ซิฟิลิส (Syphilis) เป็นโรคติดต่อที่สามารถแพร่กระจายผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ยังอาจแพร่กระจายจากการติดเชื้อผ่านทางผิวหนังหรือเนื้อเยื่อบริเวณที่เป็นแผลเปิด หากปล่อยไว้เป็นเวลานาน เชื้ออาจมีการติดต่อไปยังน้ำเลี้ยงสมองและไขสันหลัง ส่งผลต่อการทำงานของสมอง ระบบประสาท หัวใจ และอวัยวะอื่นได้
คำจำกัดความ
ซิฟิลิส คืออะไร
ซิฟิลิส คือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จากเชื้อแบคทีเรียที่ส่วนมากจะมีรอยโรคหรือแผลที่ไม่มีความเจ็บปวดเกิดขึ้นบริเวณทวารหนัก อวัยวะเพศ และปาก รวมถึงอาจสามารถแพร่กระจายไปยังทารกได้หากมารดามีการติดเชื้อขณะตั้งครรภ์ ผู้ที่ติดเชื้อซิฟิลิสหากไม่ได้เข้ารับการรักษา อาจเสี่ยงเผชิญกับภาวะแทรกซ้อนที่สามารถสร้างความเสียหายให้แก่ระบบประสาท หัวใจ หลอดเลือด และเพิ่มโอกาสการติดเชื้อเอชไอวีเพิ่มขึ้น
อาการ
อาการซิฟิลิส
อาการซิฟิลิสแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
- ซิฟิลิสระยะแรก หรือระยะปฐมภูมิ เป็นระยะที่อาจทำให้ผู้ติดเชื้อมีแผลริมแข็ง หรือแผลพุพองเล็ก ๆ บริเวณทวารหนัก อวัยวะเพศ หรือรอบปาก แต่อาจไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดใด ๆ อาจมีอาการคันที่บริเวณแผลได้
- ซิฟิลิสทุติยภูมิ หลังจากที่ร่างกายได้รับเชื้อประมาณ 6 สัปดาห์ ถึง 6 เดือน อาจทำให้ผื่นแดงขึ้นบนผิวหนังทั่วทั้งร่างกาย บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า บางคนอาจมีไข้ เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ และมีอาการผมร่วง
- ซิฟิลิสตติยภูมิ หากไม่รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรกที่สังเกตเห็นความผิดปกติ อาจทำให้อาการซิฟิลิสพัฒนาเข้าสู่ระยะตติยภูมิที่กระทบต่อสุขภาพหัวใจ สมอง และเส้นประสาทอย่างรุนแรง เสี่ยงต่อการเป็นอัมพาต ตาบอด หูหนวก สมองเสื่อม หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้
สาเหตุ
สาเหตุของซิฟิลิส
ซิฟิลิสมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า ทรีโพนีมา แพลลิดัม (Treponema pallidum) ซึ่งการติดเชื้อเกิดจากการที่แบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายผ่านทางเนื้อเยื่อบริเวณผิวหนังที่เป็นแผล รอยถลอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่มีการป้องกัน
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงซิฟิลิส
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่โรคซิฟิลิส ได้แก่
- มีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกัน
- มีคู่นอน และทำกิจกรรมทางเพศร่วมกันจำนวนหลายคน
- มีประวัติติดเชื้อเอชไอวี หรือไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเอดส์
- เพศชายที่มีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยซิฟิลิส
การวินิจฉัยซิฟิลิส มีดังนี้
- ตรวจเลือด คุณหมออาจขอเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อนำไปหาแอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นจากการต่อสู้กับการติดเชื้อ
- ตรวจน้ำไขสันหลัง คุณหมออาจขอเก็บตัวอย่างน้ำไขสันหลังผ่านการเจาะผ่านกระดูกสันหลังบริเวณเอว เพื่อนำไปตรวจดูว่ามีภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับโรคประสาทอักเสบใด ๆ หรือไม่ในรายที่สงสัยการติดเชื้อแบบตติยภูมิ
- กล้องจุลทรรศน์ แบคทีเรียซิฟิลิสอาจสามารถมองเห็นได้ผ่านทางกล้องจุลทรรศน์ โดยคุณหมออาจนำเนื้อเยื่อผิวหนังบริเวณแผล หรือของเหลวในต่อมน้ำเหลืองมาตรวจสอบและส่องกล้องดู
การรักษาซิฟิลิส
สำหรับการรักษาซิฟิลิสในระยะปฐมภูมิ ทุติยภูมิ คุณหมออาจฉีดยาเพนิซิลลิน (Penicillin G) ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะสำหรับรักษาการติดเชื้อที่ถือว่ามีความปลอดภัยทั้งในกลุ่มผู้ป่วยธรรมดา และสตรีตั้งครรภ์
แต่หากมีอาการแพ้ยาชนิดนี้ สำหรับผู้ป่วยธรรมดาคุณหมออาจปรับเปลี่ยนเป็นยาด็อกซีไซคลีน (Doxycycline) ส่วนสตรีตั้งครรภ์ ถ้าอาการแพ้ไม่รุนแรงอาจเข้ารับการรักษาที่เรียกว่า การขจัดภูมิไว (Desensitization) คือ การให้ยาเพนิซิลลินในปริมาณน้อย ๆ และค่อย ๆ เพิ่มปริมาณยาภายใน 12 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายปรับตัวเข้ากับยาเพนิซิลลินได้อย่างปลอดภัย
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันซิฟิลิส
ซิฟิลิสสามารถป้องกันได้ด้วยการปรับพฤติกรรม ดังต่อไปนี้
- สวมถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงการได้รับเชื้อ หรือแพร่กระจายเชื้อแบคทีเรีย
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หรือมีคู่นอนหลายคน
- เข้ารับการตรวจคัดกรองหาเชื้อ โดยเฉพาะผู้หญิงที่กำลังวางแผนตั้งครรภ์ หรือเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์
[embed-health-tool-ovulation]