5-7 วัน หรือคิดเป็นเลือดราว 30-72 มิลลิลิตร ต่อประจำเดือน 1 รอบ

    นอกจากนี้ ระหว่างเป็นประจำเดือนอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดท้อง ท้องอืด อยากอาหาร ปวดหัว อารมณ์แปรปรวน

    อาการของประจำเดือนขาด เป็นอย่างไร

    ประจำเดือนขาด หรือภาวะขาดประจำเดือน หมายถึงการไม่มีประจำเดือนแม้เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์แล้ว โดยทางการแพทย์แบ่งภาวะขาดประจำเดือนเป็น 2 ประเภท ดังนี้

    • ภาวะขาดประจำเดือนปฐมภูมิ หรือการไม่เคยมีประจำเดือน แม้อายุ 16 ปีแล้ว นอกจากนี้ การไม่พบการเปลี่ยนแปลงทางเพศเมื่ออายุ 13 ปี อย่างเต้านมขยายหรือมีขนหัวหน่าว ยังถือเป็นอาการของภาวะขาดประจำเดือนเช่นกัน
    • ภาวะขาดประจำเดือนทุติยภูมิ หมายถึง การที่ประจำเดือนไม่มาติดต่อกัน 3 เดือนขึ้นไป ในกรณีของเพศหญิงที่เคยมีประจำเดือนแล้ว

    ประจำเดือนขาดเกิดจากอะไร

    ประจำเดือนขาด สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

    • การหยุดใช้ยาคุมกำเนิด เนื่องจากยาคุมกำเนิด เกี่ยวข้องกับการทำงานของฮอร์โมนในร่างกาย เมื่อหยุดใช้ยาจะส่งผลให้ประจำเดือนขาดหรือไม่มาเป็นเวลาประมาณ 3 เดือน
    • การใช้ยาบางชนิด ประจำเดือนขาด อาจเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางอย่าง เช่น ยาต้านอาการทางจิต ยาต้านซึมเศร้า ยารักษาความดันโลหิตสูง ยาแก้แพ้ เนื่องจากยาเหล่านี้มักมีส่วนประกอบที่ทำให้ฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง
    • ความเครียด ทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ที่อาจไปรบกวนการทำงานสมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตฮอร์โมน ซึ่งทำให้ประจำเดือนขาดได้ ทั้งนี้ หากความเครียดลดลง ภาวะขาดประจำเดือนมักหายไปเอง นอกจากนี้ การออกกำลังกายอย่างหนักอาจทำให้ร่างกายหลั่งคอร์ติซอลมากกว่าปกติและทำให้ประจำเดือนขาดได้เช่นกัน
    • อาการป่วย เช่น ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ เป็นสาเหตุให้รังไข่ทำงานผิดปกติ เสียสมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย และส่งผลให้ประจำเดือนขาดโดยทั่วไป ผู้ป่วยภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบอาจเป็นประจำเดือนเพียง 9 ครั้ง/ปี
    • การตั้งครรภ์ ระหว่างตั้งครรภ์ ผู้หญิงจะไม่มีประจำเดือน เพราะร่างกายไม่ตกไข่เพิ่ม จึงไม่เกิดการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูก ทั้งนี้ เมื่อคลอดบุตร ประจำเดือนจะกลับมาตามปกติ
    • วัยทอง เมื่ออายุประมาณ 48-52 ปี ร่างกายของเพศหญิงจะหยุดผลิตฮอร์โมนเพศเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ส่งผลให้รังไข่ไม่ผลิตไข่ และไม่มีประจำเดือนอีกต่อไป

    ประจำเดือนขาดรักษาอย่างไร

    เมื่อประจำเดือนขาด คุณหมอจะซักประวัติเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตและยาที่ใช้เป็นประจำ เพื่อวินิจฉัยและรักษาตามสาเหตุ ดังนี้

    • ความเครียด การใช้ยาบางชนิด โดยปกติคุณหมอมักแนะนำให้คนไข้ปรับพฤติกรรม ปรับลดการใช้ยาเพื่อให้การทำงานของร่างกายกลับเป็นปกติ และประจำเดือนก็สามารถกลับมาเป็นปกติได้
    • การตั้งครรภ์ การหยุดใช้ยาคุมกำเนิด หากประจำเดือนขาดอันมีสาเหตุมาจากภาวะสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ เช่นการตั้งครรภ์ ก็สามารถกลับมาเป็นปกติได้เอง จึงไม่จำเป็นต้องรักษา
    • อาการป่วย เช่น ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ คุณหมออาจรักษาด้วยการผ่าตัด หรือให้รับประทานยาคุมกำเนิด เพื่อรักษาสมดุลของฮอร์โมนที่ผิดปกติ และทำให้ประจำเดือนมาตามปกติ
    • วัยทอง เป็นภาวะหมดประจำเดือน คุณหมอจะตรวจร่างกายและอาจให้ยาบำรุงรับประทานเพื่อปรับสมดุลให้ร่างกาย และเมื่อเข้าสู่วัยทองหรือสิ้นสุดวัยเจริญพันธุ์ ประจำเดือนจะไม่มาอีกต่อไปเนื่องจากร่างกายหยุดผลิตไข่

    ประจำเดือนขาดป้องกันได้หรือไม่

    ภาวะขาดประจำเดือน เนื่องจากสาเหตุธรรมชาติ อย่างการตั้งครรภ์หรือการลดลงของฮอร์โมนเมื่อเข้าสู่วัยทอง ไม่สามารถป้องกันได้

    อย่างไรก็ตาม สามารถดูแลร่างกายเพื่อป้องกันประจำเดือนขาดได้หากมีสาเหตุมาจากความเครียด อาจป้องกันได้โดยการคลายเครียด เช่น ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ หาเวลาว่างเพื่อพักผ่อนสมอง หากประจำเดือนขาดเกิดจากการออกกำลังกายมากเกินไป ควรปรับวิธีหรือระยะเวลาในการออกกำลังกาย แต่หากเกิดจากการใช้ยาบางชนิด ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อปรับยาหรือเปลี่ยนตัวยา หรือหาวิธีบำบัดอาการโดยไม่ต้องใช้ยาแทน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 23/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา