backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

ปัญหาสุขภาพจากการทำเล็บเจล และวิธีการดูแลเล็บ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

ปัญหาสุขภาพจากการทำเล็บเจล และวิธีการดูแลเล็บ

เล็บเจล เป็นวิธีการตกแต่งเล็บรูปแบบหนึ่ง โดยใช้สีเจลที่ทำขึ้นจากสีทาเล็บผสมเจลเนื้ออ่อนสำหรับต่อเล็บมาทาลงบนเล็บ ก่อนจะอบด้วยแสงยูวี เพื่อทำให้เนื้อเจลแข็งและติดทน การทำเล็บเจลอาจส่งผลให้เกิดปัญหาเล็บบาง เล็บฉีก เกิดแผลจนอาจนำไปสู่การติดเชื้อ หรือหากทำเล็บเจลบ่อย ๆ ก็อาจได้รับอันตรายจากรังสียูวี จนเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งได้ ดังนั้น จึงควรศึกษาวิธีการดูแลเล็บให้ดี เพื่อช่วยให้เล็บมีสุขภาพดี และลดความเสี่ยงปัญหาสุขภาพ

ทำไมบางคนถึงเล็บเจล

จุดประสงค์ของการทำเล็บเจล อาจมีดังนี้

  • หากทาสีเล็บเจลถูกวิธี เล็บเจลจะติดแน่นทนทาน อยู่ได้นานโดยไม่ลอกร่อน ต่างจากยาทาเล็บธรรมดา
  • นอกจากจะติดทนแล้ว สีเล็บเจลยังดูมันวาว สวยงามกว่ายาทาเล็บแบบอื่น ๆ
  • การทาเล็บเจล อาจช่วยให้นิ้วน่ามองขึ้นได้ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาเล็บ เช่น เล็บสีผิดปกติจากโรคบางชนิด เนื่องจากยาทาเล็บทั่วไปอาจกลบสีเล็บที่ผิดปกติไม่มิด แต่ การทาเล็บเจล สามารถทำได้

คนที่ไม่เหมาะกับการทาเล็บเจล

คนที่ไม่เหมาะกับการทาเล็บเจล อาจมีดังนี้

  • ผู้ที่มีเล็บอ่อนแอหรือเปราะบาง การทาเล็บเจล ต้องมีการตะไบตกแต่งทรงเล็บ รวมถึงตะไบหน้าเล็บทั้งในขั้นตอนก่อนทาและล้างเล็บ ซึ่งอาจทำให้เล็บบางกว่าเดิมและฉีกขาดได้
  • ผู้ที่ผิวบอบบาง หรือแพ้ง่าย การทาเล็บเจลต้องใช้น้ำยาล้างเล็บเช็ดทำความสะอาดเล็บ และผิวหนังโดยรอบ รวมถึงใช้ล้างเล็บด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการระคายเคืองได้
  • ผู้ที่ไวต่อรังสียูวี การทาเล็บเจลต้องมีการอบเล็บด้วยรังสียูวีเอ (UVA) เพื่อทำให้ยาทาเล็บเจลแข็งขึ้น และติดแน่นไปกับเล็บ ผู้ที่ไวต่อรังสียูวี ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยทางพันธุกรรม อาการป่วย หรือการใช้ยาหรืออาหารเสริม จึงไม่ควรทาเล็บเจล

ปัญหาสุขภาพที่มาพร้อมคเล็บเจล

  • จากศึกษาวิจัยพบว่า รังสียูวีจากเครื่องอบเล็บเจล แรงกว่ารังสียูวีจากดวงอาทิตย์ถึง 4 เท่า ผู้ที่ทาเล็บเจลเป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ที่เริ่มทาเล็บเจลตั้งแต่อายุยังน้อย อาจได้รับรังสียูวีสะสม เป็นเหตุให้เกิดปัญหาผิวหนัง เช่น ผิวหนังถูกทำลายจากรังสียูวี ผิวเสื่อมก่อนวัย รวมไปถึงเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งผิวหนัง ได้อีกด้วย
  • การทาและดูแลเล็บเจลผิดวิธี สามารถสร้างความเสียหายทางกายภาพให้กับเล็บได้ เนื่องจากต้องมีการตะไบก่อนทาสีและล้างเล็บ รวมไปถึงการแซะสีเล็บเจลออกจากเล็บ และตัดเล็บจึงอาจทำให้เล็บบางลง หรือฉีกขาดได้
  • การตัดหนังบริเวณโคนเล็บ (Cuticle) ซึ่งมีหน้าที่ป้องกันเชื้อโรคออกระหว่างทำเล็บ อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อราได้

การดูแลสุขภาพเล็บ

เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น เล็บบางลง เล็บหัก ผิวหนังเหี่ยวย่น รวมถึงความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งผิวหนัง เพราะทาเล็บเจล แพทย์ผิวหนังจึงแนะนำดังนี้

  • สังเกตให้ดีว่าช่างทาเล็บทำความสะอาดอุปกรณ์ทุกครั้งหรือไม่ หากไม่แน่ใจให้สอบถามช่างทำเล็บว่า เครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ได้มาตรฐาน และผ่านการฆ่าเชื้อแล้วหรือยัง
  • ก่อนทา เล็บเจล ควรทาครีมกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟ (SPF) ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป มีคุณสมบัติกันน้ำ และมีขอบเขตในการออกฤทธิ์กว้าง (Broad spectrum) ช่วยป้องกันรังสีทั้งยูวีเอ (UVA) และยูวีบี (UVB) เพื่อลดความเสี่ยง ไม่ให้มือเป็นมะเร็งผิวหนัง และผิวหนังแก่ก่อนวัยจากรังสียูวี ที่จะได้รับในขั้นตอนการอบเล็บ หรืออาจสวมถุงมือป้องกันรังสียูวี ที่ตัดให้โผล่เฉพาะเล็บออกมาก็ได้
  • หากทาเล็บเจล ควรบำรุงเล็บและผิวหนังโดยรอบ ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น เช่น ปิโตรเลียมเจลลี น้ำมันบำรุงเล็บเป็นประจำ เพื่อให้เล็บคงความยืดหยุ่น และไม่เปราะฉีกง่าย
  • ไม่ทำเล็บเจลติดต่อกันนานเกิน 3 เดือน และควรพักเล็บอย่างน้อย 4 สัปดาห์ ก่อนทำเล็บครั้งต่อไป ระหว่างพักเล็บ อย่าลืมบำรุงเล็บเป็นประจำทุกวัน
  • หากสีเล็บเจลที่ทาไว้เริ่มหลุดลอก อย่าพยายามแกะหรือแงะเล็บเจลออกเอง เพราะอาจทำให้เล็บเสียหายได้
  • เวลาล้างเล็บเจล ไม่ควรให้น้ำยาล้างเล็บสัมผัสกับผิวหนังบริเวณอื่นนอกจากเล็บ เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวหนังเกิดการระคายเคือง
  • หากเล็บอ่อนแอ เปราะบาง หรือผิวหนังแพ้ง่าย ควรทาสีเล็บแบบธรรมดาแทนการทาสีเล็บเจล

3 ขั้นตอนง่าย ๆ ในการล้างสีเล็บเจลด้วยตัวเอง

  1. ตะไบเล็บก่อน ใช้ตะไบเล็บขัดสีเล็บเจลออกก่อนแบบหยาบ ๆ เพื่อให้น้ำยาล้างเล็บทำงานได้ดีขึ้น
  2. ใช้ฟอยล์ห่ออาหาร ใช้สำลีจุ่มน้ำยาล้างเล็บให้ชุ่มแล้ววางโปะไว้บนเล็บ จากนั้นใช้ฟอยล์ห่ออาหารแผ่นเล็ก ๆ ห่อแต่ละเล็บเอาไว้ วิธีนี้จะช่วยให้น้ำยาล้างเล็บระเหยช้าลง และสีเล็บเจลหลุดออกจากเล็บได้เร็วขึ้น
  3. อดทนรอ หลังจากห่อเล็บด้วยฟอยล์ห่ออาหารแล้ว ควรรอ 10-15 นาที ให้สีเล็บเจลละลายก่อน จึงค่อยใช้อุปกรณ์ขูดสีเล็บขูดสีเล็บเจลออกเบา ๆ พยายามอย่าให้เล็บลอกออกไปด้วย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา