backup og meta

แพ้ยาคุม อาการและผลข้างเคียง

แพ้ยาคุม อาการและผลข้างเคียง

แพ้ยาคุม อาจเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน หรือการแพ้ฮอร์โมนเพศหญิงของร่างกาย ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ หรือปวดหัว หรืออาจร้ายแรงกลายเป็นปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงได้ การรู้ถึงสาเหตุ การรักษา และการป้องกันอาจเป็นวิธีที่จะช่วยรับมือกับอาการแพ้ยาคุมที่อาจเกิดขึ้น

[embed-health-tool-ovulation]

คำจำกัดความ

แพ้ยาคุม คืออะไร

ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin)  ซึ่งตัวฮอร์โมนทั้งคู่จะช่วยยับยั้งการตกไข่  และสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อการตั้งครรภ์ เช่น ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางตัวลง บางคนอาจมีอาการแพ้ยาคุม ซึ่งอาจเป็นความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่ต่อต้านยา จนทำให้เกิดอาการแพ้ยาคุม ในบางกรณีอาการแพ้ยาอาจลดลงหรือหายไป หรืออาจรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประวัติสุขภาพของผู้ป่วยด้วย

ทั้งนี้ อาการแพ้ยาคุม คือการที่แพ้ส่วนประกอบของฮอร์โมน หรือสารประกอบอื่นที่บรรจุมาในเม็ดยา ซึ่งในรายที่มีอาการแพ้แบบรุนแรงจะไม่แนะนำให้มีการใช้ยาต่อ แต่อาการส่วนใหญ่ที่เกิดหลังจากการใช้ยาคุมกำเนิดในช่วงแรก จะเรียกว่าผลข้างเคียงจากยา หรือเป็นภาวะที่ร่างกายได้รับฮอร์โมนจากภายนอกแล้วมีการตอบสนองที่แตกต่างกันไป สามารถใช้ยาต่อไปได้

แพ้ยาคุมพบบ่อยแค่ไหน

การแพ้ยาคุมไม่สามารถบอกล่วงหน้าได้ เช่นเดียวกับการแพ้ยาชนิดอื่นๆ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาชนิดใหม่ต้องสังเกตอาการที่เกิดขึ้นเสมอ ส่วนอาการที่เป็นเพียงผลข้างเคียงจากยาคุมสามารถเกิดขึ้นได้น้อยกว่า 5% เช่น อาการเจ็บหน้าอก คลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ มีเลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อย จึงควรปรึกษาคุณหมอก่อนรับประทานยาคุมกำเนิดเสมอ

อาการ

อาการแพ้ยาคุม

อาการแพ้ยาเป็นปฏิกิริยาความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายที่มีต่อยา ไม่ว่าจะเป็นยาตามใบสั่งคุณหมอ ยาสมุนไพร หรือยาคุมกำเนิด อาจสามารถกระตุ้นทำให้เกิดอาการแพ้ยาได้

อาการแพ้ยามีความแตกต่างกับผลข้างเคียงของยาที่อาจเกิดขึ้นได้ตามคำระบุไว้บนฉลากยา ซึ่งอาการอาจเกิดขึ้นทันทีหรือเกิดขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังกินยา โดยอาการเหล่านี้อาจคงอยู่เป็นเวลานานหลายชั่วโมง หลายวัน หรือหลายสัปดาห์ อาการแพ้ยาคุมที่พบบ่อย ได้แก่

  • ลมพิษ หรือผื่นขึ้นที่ผิวหนัง
  • อาการคัน
  • มีไข้ น้ำมูกไหล
  • อาการบวมบริเวณใบหน้า ลำตัว ปาก และคอ
  • หายใจถี่ และหายใจมีเสียง
  • คันตาและมีน้ำตาไหล

อาการแพ้ยาอาจทำให้เกิดปฏิกิริยารุนแรงที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย และอาจเป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตโดยอาจทำให้เกิดอาการ ดังนี้

  • แน่นหน้าอก หายใจลำบาก
  • วิงเวียนศีรษะ หรือหน้ามืด
  • ความดันโลหิตต่ำ ชีพจรอ่อน
  • ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง
  • อาการชัก หรือหมดสติ

ผลข้างเคียงของยาคุมแต่ละชนิดอาจแตกต่างกัน ดังนี้

ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม

ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมมีหลายประเภท และมีปริมาณของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสตินที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ดังนี้

  • ปวดหัว เวียนศีรษะ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ท้องอืด
  • คัดตึงหรือปวดเต้านม
  • มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
  • ปริมาณประจำเดือนลดลง หรือประจำเดือนไม่มา

การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรค เช่น โรคถุงน้ำดี ลิ่มเลือดอุดตัน ตับทำงานผิดปกติ และในผู้ที่สูบบุหรี่อาจเกิดโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจวายได้ ดังนั้นก่อนการเริ่มใช้ยาคุมกำเนิดจึงควรปรึกษาุณหมอก่อน

ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดียว

เป็นยาคุมกำเนิดที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนโปรเจสตินเพียงตัวเดียว มักใช้ในผู้ที่ให้นมบุตรหรือผู้ที่มีอาการผลข้างเคียงจากฮอร์โมนเอสโตรเจน แต่ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดียวอาจทำให้มีผลข้างเคียง ดังนี้

  • ช่วงเริ่มใช้อาจทำให้มีอารมณ์แปรปรวนง่าย แต่อาการจะหายไปเองเมื่อกินยาคุมอย่างต่อเนื่อง
  • ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน
  • มีสิวขึ้น
  • คัดตึงหรือปวดเต้านม
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือประจำเดือนไม่มา

ควรรีบพบคุณหมอหากมีอาการรุนแรงขึ้น ดังนี้

ยาคุมฉุกเฉิน

เป็นยาคุมกำเนิดที่ใช้ป้องกันการตั้งครรภ์ภายใน 72 ชั่วโมง หหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน แต่ทั้งนี้หากกินยาคุมฉุกเฉินเม็ดแรกภายใน 24 ชั่วโมงหลังการมีเพศสัมพันธ์ จะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากยาคึมฉุกเฉินมีปริมาณฮอร์โมนที่สูงกว่ายาคุมโดยทั่วไปจึงอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ดังนี้

ทั้งนี้การใช้ยาคุมฉุกเฉินอาจไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 100% และถ้ามีการตั้งครรภ์ก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการท้องนอกมดลูก การใช้บ่อย ๆ อาจส่งผลกระทบต่อระบบฮอร์โมนของร่างกายได้

ผลข้างเคียงจากยาคุมกำเนิดบางประการอาจมีความคล้ายคลึงกับอาการแพ้ยาคุม เช่น อาการปวดหัว คลื่นไส้  อาการเหล่านี้อาจลดลงหรือหายไป เมื่อใช้ยาคุมกำเนิดอย่างต่อเนื่อง ถ้าไม่แน่ใจว่าเป็นผลข้างเคียงหรืออาการแพ้ยาควรกลับมาปรึกษาคุณหมอ

สาเหตุ

สาเหตุการแพ้ยาคุม                     

การแพ้ยาคุมอาจเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสร้างแอนติบอดีเพื่อต่อต้านฤทธิ์ของยาคุม ส่งผลทำให้เกิดอาการแพ้ยาคุม ในบางกรณีหากได้รับยาอย่าง ต่อเนื่องอาการแพ้ยาอาจลดลงหรือหายไป แต่บางกรณีก็อาจมีอาการรุนแรงขึ้น

ส่วนผลข้างเคียงของยาคุมอาจเกิดจากส่วนประกอบของฮอร์โมนในยาคุมกำเนิด  และการตอบสนองของร่างกายจ่อฮอร์โมนจากภายนอก ซึ่งยาคุมแต่ละประเภทก็มีปริมาณของฮอร์โมนที่ไม่เท่ากัน ทำให้บางครั้งการเปลี่ยนชนิดของยาคุม อาจทำให้ลดอาการข้างเคียงลงได้  นอกจากนี้ ผลข้างเคียงอาจขึ้นอยู่กับสุขภาพร่างกายของผู้ใช้ยาด้วย

การวินิจฉัยและการรักษา

การวินิจฉัยการแพ้ยาคุม

การวินิจฉัยสำหรับการแพ้ยาคุมสามารถทำได้ ดังนี้

  • คุณหมอจะทำการตรวจร่างกายและสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้ยา เวลารับประทานยา อาการแพ้เริ่มต้น เพื่อเป็นข้อมูลในการวินิจฉัย
  • คุณหมออาจทำการทดสอบสุขภาพด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม ดังนี้
    • ตรวจเลือด เพื่อหาสาเหตุของอาการแพ้
    • ทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง โดยใช้สารหรือตัวกระตุ้นที่คาดว่าอาจเป็นสาเหตุของอาการแพ้มาสะกิดที่ผิวหนังในปริมาณเล็กน้อยเพื่อดูอาการ หากมีอาการคัน มีตุ่มแดงและนูน แสดงว่าผู้ป่วยมีอาการแพ้ยาชนิดนั้น

การรักษาการแพ้ยาคุม

วิธีรับมือหากมีอาการแพ้ยาคุมสามารถทำได้ ดังนี้

  • หยุดกินยาคุมกำเนิด หากมีอาการแพ้ยาคุมให้หยุดกินยาชนิดนั้นทันที และเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจอาการ โดยคุณหมออาจเปลี่ยนตัวยา หรือแนะนำวิธีคุมกำเนิดแบบอื่น
  • กินยาแก้แพ้ คุณหมออาจแนะนำให้กินยาแก้แพ้ ยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) เช่น ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) เพื่อช่วยป้องกันสารเคมีในระบบภูมิคุ้มเข้าไปกระตุ้นอาการแพ้ หรืออาจให้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เพื่อรักษาอาการอักเสบจากการแพ้รุนแรง
  • การรักษาปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรง หากมีปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงคุณหมออาจต้องให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยให้ยาอะดรีนาลีนแบบออกฤทธิ์ทันที เพื่อช่วยบรรเทาอาการแพ้

สำหรับการรักษาผลข้างเคียงจากยาคุมกำเนิด โดยส่วนใหญ่ผลข้างเคียงจากยาจะค่อย ๆ ลดลงหรือหายไปเองได้ประมาณ 2-3 เดือนเมื่อกินยาอย่างต่อเนื่อง แต่หากมีผลข้างเคียงรุนแรงหรือเกิดขึ้นเป็นเวลานาน ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุและเปลี่ยนชนิดของยาคุมกำเนิด หรืออาจเปลี่ยนวิธีคุมกำเนิดแบบอื่น

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเมื่อแพ้ยาคุม

การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันอาการแพ้ยาคุมที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้

  • หากมีอาการแพ้คุมให้หยุดกินยา และเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจอาการ คุณหมออาจแนะนำให้ใช้วิธีการคุมกำเนิดรูปแบบอื่นแทนการใช้ยาคุมกำเนิด เช่น ถุงยางอนามัย ห่วงอนามัย
  • จดบันทึกเกี่ยวกับชนิดยาที่ทำให้เกิดอาการแพ้
  • แจ้งคุณหมอทุกครั้งเกี่ยวกับการแพ้ยาคุม เพื่อที่คุณหมอจะได้จัดยาชนิดอื่นให้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Drug allergy. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/drug-allergy/symptoms-causes/syc-20371835. Accessed September 15, 2021

Drug allergy. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/drug-allergy/diagnosis-treatment/drc-20371839. Accessed September 15, 2021

What Are The Side Effects of Birth Control?. https://www.webmd.com/sex/birth-control/birth-control-21/slideshow-birth-control-side-effects. Accessed September 15, 2021

I’M ALLERGIC TO MY BIRTH CONTROL – AM I NORMAL?. https://healthcare.utah.edu/the-scope/shows.php?shows=0_yjuxr1r5. Accessed September 15, 2021

[Skin changes from taking hormonal contraceptives]. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/7242455/. Accessed September 15, 2021

Combination birth control pills. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/combination-birth-control-pills/about/pac-20385282. Accessed September 15, 2021

 Drug allergy. https://aacijournal.biomedcentral.com/articles/10.1186/1710-1492-7-S1-S10. Accessed September 15, 2021

Sex hormone allergy: clinical aspects, causes and therapeutic strategies – Update and secondary publication. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5745953/. Accessed September 15, 2021

Hormonal Link to Autoimmune Allergies. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3658477/. Accessed September 15, 2021

10 most common birth control pill side effects. https://www.medicalnewstoday.com/articles/290196#side-effects. Accessed September 15, 2021

Birth Control Pills. https://www.webmd.com/sex/birth-control/birth-control-pills. Accessed September 15, 2021

ข้อมูลเรื่องยาคุมกำเนิดแบบเม็เฉพาะแค่โปรเจสโตรเจน (Minipill). https://www.fhs.gov.hk/english/other_languages/thai/women_health/family_planning/15689.html. Accessed September 15, 2021

Ulipristal acetate: An update for Australian GPs. https://www.racgp.org.au/afp/2017/may/ulipristal-acetate-an-update-for-australian-gps/. Accessed September 15, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

16/05/2023

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

อ้วนเพราะยาคุม เรื่องจริงหรือไม่ และรับมือได้อย่างไร

ถ้า หยุดกินยาคุมกำเนิด แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายผู้หญิง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 16/05/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา