backup og meta

วิธี ตัดเล็บขบ เองอย่างปลอดภัย และวิธีดูแลตัวเองเมื่อมีเล็บขบ

วิธี ตัดเล็บขบ เองอย่างปลอดภัย และวิธีดูแลตัวเองเมื่อมีเล็บขบ

เล็บขบ เป็นอาการที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะที่นิ้วหัวแม่เท้า เกิดขึ้นเมื่อปลายเล็บยาวจนจิกเข้าไปในผิวหนังจนทำให้รู้สึกเจ็บ มักมีอาการบวมแดง หรือปวดบริเวณผิวหนังที่เล็บขบแทงเข้าไปร่วมด้วย หากอาการเล็บขบไม่รุนแรงมาก การ ตัดเล็บขบ ด้วยตัวเองร่วมกับการดูแลตัวเองเบื้องต้นด้วยการแช่น้ำอุ่น ตัดเล็บอย่างถูกวิธี สวมรองเท้าที่พอดี กินยาแก้อักเสบตามคำแนะนำของเภสัชกร เป็นต้น ก็อาจช่วยให้อาการดีขึ้นได้

ทั้งนี้ หากตัดเล็บขบและดูแลด้วยตัวเองแล้วอาการไม่ดีขึ้น กลับมาเป็นซ้ำบ่อย ๆ หรือมีอาการอักเสบ บวมแดง เล็บส่งกลิ่นเหม็น หรือเป็นหนอง ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

[embed-health-tool-bmi]

เล็บขบเกิดจากอะไร

อาการเล็บขบมักเกิดจากการตัดเล็บผิดวิธี เช่น ตัดเล็บเท้าสั้นจนเกินไป ตัดเล็บเท้าเป็นแนวโค้งจนเล็บที่งอกขึ้นมาใหม่งอกเข้าไปในผิวหนังข้างเล็บ และอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น

  • สวมรองเท้าที่ไม่พอดีกับขนาดเท้า
  • ขอบเล็บฉีกขาด
  • เกิดการบาดเจ็บที่นิ้วเท้า เช่น เท้าไปชนกับขอบเฟอร์นิเจอร์ โดนเหยียบเท้า
  • เหงื่อออกเยอะ ทำให้ผิวหนังรอบเล็บอ่อนนุ่มและทำให้เล็บจิกลึกเข้าไปในผิวหนังข้าง ๆ เล็บได้ง่าย
  • เป็นโรคเกี่ยวกับเท้า เช่น โรคเท้าปุก (Congenital clubfoot) ซึ่งเป็นโรคที่พบแต่กำเนิด เท้าจะบิดผิดรูป อาจทำให้เล็บมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับเท้า หรืออาจทำให้เนื้อเยื่อก่อตัวโดยรอบเล็บตามธรรมชาติ

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดเล็บขบ เช่น

  • โรคเบาหวาน
  • ความเสียหายของเส้นประสาทที่ขาหรือเท้าอย่างรุนแรง
  • การไหลเวียนโลหิตที่ไม่ดี
  • การติดเชื้อที่บริเวณรอบเล็บ
  • การได้รับยาเคมีบำบัดบางชนิด

อาการของเล็บขบ

ในระยะแรก นิ้วเท้าที่เป็นเล็บขบจะแข็งและบวม หากขอบเล็บฝังเข้าไปในผิวหนังหรือผิวหนังงอกทับเล็บ อาจทำให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตจนเกิดการอักเสบและติดเชื้อ

อาการที่แสดงว่าเล็บขบติดเชื้อ เช่น

  • มีหนองหรือของเหลวไหลออกมาจากบริเวณขอบเล็บเท้า
  • ปวดนิ้วเท้าบริเวณขอบเล็บ
  • นิ้วเท้าบวมแดงหรือมีสีเข้มขึ้น
  • รู้สึกอุ่นหรือร้อนบริเวณนิ้วเท้า

วิธี ตัดเล็บขบ ด้วยตัวเอง

เล็บขบเป็นอาการที่ไม่ควรรักษาด้วยตัวเอง เนื่องจากอาจทำให้เสี่ยงติดเชื้อได้ ทั้งนี้ การ ตัดเล็บขบ ด้วยตัวเอง อาจทำได้ในกรณีที่เล็บขบไม่รุนแรงมาก หรือเล็บแทงเข้าไปในเนื้อเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แนะนำให้ค่อย ๆ ตัดเล็บที่กดเข้าไปในผิวหนังออก เพื่อลดอาการปวด จากนั้นทำความสะอาดนิ้วเท้าให้ดี แต่ไม่ควรตัดเล็บขบลึกเข้าไปในเนื้อเพราะอาจทำให้อาการแย่ลงได้

สำหรับผู้ที่เล็บขบที่มีอาการรุนแรงเช่น ผิวหนังโดยรอบบวมแดง อักเสบ เป็นหนอง เจ็บจนกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม โดยการรักษาเล็บขบอย่างถูกต้องด้วยวิธีทางการแพทย์ อาจทำได้ดังนี้

  • การผ่าตัดขอบเล็บออกบางส่วน (Partial Nail Avulsion) เป็นการรักษาเล็บขบที่ฝังลึกเข้าไปในผิวหนังจนทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งบางครั้งอาจนำไปสู่การติดเชื้อ โดยผู้เชี่ยวชาญจะผ่าตัดเล็บบริเวณด้านข้างออกตั้งแต่ขอบเล็บไปถึงฐานเล็บ อาจทายาฟีนอล (Phenol) เพื่อป้องกันไม่ให้เล็บบริเวณนั้นงอกกลับมาเป็นเล็บขบซ้ำ และอาจให้ทายาปฏิชีวนะ เช่น โพลีมิกซิน (Polymyxin) นีโอมัยซิน (Neomycin) หรือดูดหนองออกหากมีการติดเชื้อ
  • การถอดเล็บออกทั้งหมด (Total Nail Avulsion) ในกรณีที่ขอบเล็บเท้าทั้งสองฝั่งหนาและโค้งมาก และจิกลึกเข้าไปในผิวหนังโดยรอบ ผู้เชี่ยวชาญอาจต้องรักษาด้วยการถอดเล็บออกเพื่อให้เล็บเท้ายาวขึ้นมาใหม่ในลักษณะปกติ บางครั้งอาจใช้เวลาเป็นปีกว่าเล็บเท้าจะงอกขึ้นมาใหม่ ระหว่างนี้ควรหลีกเลี่ยงการว่ายน้ำ การเล่นกีฬา หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่อาจทำให้นิ้วเท้าบาดเจ็บ

วิธีดูแลตัวเองเมื่อมีเล็บขบ

วิธีดูแลตัวเองเบื้องต้น เพื่อบรรเทาอาการปวดเล็บขบ อาจทำได้ดังนี้

  • แช่เท้าที่เป็นเล็บขบในน้ำเกลืออุ่น ๆ ครั้งละ 20 นาที วันละ 2-3 ครั้ง เพื่อช่วยให้ผิวหนังรอบเล็บนุ่มลงและลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ บรรเทาอาการปวดบวมได้
  • ดูแลให้เท้าแห้งอยู่เสมอ เช็ดเท้าให้แห้งหลังอาบน้ำ แช่เท้า หรือเมื่อเท้าเปียก
  • สวมรองเท้าที่มีขนาดพอดีเท้า ไม่แน่นจนทำให้รู้สึกเจ็บเท้าและไม่หลวมเกินไปจนหลุดจากเท้าบ่อย ๆ และควรสวมรองเท้าที่ระบายอากาศได้ดี เช่น รองเท้าแตะ รองเท้าเปิดหัว
  • ใช้เทปกาวเหนียวพอที่จะดึงขอบเนื้อเล็บ แปะเนื้อให้แยกออกจากเล็บที่ฝังตัวอยู่ เพื่อคลายแรงกดและป้องกันไม่ให้เล็บกลับเข้าไปในผิวหนัง
  • ทาครีมปฏิชีวนะบริเวณที่เป็นเล็บขบวันละ 2 ครั้ง อาจช่วยป้องกันการติดเชื้อได้
  • หลีกเลี่ยงการแกะหรือดึงเล็บขบ
  • กินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)

วิธีป้องกันเล็บขบ

วิธีดูแลสุขภาพเท้าและเล็บเท้าเพื่อป้องกันเล็บขบ อาจทำได้ดังนี้

  • ทำความสะอาดกรรไกรตัดเล็บทั้งก่อนและหลังใช้งานทุกครั้ง และไม่ควรใช้กรรไกรตัดเล็บร่วมกับผู้อื่น
  • ไม่กัดหรือฉีกเล็บมือและเล็บเท้า
  • แช่เท้าในน้ำอุ่นก่อนตัดเล็บ หรือตัดเล็บหลังอาบน้ำ เพื่อให้ผิวหนังและเล็บอ่อนนุ่มและตัดง่ายขึ้น
  • ตัดเล็บเท้าเป็นแนวตรงและไม่ตัดเล็บบริเวณขอบข้าง ๆ สั้นจนติดเนื้อเกินไป เพราะอาจทำให้เล็บงอกเข้าไปแทงผิวหนังข้าง ๆ เล็บจนทำให้เกิดเล็บขบ ควรเขี่ยสิ่งสกปรกบริเวณซอกเล็บออกเป็นประจำเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ แต่ระวังอย่าเขี่ยลึกเกินไปจนเป็นแผล
  • ตัดเล็บมือตามแนวโค้งของเล็บ ไม่ให้สั้นหรือยาวเกินไป
  • สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานควรดูแลตัวเองตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด และรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์เป้าหมายที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนที่เล็บ เช่น เล็บขบ ตาปลา

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Ingrown toenails. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/ingrown-toenails/symptoms-causes/syc-20355903. Accessed April 10, 2023

Ingrown Toenails. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/17664-ingrown-toenails/. Accessed April 10, 2023

Ingrown toenail. https://www.nhsinform.scot/illnesses-and-conditions/skin-hair-and-nails/ingrown-toenail. Accessed April 10, 2023

Foot health: What to do about an ingrown toenail. https://www.health.harvard.edu/newsletter_article/foot-health-what-to-do-about-an-ingrown-toenail. Accessed April 10, 2023

Ingrown toenails. https://www.healthdirect.gov.au/ingrown-toenails. Accessed April 10, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

14/06/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผ่าตัดเล็บขบ (Ingrown Toenail Surgery)

เล็บขบ วิธีรักษา และวิธีป้องกันเล็บขบ


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 14/06/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา