backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

Dysuria คืออะไร มีสาเหตุ อาการ และการรักษาอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 06/02/2023

Dysuria คืออะไร มีสาเหตุ อาการ และการรักษาอย่างไร

Dysuria (ภาวะปัสสาวะขัด) คือ ภาวะที่ส่งผลให้มีอาการปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะไม่ออกหรือไหลน้อย และมีอาการเจ็บแสบขณะปัสสาวะ ที่อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อในช่องคลอด ท่อปัสสาวะอักเสบ ซึ่งควรเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

Dysuria คืออะไร

Dysuria คือ ภาวะปัสสาวะขัด พบได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ที่อาจเกิดจากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli) ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงมาจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การใส่อุปกรณ์คุมกำเนิดในช่องคลอด ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ที่อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ โดยเฉพาะบริเวณกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ และส่งผลให้เกิดภาวะปัสสาวะขัด
  • มดลูกอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในมดลูกที่มีสาเหตุมาจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การผ่าตัดบริเวณมดลูก การขูดมดลูกหลังคลอดหรือแท้งบุตร การใส่อุปกรณ์คุมกำเนิด ที่อาจลุกลามไปยังท่อปัสสาวะหรือกระเพาะปัสสาวะจนนำไปสู่การเกิดภาวะปัสสาวะขัดได้
  • การติดเชื้อในช่องคลอด อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย การติดเชื้อยีสต์ หรือการติดเชื้อปรสิต ที่มีปัจจัยเสี่ยงมาจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การมีคู่นอนหลายคน นอกจากนี้การติดเชื้อในช่องคลอดยังอาจเกิดจากสารระคายเคืองต่าง ๆ เช่น สบู่ ผ้าอนามัย กระดาษทิชชู่ ที่ส่งผลให้ช่องคลอดระคายเคืองและเกิดการติดเชื้อ จนนำไปสู่ภาวะปัสสาวะขัด
  • ต่อมลูกหมากอักเสบ อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณต่อมลูกหมากที่อยู่บริเวณใต้กระเพาะปัสสาวะ ที่ส่งผลให้ปัสสาวะขัด และอาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ฝีในต่อมลูกหมาก การติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด การติดเชื้อแพร่กระจายไปยังอุ้งเชิงกรานและภาวะอวัยวะเพศไม่แข็งตัว

อาการของ Dysuria คืออะไร

อาการของ Dysuria อาจสังเกตได้ดังนี้

  • รู้สึกเจ็บหรือแสบร้อนขณะปัสสาวะและระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์
  • ปัสสาวะบ่อย
  • ปัสสาวะไม่ออกหรือออกแบบกะปริบกะปรอย
  • ปัสสาวะสีขุ่นหรือมีเลือดปน
  • ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็น
  • อาการคันอวัยวะเพศหรือรอบนอกอวัยวะเพศ
  • อวัยวะเพศหรือรอบนอกอวัยวะเพศเป็นแผลพุพอง
  • สำหรับผู้หญิง อาจมีตกขาวผิดปกติ
  • มีไข้สูง หนาวสั่น คลื่นไส้และอาเจียน

ควรเข้าพบคุณหมอทันทีหากมีอาการดังกล่าว เพื่อรับการวินิจฉัยหาสาเหตุและรักษาอย่างรวดเร็ว ที่อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ท่อปัสสาวะตีบตัน ติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือดและอาจลุกลามไปยังไต ที่ส่งผลให้ไตอักเสบเฉียบพลันและอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

การรักษา Dysuria

การรักษา Dysuria อาจทำได้ดังนี้

  • ยาปฏิชีวนะ เช่นเซฟาเลกซิน (Cephalexin) เซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) ฟอสโฟไมซิน (Fosfomycin) ไนโตรฟูแรนโทอิน (Nitrofurantoin) เมโทรนิดาโซล (Metronidazole) เหมาะสำหรับผู้ที่ติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ เพื่อช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย แต่ผู้ที่มีอาการติดเชื้ออย่างรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะในรูปแบบรับประทานอาจจำเป็นต้องให้ยาผ่านทางหลอดเลือดดำ
  • ยาต้านเชื้อรา เช่น ไมโคนาโซล (Miconazole) โคลไทรมาโซล (Clotrimazole) ไทโอโคนาโซล (Tioconazole) เป็นยาในรูปแบบครีม และยาเหน็บในช่องคลอด เหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะปัสสาวะขัดจาดการติดเชื้อราในระบบสืบพันธุ์ เพื่อช่วยต้านเชื้อราและลดอาการคันบริเวณรอบนอกอวัยวะเพศ หรืออาจรักษาด้วยยาฟลูโคนาโซล (Fluconazole) ที่เป็นยาในรูปแบบรับประทานซึ่งเป็นยาตามใบสั่งแพทย์ที่จำเป็นต้องผ่านการอนุญาตจากคุณหมอก่อนใช้
  • ยาแก้ปวด เช่น อะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการปวดต่อมลูกหมากหรือปวดอุ้งเชิงกราน

นอกจากนี้ควรรักษาสุขอนามัยอย่างถูกวิธี ด้วยการสวมใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสูตรอ่อนโยนกับอวัยวะเพศ ถอดเปลี่ยนอุปกรณ์คุมกำเนิดให้ตรงตามกำหนด หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอดและควรใช้ทิชชูซับจากด้านหน้าไปด้านหลังให้แห้งสนิท เพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะปัสสาวะขัด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 06/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา