backup og meta

ขนคุดอักเสบ เกิดจากอะไร มีวิธีรักษาและดูแลตัวเองอย่างไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 03/11/2022

    ขนคุดอักเสบ เกิดจากอะไร มีวิธีรักษาและดูแลตัวเองอย่างไรบ้าง

    ขนคุดอักเสบ คือภาวะที่เกิดการติดเชื้อบริเวณที่มีอุดตันของรูขุมขน ทำให้ตุ่มหรือผิวหนังบริเวณขนคุดเป็นหนอง อักเสบ บวมแดง และทำให้รู้สึกเจ็บปวด อย่างไรก็ตาม ขนคุดอักเสบไม่ใช่โรคผิวหนังที่รุนแรง ไม่สามารถรักษาให้หายสนิทได้ แต่ทำให้อาการดีขึ้นได้ด้วยวิธีต่าง ๆ  เช่น การทาครีมการใช้ยาปฏิชีวนะ และการใช้มอยเจอไรเซอร์

    ขนคุดคืออะไร

    ขนคุดเป็นภาวะการอุดตันของรูขุมขนบนผิวหนัง ไม่เป็นอันตรายและไม่ใช่โรคติดต่อ เกิดจากการที่โปรตีนเคราติน (Keratin) ซึ่งเป็นส่วนประกอบนึงของผิวหนัง มีหน้าที่ปกป้องผิวหนังจากการติดเชื้อและสิ่งแปลกปลอม มีการเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วผิดปกติ และปิดกั้นรูขุมขนทำให้เป็นตุ่มบวมบนผิวหนัง และขนไม่สามารถงอกออกมาจากรูขุมขนได้

    ทั้งนี้ สาเหตุที่เคราตินเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วผิดปกตินั้นยังไม่แน่ชัด แต่ทางการแพทย์สันนิษฐานว่าเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม เนื่องจากผู้ที่มีขนคุดมักมีบุคคลในครอบครัวมีขนคุดเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังพบได้ในคนอ้วนที่มีน้ำหนักเยอะ

    ขนคุดอักเสบ เกิดขึ้นได้อย่างไร

    ขนคุดอักเสบ อาจเกิดได้จากปัจจัยต่าง ๆ เช่น อากาศที่หนาวหรือแห้งมากจนเกินไป การอาบน้ำอุณหภูมิร้อนจัดหรือเย็นจัด การสวมใส่เสื้อผ้าที่หนาเกินไปหรือทำจากวัสดุที่ระบายอากาศได้ไม่ดีนัก โดยอาการที่สังเกตได้เมื่อเป็นขนคุดอักเสบ คือตุ่มขนคุดขนาดเล็กซึ่งอยู่ตามบริเวณต้นแขน ต้นขา แก้ม บั้นท้าย บวมแดง ซึ่งอาจทำให้คัน ระคายเคืองมากกว่าปกติ เมื่อสัมผัสจะรู้สึกสากมือ ในบางรายขนคุดอักเสบมากเพราะติดเชื้ออาจทำให้มีอาการกลัดหนองและรู้สึกเจ็บปวด

    โดยเฉพาะ การเกาหรือสวมใส่เสื้อผ้าที่แน่นเกินไป อาจนำไปสู่การติดเชื้อจากแบคทีเรียสแตฟฟิโลคอกคัส (Staphylococcus) บริเวณผิวหนังที่เป็นขนคุดได้และอาจนำไปสู่อาการขนคุดอักเสบได้

    การรักษา ขนคุดอักเสบ

    ขนคุดอักเสบรักษาได้หลายวิธี ประกอบด้วย

    • ทาครีม ที่มีส่วนผสมของกรดต่าง ๆ อาทิ กรดผลไม้ (Hydroxy Acid) กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) กรดแล็กทิก (Lactic acid) เพื่อกร่อนเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วออกจากตุ่มขนคุด และช่วยลดขนาดของตุ่มขนคุดลงในเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การรักษาวิธีนี้อาจทำให้ผิวหนังแดงหรือระคายเคือง และควรได้รับคำแนะนำจากคุณหมอ ไม่ควรหาซื้อยามาใช้เอง
    • ทาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของมอยเจอร์ไรเซอร์ เช่น ครีม เจล โลชั่น รอบ ๆ บริเวณผิวหนังที่เป็นขนคุด เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง และบรรเทาอาการบวมของตุ่มขนคุด
    • ใช้แสงเลเซอร์ บริเวณที่มีขนคุด พอจะทำให้อาการดีขึ้นบ้างในผู้ป่วยบางรายที่ใช้วิธีการรักษาแบบอื่นไม่ได้ผล  
    • รับประทานยาต้านเชื้อแบคทีเรีย เช่น เซฟาเลกซิน (cephalexin) เป็นเวลาประมาณ 10 วัน หากคุณหมอพบว่าผู้ป่วยขนคุดอักเสบเกิดการติดเชื้อบริเวณผิวหนังเนื่องจากแบคทีเรียสแตฟฟิโลคอกคัส

    การดูแลตัวเองเมื่อเป็นขนคุดอักเสบ

    เมื่อพบว่าตัวเองเป็นขนคุดอักเสบ ควรดูแลตัวเอง ตามคำแนะนำต่อไปนี้

    • อาบน้ำอุ่น เนื่องจากการอาบน้ำร้อนอาจทำให้ขนคุดอักเสบมากยิ่งขึ้น และส่งผลให้ผิวหนังเสียความชุ่มชื้นได้ ควรอาบน้ำที่อุณหภูมิปกติ
    • งดการเกา แม้ว่าจะรู้สึกคันบริเวณขนคุด หรือบริเวณผิวหนังที่เป็นตุ่มบวม เนื่องจากการเกาจะเพิ่มความเสี่ยงในการอักเสบและติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณดังกล่าวและลุกลามเป็นโรคผิวหนังที่รุนแรงได้
    • ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวชนิดอ่อนโยน และหลีกเลี่ยงใช้สบู่ฤทธิ์แรง ซึ่งอาจทำให้ผิวหนังแห้งหรือระคายเคือง
    • หลีกเลี่ยงการขัดผิวด้วยวัสดุต่าง ๆ ขณะอาบน้ำ เพราะอาจทำให้ ขนคุดอักเสบเกิดการระคายเคืองและอาการอาจแย่ลงกว่าเดิม ทำให้ผิวหนังเป็นแผลได้ โดยเฉพาะกรณีที่ขนคุดอักเสบกลัดหนอง

    เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ

    โดยปกติ หากมีขนคุดตามผิวหนัง อาจไม่จำเป็นต้องไปพบคุณหมอ เนื่องจากขนคุดไม่เป็นอันตราย  แต่หากผิวหนังมีอาการบวมแดง คัน เป็นหนองบริเวณรูขุมขนหรือบริเวณที่เป็นขนคุด ซึ่งอาจมีอาการคล้ายคลึงกับโรคผิวหนังบางชนิด เช่น โรคผิวหนังติดเชื้อ หรือโรคผิวหนังอักเสบ โรคสะเก็ดเงินชนิดตุ่มหนอง (pustular psoriasis) หรือไม่แน่ใจว่าตุ่มบวมแดงบนผิวหนังเป็นอาการของขนคุดอักเสบหรือโรคผิวหนัง ควรไปพบคุณหมอเพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาด้วยวิธีการที่เหมาะสมต่อไป

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

    โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 03/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา