backup og meta

เริม สาเหตุ อาการ การรักษา

เริม สาเหตุ อาการ การรักษา

เริม เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อย เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Herpes Simplex Virus (HSV) มักพบบริเวณช่องปากและอวัยวะเพศ หรือผิวหนังที่มีแผลเปิดหรือรอยถลอก ผู้ติดเชื้อไวรัสเริมอาจรู้สึกเจ็บปวดบริเวณผิวหนังที่ได้รับผลกระทบ หรือเป็นแผลที่มีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใส ส่วนใหญ่แล้ว อาการของเริมสามารถหายเองได้ แต่ก็ควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น มีไข้ เป็นแผลภายในช่องปาก กระเพาะปัสสาวะและทวารหนักอักเสบ

[embed-health-tool-ovulation]

คำจำกัดความ

เริม คืออะไร

เริม คือ การติดเชื้อไวรัส Herpes Simplex Virus (HSV) ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ การจูบ การใช้สิ่งของร่วมกับผู้ติดเชื้อไวรัส เป็นต้น จนนำไปสู่การเกิดแผลตุ่มน้ำใส มีอาการปวดแสบ ร้อนรอบบริเวณริมฝีปาก ในช่องปาก ผิวหนังบนอวัยวะเพศ ช่องคลอด ทวารหนัก หรือที่เรียกว่า เริมที่ปาก เริมที่อวัยวะเพศ เป็นต้น การติดเชื้อไวรัสเริมอาจเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะเด็กอายุ 1-2 ปี ที่อาจพบแผลบริเวณริมฝีปากจากไวรัสเริมบ่อยที่สุด ส่วนมากเกิดจากการได้รับเชื้อจากคุณแม่ระหว่างคลอด หรือจากผู้เลี้ยงดู นอกจากนี้ ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน   เช่น การไม่สวมใส่ถุงยางอนามัย ก็อาจติดเชื้อไวรัสเริมได้เช่นกัน

อาการ

อาการของเริม

อาการของเริมอาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับบริเวณที่ได้รับผลกระทบ ดังนี้

  • อาการเริมที่ปาก หลังจากรับเชื้อไวรัสเริม ไวรัสอาจใช้เวลาฟักตัว 2-12 วัน ก่อนทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ อารมณ์แปรปรวน อาการคัน หรือปวดแสบบริเวณผิวหนัง ก่อนมีแผลตุ่มน้ำใส จะปรากฏบนริมฝีปาก เหงือก ลิ้น กระพุ้งแก้ม และอาจทำให้ต่อมน้ำเหลืองที่คอบวม
  • อาการเริมที่อวัยวะเพศ อาจทำให้ผู้ติดเชื้อไวรัสเริมรู้สึกคัน เจ็บปวดและเป็นแผล หรืออาจมีตุ่มแดงหรือตุ่มสีขาวเล็ก ๆ ขึ้นบริเวณที่ได้รับผลกระทบ เช่น ก้น ต้นขา ทวารหนัก ท่อปัสสาวะ หากแผลแตกอาจก่อให้เกิดสะเก็ดหรือมีผิวหนังลอก การติดเชื้อที่อวัยวะเพศในผู้หญิงมักมีแผลปรากฏภายในและภายนอกช่องคลอด อวัยวะเพศ ปากมดลูก ส่วนผู้ชายอาจมีแผลปรากฏบริเวณองคชาตและถุงอัณฑะ หรือรอบทวารหนักได้

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการขาดน้ำ รู้สึกแสบคัน ระคายเคือง และเจ็บปวดอวัยวะเพศ ควรเข้ารับการวินิจฉัยจากคุณหมอทันที เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะอวัยวะเพศและระบบทางเดินปัสสาวะอักเสบ และความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น

สาเหตุ

สาเหตุที่ทำให้เป็นเริม

สาเหตุที่ทำให้เป็นเริม คือ การติดเชื้อไวรัสเอชเอสวี หรือ Herpes Simplex Virus (HSV) ซึ่งมีด้วยกัน 2 ชนิด ดังนี้

  1. เอชเอสวี-1 (HSV1) ส่งผลให้เกิดแผลรอบริมฝีปากหรือในช่องปาก แพร่กระจายได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก ซึ่งบางครั้งอาจส่งผลให้ติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศได้ด้วย นอกจากนี้ การสัมผัสกับเชื้อไวรัสที่อยู่ในสารคัดหลั่งผ่านการจูบ การใช้ช้อนหรือส้อมคันเดียวกัน ดื่มน้ำแก้วเดียวกัน เป็นต้น ก็อาจส่งผลให้ได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายได้เช่นเดียวกัน
  2. เอชเอสวี-2 (HSV2) อาจพบได้บ่อยและแพร่กระจายได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ จนนำไปสู่การเกิดเริมบริเวณอวัยวะเพศ หรืออาจได้รับเชื้อผ่านการสัมผัสรอยโรคหรือแผลที่ผิวหนังของผู้ติดเชื้อได้ด้วย

ซึ่งปัจจุบัน HSV1 และ HSV2 อาจมีการติดเชื้อร่วมกัน หรือไม่จำเพาะต่อบริเวณริมฝีปากและอวัยวะเพศเพียงตำแหน่งเดียว เนื่องจากพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ที่หลากหลายเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของเริม

ปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส Herpes Simplex Virus (HSV) มีดังนี้

  • มีคู่นอนหลายคน
  • ผู้หญิงมีแนวโน้มเป็นโรคเริมมากกว่าผู้ชาย เพราะไวรัสแพร่กระจายผ่านการมีเพศสัมพันธ์จากชายสู่หญิงได้ง่ายกว่าจากหญิงสู่ชาย
  • มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย
  • สัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย ผ่านการจูบ การใช้สิ่งของร่วมกัน เป็นต้น

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยเริม

การวินิจฉัยเริมอาจแตกต่างกันตามบริเวณที่ติดเชื้อ สำหรับเริมที่ปากและเริมที่อวัยวะเพศ คุณหมออาจทดสอบด้วยวิธีทางการแพทย์ ดังต่อไปนี้

  • การเก็บตัวอย่างเลือดไปตรวจหาแอนติบอดีต่อ Herpes Simplex Virus (HSV) หากพบอาจหมายถึงเคยติดเชื้อไวรัสชนิดนี้
  • การทดสอบด้วยเทคนิคแซ๊งสเมียร์ (Tzanck smear) ซึ่งเป็นการตรวจจากรอยโรค โดยการเจาะตุ่มแล้วขูดเซลล์บริเวณฐานก้นแผลไปตรวจ
  • การทดสอบปฏิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรส (PCR) เป็นกระบวนการสังเคราะห์ดีเอ็นเอจากเลือด เนื้อเยื่อ หรือน้ำไขสันหลัง เพื่อหาเชื้อและวิเคราะห์ประเภทของ Herpe Simplex Virus (HSV)

การรักษาเริม

คุณหมออาจรักษาเริมที่ปากด้วยยาบรรเทาอาการปวด เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) หรืออาจฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำ วิธีรักษาด้วยการฉีดยานี้อาจไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันปกติ แต่คุณหมอจะใช้กับผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ทารกอายุต่ำกว่า 6 สัปดาห์ และผู้ป่วยที่มีประวัติป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ร่วมกับการใช้ยาต้านเชื้อไวรัส เช่น อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) วาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) 

สำหรับเริมที่อวัยวะเพศ คุณหมอจะให้ยาต้านเชื้อไวรัส เช่น อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) วาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) แบบรับประทาน เพื่อช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น ลดอาการรุนแรง ลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส หรือลดการกลับเป็นเริมซ้ำ

นอกจากนี้ สตรีตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสเริมควรรักษาด้วยการใช้ยาต้านเชื้อไวรัสตามที่คุณหมอกำหนด เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ทารกตอนคลอด บางกรณี คุณหมออาจจำเป็นต้องผ่าคลอดในรายที่ใกล้ระยะคลอด แต่ยังมีรอยโรคเริมอยู่ที่อวัยวะเพศ เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไปยังทารก

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันเริม

การป้องกันโรคเริม คือ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแผลและสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย น้ำเหลือง ของผู้ติดเชื้อ ไม่ควรใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น และสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Genital herpes. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/genital-herpes/symptoms-causes/syc-20356161 . Accessed July 17, 2023.

Genital herpes. https://www.nhs.uk/conditions/genital-herpes/ . Accessed July 17, 2023.

Genital Herpes. https://www.cdc.gov/std/herpes/stdfact-herpes.htm . Accessed July 17, 2023.

Herpes Simplex Virus: HSV-1 & HSV-2. https://www.webmd.com/genital-herpes/pain-management-herpes#1 . Accessed July 17, 2023.

Herpes simplex virus. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/herpes-simplex-virus . Accessed July 17, 2023.

Oral Herpes. https://www.webmd.com/a-to-z-guides/oral-herpes . Accessed July 17, 2023.

เวอร์ชันปัจจุบัน

17/07/2023

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

เช็กอาการ! เริมกับHPV 2 โรคนี้ ต่างกันยังไง

ทำความรู้จักกับ เชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 17/07/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา