backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

เล็บหลุด เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง และควรดูแลตัวเองอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 26/03/2024

เล็บหลุด เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง และควรดูแลตัวเองอย่างไร

เล็บหลุด มักมีสาเหตุจากอาการห้อเลือดใต้เล็บเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เช่น ประตูหนีบ โดนสิ่งของทับอย่างแรง หรือการติดเชื้อรา รวมถึงโรคสะเก็ดเงินซึ่งโดยปกติมักเกิดบริเวณผิวหนังแต่สามารถลุกลามไปยังเล็บได้ ทั้งนี้ เมื่อเล็บหลุด ควรเล็มเล็บส่วนที่ยังติดอยู่กับนิ้วออก เพื่อป้องกันเล็บไปเกี่ยวกับเสื้อผ้าหรือสิ่งของรอบตัวและอาจทำให้ยิ่งรู้สึกเจ็บ นอกจากนั้น ควรทำความสะอาดเล็บและทายาฆ่าเชื้อก่อนพันแผลอย่างระมัดระวัง หากมีอาการปวดบวมอย่างรุนแรง ควรไปพบคุณหมอเพื่อตรวจและรับการรักษาเพิ่มเติม

เล็บหลุด เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง

เล็บหลุดอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังต่อไปนี้

  1. อุบัติเหตุ

การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุแบบต่าง ๆ เช่น รถคว่ำ จักรยานล้ม วัตถุหล่นใส่เท้า ประตูหนีบ เตะขอบโต๊ะขอบเตียง ล้วนแต่เป็นสาเหตุที่อาจทำให้เกิดอาการห้อเลือด หรือเลือดคั่งในบริเวณเล็บมือหรือเล็บเท้า และเมื่อเวลาผ่านไป อาการห้อเลือดอาจส่งผลให้เล็บหลุดออกจากนิ้วได้

ทั้งนี้ หากอาการห้อเลือดกินพื้นที่เกินกว่า 1 ใน 4 ของขนาดนิ้วมือหรือนิ้วเท้า ควรไปพบคุณหมอเพื่อรักษาอย่างถูกวิธี โดยคุณหมออาจเจาะบริเวณนิ้วมือหรือนิ้วเท้าเพื่อถ่ายเลือดที่คั่งไว้ออกมา เพื่อป้องกันเล็บหลุด

  1. การติดเชื้อรา

หากเล็บติดเชื้อรา เชื้อราจะเจริญเติบโตในพื้นที่ระหว่างเล็บและเนื้อเยื่อข้างใต้ จนกระทั่งดันให้เล็บแยกออกจากเนื้อเยื่อ และหลุดออกจากนิ้วมือหรือนิ้วเท้า

เมื่อเล็บติดเชื้อรา เล็บมักกลายเป็นสีขาวหรือสีชมพู มีกลิ่นเหม็น เปราะหรือแตกหักง่าย โดยปกติ อาการเล็บติดเชื้อรามักเกิดขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น เล็บแตก หรือเท้าติดเชื้อหรือเป็นโรคน้ำกัดเท้า รวมถึงเมื่อป่วยเป็นโรคเบาหวาน เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานมักเป็นแผลแล้วหายช้าทำให้เสี่ยงติดเชื้อมากกว่าคนทั่วไป

ทั้งนี้ การรักษาเชื้อราตามนิ้วมือหรือนิ้วเท้า มักใช้วิธีทายาต้านเชื้อราชนิดครีม หรือรับประทานยาต้านเชื้อราชนิดเม็ด หรือใช้ทั้ง 2 อย่างร่วมกัน

  1. โรคสะเก็ดเงิน

สะเก็ดเงิน เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันทำให้เซลล์ผิวหนังเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วผิดปกติ  ส่งผลให้ผิวหนังผู้ป่วยมีสะเก็ดเงินสีขาว เงิน หรือเหลือง ขึ้นตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และอาจลุกลามไปยังเล็บมือและเล็บเท้าได้

เมื่อสะเก็ดเงินเกิดขึ้นบริเวณเล็บมือหรือเล็บเท้า เซลล์ผิวหนังที่เพิ่มจำนวนอย่างผิดปกติจะดันให้เล็บค่อย ๆ หลุดออกจากนิ้ว

โดยทั่วไป อาการของโรคสะเก็ดเงินตามเล็บมือหรือเล็บเท้า ได้แก่

  • เล็บกลายเป็นสีเหลืองหรือสีน้ำตาล
  • เล็บล่อนจากเนื้อเยื่อใต้เล็บ
  • เล็บแข็งและหนาขึ้น
  • มีสะเก็ดเงินสีขาวหรือสีเงินเกิดขึ้นใต้เล็บ

ทั้งนี้ เมื่อพบว่าตนเองเป็นโรคสะเก็ดเงิน ควรรีบไปพบคุณหมอ เพราะสะเก็ดเงินไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่อาจดูแลตนเองเพื่อประคองอาการ โดยคุณหมอมักแนะนำให้ทายาสเตียรอยด์ (Steroid) รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน รวมถึงการฉายรังสีอัลตราไวโอเลตสังเคราะห์ เพื่อยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์ผิวหนัง และลดการลุกลามของโรค

เล็บหลุด ดูแลตัวเองอย่างไร

การดูแลตัวเองเบื้องต้นเมื่อเล็บหลุด มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • หากเล็บหลุดออกไปเพียงบางส่วน ให้ปล่อยส่วนที่เหลืออยู่ไว้กับนิ้ว ไม่ต้องพยายามนำออก
  • หากบางส่วนของเล็บหลุดออกจากตำแหน่งเดิม แต่ยังไม่หลุดออกทั้งหมด อาจค่อย ๆ เล็มเล็บส่วนที่ยังเหลือให้อยู่ในกรอบเล็บ เพื่อป้องกันเล็บไปเกี่ยวกับเสื้อผ้าหรือสิ่งของรอบตัว เช่น โซฟา ผ้าเช็ดตัว
  • หลังจากนั้น ควรค่อย ๆ ล้างทำความสะอาดเล็บ ตามด้วยทายาฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • พันนิ้วที่เล็บหลุดด้วยผ้าพันแผล โดยระวังไม่ให้ผ้าพันแผลสัมผัสโดนส่วนเนื้อเยื่อใต้เล็บ เพราะอาจทำให้รู้สึกเจ็บเมื่อแกะผ้าพันแผลออก
  • ประคบน้ำแข็ง หรือรับประทานยาแก้ปวด เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือนาพรอกเซน (Naproxen) เพื่อบรรเทาอาการปวดหรืออักเสบของนิ้วที่เล็บหลุด
  • หากอาการไม่ดีขึ้น มีไข้ ปวดบวมแดงบริเวณนิ้ว ควรไปพบคุณหมอ เพื่อรับการตรวจและรักษาเพิ่มเติม

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 26/03/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา