backup og meta

วิธีรักษาแผลสดให้หายเร็ว ทำได้อย่างไรบ้าง

วิธีรักษาแผลสดให้หายเร็ว ทำได้อย่างไรบ้าง

แผลสด หมายถึงแผลที่เกิดจากของมีคมบาดหรือการที่ผิวหนังสัมผัสกับวัตถุใด ๆ จนทำให้ผิวหนังเปิด ฉีก ขาด มีเลือดออก เมื่อเป็นแล้วควรรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจเพิ่มความเสี่ยงให้ติดเชื้อได้ วิธีรักษาแผลสดให้หายเร็ว ทำได้โดยการทายาฆ่าเชื้อ และสมานแผล  นอกจากนั้น ควรดูแลตนเองรักษาความสะอาดร่างกายและ บริเวณแผลสม่ำเสมอ

[embed-health-tool-heart-rate]

แผลสด คืออะไร

แผลสด หมายถึง แผลที่เพิ่งเกิดขึ้น ยังไม่แห้ง อาจมีขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ได้ มักเกิดจากการถูกของมีคมบาด หรือผิวหนังสัมผัสกับวัตถุผิวหยาบอย่างรุนแรงจนเกิดการฉีกหรือขาด

หากปล่อยแผลสดทิ้งไว้โดยไม่รักษาหรือปฐมพยาบาลอาจทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อจนมีอาการดังต่อไปนี้

  • ไข้สูง เกิน 38 องศาเซลเซียส
  • ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้หรือขาหนีบบวม
  • แผลไม่หาย หรือหายช้าผิดปกติ

นอกจากนี้ การติดเชื้อจากบาดแผล ยังอาจนำไปสู่อาการป่วยอื่น ๆ ได้ เช่น โรคบาดทะยัก โรคแบคทีเรียกินเนื้อ เนื้อเยื่อเซลล์อักเสบ

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อเป็นแผลสด

เมื่อเป็นแผลสด ผู้ที่เป็นแผลหรือคนใกล้ตัว ควรดูแลแผลสดเบื้องต้นตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ใช้ผ้ากอซกดแผลเพื่อให้เลือดหยุดไหล
  • ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด และหากพบเศษไม้ เศษแก้ว หรือสิ่งปรกในบาดแผล ให้ใช้แหนบที่ล้างแอลกอฮอล์แล้วหนีบเศษวัสดุเหล่านั้นออก
  • หากแผลสกปรก ควรล้างด้วยแอลกอฮอล์ล้างแผล หรือ โพวิโดนไอโอดีน (Povidone iodine)
  • ใส่ยาฆ่าเชื้อลดความเสี่ยงติดเชื้อเช่น fucidin ointment , bacidal ointment , chloramphenical ointment เพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นบริเวณบาดแผลและป้องกันผิวหนังเป็นแผลเป็น
  • ปิดแผลด้วยผ้ากอซหรือพลาสเตอร์ เพื่อป้องกันบาดแผลเปียกน้ำหรือติดเชื้อ และเปลี่ยนผ้าพันแผลอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง

วิธีรักษาแผลสดให้หายเร็ว

หากต้องการให้แผลสดหายเร็วขึ้น ควรดูแลตัวเองตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • นอนหลับให้เพียงพอ เนื้อเยื่อบริเวณบาดแผลจะฟื้นฟูตนเองได้ขณะที่ร่างกายนอนหลับ ดังนั้น เพื่อให้แผลสดหายเร็วยิ่งขึ้น จึงควรนอนหลับให้เพียงพอหรือนอนหลับโดยปราศจากการรบกวน
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อการสมานบาดแผล เช่น อาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีนและวิตามินชนิดต่าง ๆ อย่างผักใบเขียว ไข่ ผลไม้ ถั่ว ไก่ หรือเครื่องใน
  • งดการออกกำลังกายหนัก ถ้าหากบาดแผลมีการเย็บ หรือปากแผลเปิดกว้าง
  • งดสูบบุหรี่ สารเคมีในบุหรี่ออกฤทธิ์ขัดขวางการลำเลียงออกซิเจนที่จะส่งไปเลี้ยงและช่วยฟื้นฟูแผลสดและสร้างเนื้อเยื่อใหม่ ดังนั้น จึงควรงดสูบบุหรี่ เพื่อให้แผลสดหายเร็วขึ้น

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เรื่องประสิทธิภาพของว่านหางจระเข้ในการฟื้นฟูบาดแผล เผยแพร่ในวารสาร Iranian Journal of Medical Sciences ปี พ.ศ. 2562 นักวิจัยได้ศึกษาผลการทดสอบหลาย ๆ ชิ้นเกี่ยวกับประสิทธิภาพของว่านหางจระเข้ และพบข้อสรุปว่า ว่านหางจระเข้มีประสิทธิภาพป้องกันแผลเปื่อย และยังใช้รักษาแผลไหม้ แผลจากการผ่าตัด และแผลเรื้อรังได้

ขณะเดียวกัน งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับศักยภาพของเคอร์คิวมินต่อโรคผิวหนัง ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients ปี พ.ศ. 2562 ระบุว่า เคอร์คิวมินมีคุณสมบัติหลายประการที่สัมพันธ์กับการฟื้นฟูของบาดแผล โดยหนึ่งในนั้นคือการกระตุ้นให้เซลล์ไฟโบรบลาสต์ (Fibroblast) ในผิวหนัง เปลี่ยนเป็นเซลล์อีกชนิดที่เรียกว่าไมโอไฟโบรบลาสต์ (Myofibroblast) ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งที่ทำให้บาดแผลเล็กลง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Cuts and scrapes: First aid. https://www.mayoclinic.org/first-aid/first-aid-cuts/basics/art-20056711. Accessed December 16, 2022

Slideshow: Caring for Wounds. https://www.webmd.com/first-aid/ss/slideshow-caring-for-wounds. Accessed December 16, 2022

Potential of Curcumin in Skin Disorders. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6770633/. Accessed December 16, 2022

The Effect of Aloe Vera Clinical Trials on Prevention and Healing of Skin Wound: A Systematic Review. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6330525/. Accessed December 16, 2022

What is the effect of exercise on wound healing in patients with venous leg ulcers? A systematic review. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7950049/. Accessed December 16, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

01/02/2023

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ยาทาแผลเป็น มียาอะไรบ้าง แต่ละอย่างมีฤทธิ์อย่างไร

แผลอักเสบ เป็นอย่างไร และส่งผลต่อสภาพผิวหนังอย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 01/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา